xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนแจงตลาด AEC ย้ำ พม่า-เขมร โล่ง-ด้านจีนกลับรุกคุมค้าไทยเบ็ดเสร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ตัวแทนรัฐ-เอกชน ขึ้นเวทีปลุกลงทุน AEC ก่อนตกขบวนถ้วนหน้า ชี้ ตลาดพม่า-กัมพูชา โอกาสรุ่งสูง สินค้าไทยครองใจคนใช้ต่อเนื่อง ไร้คู่แข่ง ขณะที่นักธุรกิจไทยในจีน ย้ำตลาดจีน “กินยาก” ย้ำ วันนี้สินค้าไทยเหลือแค่ “กลุ่มอาหาร” ที่ทำตลาดได้ ที่เหลือคนจีนครองหมด แถมสร้างเครือข่าย-จ่ายส่วย คุมกระบวนการนำเข้า-ส่งออกเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่หน้าสวน-หน้าโรงงาน พร้อมก๊อบปี้สนั่น

วันนี้ (7 ก.ย.) ที่ห้องดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย สำนักงานพาณิชย์ 17 จังหวัดภาคเหนือ นำโดยสำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย ได้จัดการอภิปรายเรื่อง “กฎ ระเบียบการค้ากับการเตรียมพร้อมสู่ AEC และ จีน” และ “ลู่ทางการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องในงานสัมมนา “เปิดระเบียงเศรษฐกิจ NSEC สู่ AEC จีน” และเจรจาจับคู่ธุรกิจ

โดยมีการจัดให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากกระทรวงพาณิชย์และนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ปราศรัยบนเวทีให้นักธุรกิจที่สนใจลงทุนในกลุ่ม AEC (ASEAN Economic Community:AEC)

นายพูลศักดิ์ คุณอุดม ผช.ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า แม้จะมีข่าวเกี่ยวกับการเมืองระหว่างไทย-กัมพูชา แต่สินค้าไทยในกัมพูชาก็เป็นสินค้ายอดนิยม แต่หากมีการกีดกันหรือห้ามสินค้าไทยจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะมีผลกระทบต่อไทยทันที เพราะตลาดสามารถเลือกสินค้าคู่แข่งรายสำคัญ คือ จากเวียดนามและจีนได้

แต่ขณะนี้พบว่า นักธุรกิจไทยให้ความสนใจทำตลาด AEC ในกัมพูชาน้อยเกินไป ทั้งที่ตลาดกัมพูชายังเปิดกว้าง เช่น สินค้าผ้า สิ่งทอ เพราะในกัมพูชา ยังไม่มีโรงงานทอผ้า เป็นต้น

นางอรนุธ ปการัตน์ นักธุรกิจไทยที่ลงทุนในกัมพูชามานานกว่า 20 ปี กล่าวว่า ตนประกอบธุรกิจด้านขนส่ง-โลจิสติกส์ ปัจจุบันตั้งสำนักงานถึง 8 แห่ง พบว่า ตลาดกัมพูชายังคงน่าลงทุน โดยมีข้อดีกว่าเวียดนาม เรื่องการผันผวนของค่าเงินที่น้อยกว่า ดอกเบี้ยก็ไม่ผันผวน และสามารถใช้เงินไทยได้ รวมทั้งเป็นประเทศที่มีสิทธิพิเศษในฐานะประเทศยากจนในการส่งสินค้าไปหลายประเทศทั่วโลก ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาศัยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกได้

สิ่งที่ต้องปฏิบัติ คือ การปรับตัว และในอนาคตจะมีการแข่งขันกันสูงระหว่างกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา โดยเฉพาะมีหลายธุรกิจที่รัฐบาลเปิดให้ต่างชาติลงทุนได้ 100%

นายประจวบ สุภินี ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า กล่าวว่า การลงทุนในพม่าแทบไม่พบอุปสรรคใดๆ ยกเว้นข้อจำกัดเพียงอย่างเดียว คือ การหาคู่ทางธุรกิจในพม่าให้ได้เท่านั้น เพราะตลาดถือว่าดีมาก มีประชากรร่วม 60 ล้านคน นับถือศาสนาพุทธ 90% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น สินค้าชนิดใดที่ขายในไทยได้ ก็ขายในพม่าได้หมด การคมนาคมก็สะดวกขึ้น คนพม่ายังนิยมสินค้าไทยอย่างมากด้วย

