xs
xsm
sm
md
lg

ยื่น “DSI” เชือดคดีรุกป่าวังน้ำเขียว - แฉถูกอิทธิพล นักการเมืองบีบหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(กลาง) นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นม.) ลุยตรวจรีสอร์ตบ้านพักรุกป่า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ป่าไม้โคราช เสนอโอนคดีรุกป่าวังน้ำเขียวให้ “DSI” เชือด แฉ เหตุถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองกดดันหนัก พนักงานสอบสวนทำงานไม่ได้ส่งผลคดีสุดอืด ไม่ขยับ ทั้งที่ผู้ว่าฯ นั่งเป็น หน.พนักงานสอบสวนเอง ย้ำขีดเส้นตาย 10 ก.ย.หากเจ้าของรีสอร์ต 22 แห่งยังไม่โผล่ งัด ม.25 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ ฟันรื้อถอนแน่ ด้านอุทยานฯทับลาน เดินหน้าสั่งรื้อต่ออีก 60 ราย บุกรุก 2 พันไร่ ล่าสุด จับแก๊งตัดไม้พร้อมของกลางอื้อ ระบุพบกลุ่มมือปืนป่วนเปี้ยนใกล้อุทยานฯอีก ต้องเพิ่มจนท.ลาดตระเวนคุมเข้มที่ทำการ ด้าน ตร.ปราจีนบุรี ส่ง “นปพ.” เข้าร่วมคุ้มกัน

วันนี้ (29 ส.ค.) นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญากับผู้บุกรุกสร้างรีสอร์ตบ้านพักจำนวน 22 แห่ง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง บริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า จากการประสานข้อมูลกับพนักงานสอบสวน ล่าสุดจนถึงวันนี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการบ้านพักรีสอร์ตรายใดเข้ามาแสดงตัวหรือนำหลักฐาน เอกสารสิทธิการครอบครองที่ดินมาชี้แจงต่อพนักงานสอบสวนเลย

อีกทั้งเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ทางพนักงานสอบสวนได้นัดหมายกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในฐานะผู้กล่าวหาร้องทุกข์ให้นำไปชี้จุดรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่ง แต่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนเข้าไปชี้จุดได้เพียงแค่แห่งเดียว ก็สั่งให้ยกเลิกภารกิจกะทันหัน โดยไม่บอกเหตุผลแต่อย่างใด ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้เราเองที่นำไปชี้จุดก็ยังงงกันอยู่และไม่เข้าใจถึงสาเหตุ เนื่องจากพนักงานสอบสวนเป็นผู้นัดหมายมาเองแต่ไปชี้จุดเพียงแค่จุดเดียวก็หยุดดำเนินการไป

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่า การดำเนินคดีอาญาล่าช้ามาก เพราะเรื่องทุกอย่างตอนนี้อยู่ที่พนักงานสอบสวนทั้งหมดที่จะดำเนินการไปตามกระบวนการ ในส่วนของฝ่ายป่าไม้ทำได้ดีที่สุด คือให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อประกอบสำนวนคดี แต่จนถึงขณะนี้คดีก็ไม่ขยับไปไหนเลย เท่าที่พูดคุยกันทางพนักงานสอบสวนเองบอกว่า ถูกกดดันจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มนักการเมือง ทำให้การทำคดีค่อนข้างลำบากและอึดอัดใจมาก

“ฉะนั้น ทางป่าไม้จะเสนอขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเป็นคดีพิเศษ เพราะแม้ว่าคดีนี้จะไม่สลับซับซ้อน แต่เนื่องจากมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง เข้ามากดดันทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ได้ ส่งผลให้คดีล่าช้าและดำเนินการต่อไปไม่ได้” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของป่าไม้ยังเดินหน้าดำเนินการตามอำนาจ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินคดีอาญา ซึ่งหากครบกำหนด 15 วัน หลังการติดป้ายแจ้งให้เจ้าของรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่ง ทราบว่า มีการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดี และห้ามบุกรุกเพิ่มเติมไปแล้วเมื่อวันที่ 25-26 ส.ค.ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 10 ก.ย.นี้ หากยังไม่มีใครออกมาแสดงตัวอีกก็จะเข้าสู่กระบวนการของ มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 คือ สั่งให้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปภายใน 30 วัน และให้โอกาสยื่นอุทธรณ์อีก 15 วัน รวม 45 วัน หากพ้นกำหนดดังกล่าวไปเจ้าหน้าที่จะเข้าทำการรื้อถอนทันที โดยทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 จะเสนอขออนุมัติการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หากไม่ได้รับอนุมัติ ก็จะเสนอขออนุมัติกับอธิบดีกรมป่าไม้ ต่อไป

“ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ศาลจังหวัดนครราชสีมา ได้นัดหารือกับพนักงานสอบสวนคดี 22 รีสอร์ตบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าภูหลวง อ.วังน้ำเขียว และทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อชี้แจงหลักการในการขอหมายตรวจค้น การขอหมายจับ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีต่างๆ ให้รับทราบที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา และในวันที่ 1 ก.ย.ผมจะเดินทางไปประชุมที่กรมป่าไม้ ซึ่งจะได้เสนอให้มีการโอนคดีบุกรุกป่าสงวนฯ อ.วังน้ำเขียว ดังกล่าวไปให้ DSI ดำเนินการ เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำงานไม่ได้เลย” นายสุเทพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดี 22 รีสอร์ตบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง บริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว ดังกล่าว นายไพโรจน์ ชุ่มเพ็งพันธุ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นม.4 (เขาภูหลวง) ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว ตามคดีอาญาที่ 734/2554-755/2554 ปจว.ข้อ 9 ลงวันที่ 10 ส.ค.2554 ต่อมาได้มีคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ 3055/2554 ลงวันที่ 18 ส.ค.2554 โดยนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าฯนครราชสีมา ได้เข้าควบคุมการสอบสวนคดีดังกล่าวในฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง พร้อมแต่งตั้งพนักงานสอบสวนทั้งจากฝ่ายปกครองและฝ่ายตำรวจ ทำการสอบสวนดำเนินคดีร่วมกันรวม 17 คน ซึ่งเพิ่งเรียกประชุมพนักงานสอบสวนครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้คดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

มือปืนยังป่วน “ทับลาน” ส่ง “นปพ.” คุ้มกันเข้ม

ด้าน นายนุวรรต ลีลาพตะ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น และยังคงเดินหน้าดำเนินการปราบปรามกับกลุ่มผู้บุกรุกป่าอุทยานฯ อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ทำการจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้ ได้ผู้ต้องหา 2 ราย พร้อมเลื่อยโซ่ยนต์ และไม้หว้าป่าที่ถูกตัดจำนวน 10 ท่อน ส่วนอีกรายจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 ราย พร้อมรถยนต์หกล้อบรรทุกไม้แปรรูปที่ประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์หรูมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท เหตุเกิดใน ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

ส่วนการติดตามการเคลื่อนไหวกลุ่มมือปืนรับจ้างที่เข้ามาในพื้นที่อุทยานฯนั้น นายนุวรรต กล่าวว่า ขณะนี้ทางอุทยานฯ ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าเวรประจำอีกกะละ 1 นาย รวม 7 นาย โดยให้ลาดตระเวนรอบที่ทำการอุทยานฯ ถี่ขึ้น และตรวจตราคนเข้าออกอย่างเข้มข้น โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) จากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี เข้ามาร่วมคุ้มครองรักษาความปลอดภัย ซึ่งประจำอยู่บริเวณด่านตรวจของอุทยานฯ และตำรวจ นปพ.จะออกปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในการออกตรวจตราจับกุมผู้บุกรุกป่าอุทยานฯ ด้วย

“เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีบุคคลแปลกหน้าเข้ามาป้วนเปี้ยนในพื้นที่ ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรีโดยมาถามหาเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จากชาวบ้าน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปประมาณ 10 กม.และเป็นเขตพื้นที่ที่มีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้รุกป่ามากที่สุด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทุกคนโดยเฉพาะ นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน และตนพยายามระมัดระวังตัวอย่างเต็มที่ จะเดินทางไปไหนก็ต้องเพิ่มความระวังมากยิ่งขึ้น” นายนุวรรต กล่าว

ลุยสั่งรื้ออีก 60 ราย รุกทับลาน 2 พันไร่

ทางด้าน นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้ดำเนิน ติดป้ายประกาศอุทยานฯ สั่งให้รีสอร์ตบ้านพักรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่บุกรุกออกจากเขตอุทยานฯทับลาน ตามอำนาจมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ไปแล้วทั้งสิ้น 50 แห่ง เหลืออีกเพียง 3- 4 แห่ง ในเขต อ.วังน้ำเขียว, อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งคาดว่า จะเสร็จสิ้นได้ภายใน 2-3 วันนี้ สำหรับขั้นตอนต่อไปตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ คือ ให้ระยะเวลาเจ้าของสิ่งปลูกสร้างรื้อถอน และย้ายออกจากพื้นที่เองภายใน 45 วัน แต่หากไม่มีการดำเนินการทางอุทยานฯ จะดำเนินการเข้ารื้อถอนเองทั้งหมด โดยเจ้าของสิ่งปลูกสร้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน โดยกำหนดดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค.นี้

ขณะนี้ยังเตรียมดำเนินการในส่วนของการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานใช้ทำประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง อีกประมาณ 60 แห่ง รวมประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งพบว่ายังมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ จากนี้ไปจะส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจว่ายังมีการใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงใดเพื่อความแน่ชัด จากนั้นจะนำข้อมูลมาประมวลผล และตรวจสอบข้อเท็จจริงหากยังมีการใช้ประโยชน์ในลักษณะบุกรุกอยู่ต้องให้รื้อถอนออกเช่นเดียวกัน

“จากการประเมินเบื้องต้นมีการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อใช้ทำประโยชน์อยู่อีกประมาณ 60 แห่ง พื้นที่ประมาณ 2 พันไร่ ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา ยูคาลิปตัส จะสั่งให้รื้อถอนพืชภายใน 45 วัน ตามที่ พ.ร.บ.อุทยานฯ กำหนดไว้ แต่หากเป็นพืชล้มลุกก็จะให้เก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นก่อน” นายเทวินทร์ กล่าว
หนึ่งในรีสอร์ตบ้านพักตากอากาศจำนวนมากที่สร้างบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง บ.เขาแผงม้า ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 29 ส.ค.)
จนท.ป่าไม้ จำเป็นต้องมีอาวุธปืนไว้คุ้มกันเพื่อความปลอดภัยในการลงตรวจสอบพื้นที่ป่าถูกบุกรุก

กำลังโหลดความคิดเห็น