xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ติวเข้มคนค้าผลไม้ไทยรับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - สำนักงานพาณิชย์ 17 จังหวัดภาคเหนือ เปิดคอร์สติวเข้มผู้ค้าผลไม้ไทย เตรียมความพร้อมรับตลาดประชาคมอาเซียน เตือนผู้ประกอบการเร่งปรับตัวก่อน 10 ชาติสมาชิกกลายเป็นฐานตลาดเดียว

วันนี้ (14 ก.ย.) ที่โรงแรมริมกกรีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย นางพิรมล เจริญเผ่า รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการเปิดสัมมนาเรื่อง “ผลไม้ไทยภายใต้เขตการค้าเสรีมุ่งสู่ AEC” ที่สำนักงานพาณิชย์ 17 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ฯลฯ ในภาคเหนือเข้าร่วมประมาณ 200 คน

ในการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตลาดและการปรับตัวสู่เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community :AEC) ในปี 2558 โดยนางจินตนา ชัยยวรรณาการ รองอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ บรรยายเรื่องผลไม้ไทยภายใต้ AEC รวมทั้งมีการเสวนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ไทย โดยมีนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ดำเนินการ

พร้อมกับนำผู้ประกอบการทั้งหมดไปศึกษาดูงานที่ด่านศุลกากร อ.เชียงของ และด่านศุลกากร อ.เชียงแสน ซึ่งมีการค้าระหว่างไทย สปป.ลาว จีนตอนใต้ และพม่า ผ่านทางท่าเรือในแม่น้ำโขง

นางพิรมล กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยมีภาคการส่งออกมากถึง 70% ดังนั้น AEC จึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกลายเป็นตลาดเดียว ประเทศสมาชิกมีอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนต่างๆ น้อยลง ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากเพราะมีผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถในการผลิต ขนส่ง ฯลฯ และมีประสบการณ์ด้านการค้าอยู่แล้ว แต่ก็มีจุดอ่อนบางเรื่องที่ต้องพัฒนา เช่น การแสวงหาตลาด ฯลฯ

ดังนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์ จึงได้เร่งให้ความรู้และจัดเวทีต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการและภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลเพื่อการปรับตัวก่อนปี 2558 เพราะเมื่อถึงเวลาเปิด AEC อย่างเป็นทางการจะมีกลุ่มทุนต่างๆ อาศัยเวที AEC ทั้ง 10 ประเทศในการเป็นฐานการผลิตและแปรรูปเพื่อส่งออกสินค้า หากว่าเอกชนไทยไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดเดียวของอาเซียนได้อย่างเต็มที่

นายพิรพล กล่าวอีกว่า สำหรับภาคเหนือถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญเพราะมีภูมิศาสตร์ในการค้ากับประเทศต่างๆ ทั้งในกลุ่ม AEC และจีนตอนใต้ รวมทั้งมีประสบการณ์ในการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน เป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่สำคัญ เช่น ลำไย สับปะรด ฯลฯ ซึ่งสามารถส่งออกทั้งในภูมิภาคนี้และต่างประเทศไกลๆ ดังนั้น เวทีสัมมนาจึงจะช่วยเหลือได้มากโดยเฉพาะเรื่องการให้ข้อมูลต่างๆ และอยากให้ภาคเอกชนมีการพัฒนาการด้านต่างๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องภาษาที่ต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในกลุ่ม AEC ด้วยกันเอง

นายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันได้เกิดข้อตกลงซึ่งเกิดจากระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลทำให้เกิดเวทีการค้าที่หลากหลาย เช่น AEC หรือ FTA ฯลฯ ซึ่งอำนวยความสะดวกต่อการค้าการลงทุนมากขึ้น แต่ยังคงมีอุปสรรคเรื่องซอร์ฟแวร์หรือสิ่งปลีกย่อยที่จะต้องร่วมกันในภูมิภาคในฐานะที่เป็นตลาดการค้าเดียวกัน เช่น ไทย-จีน ไทย-สปป.ลาว เพื่อลดอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าบนถนน R3A ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ เป็นต้น ไม่อยากให้มองแยกตลาดหรือแข่งขันกันเองหรือแม้แต่เอกชนจีนที่มักถูกมองว่ารุกเข้ามาในตลาดไทย เพราะเชื่อว่าจีนเองก็ต้องการเป็นคู่ค้าหรือพาร์ทเนอร์กับไทยเพราะต้องแข่งขันกับกลุ่มประเทศในตลาดโลกอื่นๆ นั่นเอง

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการ คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่าในปัจจุบันผลไม้ส่วนใหญ่มีอัตราภาษีในกลุ่มอาเซียนเป็น 0% อยู่แล้ว แต่ต่อไปในกลุ่มอาเซียนจะกลายเป็น AEC ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้กลายเป็นฐานตลาดเดียวกันหมด ตลาดที่เคยค้าขายกันจึงเป็นกลุ่มเศรษฐกิจอื่นดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของเอกชนไทยในการจะอาศัยฐานตลาดใน AEC ในการกระจายผลผลิต เช่น ใช้แรงงานในประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกกว่า ฐานการผลิตต้นทุนถูกกว่า ฯลฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกผลไม้สดอันที่ 8 ของโลก โดยในปี 2553 ที่ผ่านมามีการปลูกทั่วประเทศกว่า 5.3 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 2.70% มีผลผลิตมากกว่า 6.3 ล้านตัน เช่น ทุเรียนมีปริมาณ 568,067 ตัน มีการส่งออกไปต่างประเทศ 36.53% และบริโภคภายในประเทศ 56.50% ลำไยภาคเหนือมีปริมาณ 525,230 ตัน ส่งออก 41.20% และบริโภคภายในประเทศ 6.04% เป็นต้น

โดยตลาดส่งออกผลไม้สดและแช่แข็งรายรายใหญ่ยังคงเป็นประเทศจีน 38% อาเซียน 25% ฯลฯ ส่วนผลไม้กระป๋องและแปรรูปยังคงส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกากว่า 35% และอื่นๆ รวม 46% เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น