ด้านนายมงคล จิตติอร่ามกูล นักธุรกิจไทยในพม่า กล่าวว่า ตนลงทุนด้านการขนส่ง-โลจิสติกส์ นำสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในพม่า และสร้างฐานผลิตในพม่าเพื่อส่งออกไปจีนและกำลังขยายไปอินเดีย พบว่า สินค้าไทยได้รับความนิยมมาก และผลจากการปิดด่านแม่สอด-เมียวดี ร่วม 1 ปี ได้ทำให้สินค้าในย่างกุ้งขนาดแคลนอย่างหนัก แม้จะส่งจาก อ.แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-ย่างกุ้ง ก็ต้องใช้เวลามากกว่า 2-3 เดือน จากเดิมถ้าส่งจากเมียวดีใช้เวลาแค่ 1 วันเท่านั้น

ดังนั้น ปัจจุบันตลาดยังเปิดกว้างอยู่มาก จึงอยากเชิญชวนนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุน เพราะตลาดในพม่าปลอดภัยมาก แทบไม่มีการปล้นจี้หรืออาชญากรรมรุนแรง การแข่งขันมีน้อยกว่าในไทย ทั้งนิยมการค้าด้วยเงินสดทั้งหมด ไม่มีการผ่อนส่ง

นอกจากนี้ รัฐบาลพม่า ยังเปิดให้เช่าที่ดิน ซึ่งสามารถใช้เป็นฐานของสินค้าทางการเกษตรเพื่อแปรรูป หรือส่งไปประเทศอื่นได้อีกด้วย

ขณะที่ นายประกอบ พรประสิทธิ์กุล นักธุรกิจไทยในจีน กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าไทยที่ส่งออกไปจีนจะอยู่รอดได้มีเพียงสินค้าโหมดอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่เหลือต้องประสบกับความล้มเหลวแน่นอน ส่วนสินค้าอื่นๆ ของไทยถูกลอกเลียนแบบ หรือก๊อบปี้ได้ง่าย เพราะความไม่รู้เท่าทันของหน่วยงานไทยที่พานักลงทุนจีนบางกลุ่มไปดูงาน เช่น บ้านถวาย จ.เชียงใหม่ มีคณะนักลงทุนจีนนำพระพุทธรูปแกะสลักไม้ไปหล่อเรซินจำหน่ายไปทั่วโลก หรือแม้แต่นวดสปาในจีน ก็กลายเป็นธุรกิจแอบแฝงไปหมด ขณะที่สินค้าไทยที่จะส่งไปยังจีนถูกมาตรการทำให้ส่งเข้าไปได้ยากต่างๆ นานา

นายประกอบ กล่าวอีกว่า และนอกจากไทยเราจะทำตลาดได้เฉพาะกลุ่มอาหารเท่านั้นแล้ว กระบวนการส่งออกทั้งหมดตกอยู่ในมือนักธุรกิจจีนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าผลไม้ เช่น ลำไย ผลไม้จากภาคตะวันออก ฯลฯ จีนเข้าไปครองตลาดจนหมด สังเกตได้จากตลาดสี่มุมเมือง สำเพ็ง ตลาดต่างจังหวัด ล้วนมีนักธุรกิจจีนเข้าไปครอบครองการส่งออก เช่น อุดรธานี-หนองคาย พบมีกว่าแสนคน ขณะที่สำเพ็งมีหลายหมื่นคนแล้ว

นักธุรกิจจีนจะเข้ามาในรูปแบบเดียวกันหมด คือ ถือวีซ่านักท่องเที่ยว และเข้ามาหาภรรยาน้อย หรือบุตรบุญธรรมในไทย แล้วทำการค้าในนามญาติใหม่ดังกล่าวด้วยการเข้ายึดครองการกระจายตลาด และส่งออกสินค้าไทยกลับไปขายยังประเทศจีน

นายประกอบ กล่าวด้วยว่า มีกระแสว่ามีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ไทยหลายหน่วย หัวละ 1,500-2,000 บาททุกเดือน เพื่อให้สามารถประกอบกิจการได้ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลเมื่อคำนวณจากคนจีนที่แฝงเข้ามาหลายหมื่นคน จึงขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย เพราะถือเป็นการทำลายเศรษฐกิจไทย

สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในจีนก็ขอให้ศึกษากฎระเบียบและตลาดให้ดี ซึ่งปัจจุบันทาง ธ.ก.ส.ไปตั้งสำนักงานอยู่ที่ตลาดอี้อู มณฑลเจ้อเจียง ศูนย์กลางสินค้าส่งที่ไปจากประเทศไทย ผู้ประกอบการสามารถติดต่อสอบถามได้นอกเหนือไปจากหน่วยงานอื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น