xs
xsm
sm
md
lg

ส่อวุ่น “พระปฐมเจดีย์” ขึ้นมรดกโลก ชาวบ้านยกมือค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระธรรมปริยัติเวที เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
นครปฐม -กรมศิลปากร เปิดเวทีถกความเห็นชาวบ้าน ก่อนนำ “พระปฐมเจดีย์” ขึ้นทะเบียนมรดกโลก สุดอึ้งประชาชนโดยรอบองค์พระ ราว 200 ชีวิต ยกมือค้าน หลังรับฟังกรมศิลปากรแจงเหตุผล แต่ยังไม่ชัวร์ขอประชาพิจารณ์ประชาชนทั้งจังหวัดอีกครั้ง ขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนออกอาการงง ไม่ทราบเรื่องการประชุม ไร้ผู้ใหญ่ในจังหวัดร่วมประชุม

วันนี้ (20 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่อาคารกองอำนวยการ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครปฐม กรมศิลปากรได้ร่วมกับเทศบาลนครนครปฐม ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการนำเสนอ “พระปฐมเจดีย์” เป็นมรดกโลก โดยมี พระธรรมปริยัติเวที เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี หัวหน้ากลุ่มงานโบราณคดี สำนัก 2 สุพรรณบุรี น.ส.ภัทรวรรณ พงศ์ศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ น.ส.ศรินยา ปาทา หัวหน้าพิพิธภัณฑ์นครปฐม ร่วมบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งมีประชาชนกว่า 200 คน ซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชนและอาศัยอยู่ ทั้งประกอบอาชีพค้าขายในบริเวณโดยรอบองค์พระปฐมเจดีย์เข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็น ทั้งยังได้มีการแจกแบบสอบถามถึงความเข้าใจของประชาชนที่เข้าร่วมฟัง การจัดการแสดงความคิดเห็นทั้ง 8 ข้อ เพื่อประเมินถึงความเข้าใจของพี่น้องประชาชน

โดยพระธรรมปริยัติเวที เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาวัดพระปฐมเจดีย์ ได้กล่าวเปิดงาน พร้อมได้ร่วมเสวนาให้ความรู้ถึงประวัติความเป็นมาที่มหาเจดีย์นั้นมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาและถือเป็นปฐมภูมิ ที่ก่อกำเนิดพระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ไทย ต่างให้ความสำคัญ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเสด็จฯมาหลายครั้ง รวมถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเสด็จฯสถานที่แห่งหลายครั้งเช่นกัน โดยภายในยังมีสิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมที่งดงามมีค่ามาก และหากองค์พระปฐมเจดีย์ได้รับการยกระดับให้เป็นมรดกโลก ก็จะเป็นระดับเวิลด์คลาส ทำให้เกิดชื่อเสียงอีกมาก และมีเงินทองไหลเข้ามาในพื้นที่อีกมาก

จากนั้น นายธราพงศ์ ได้ขึ้นกล่าวถึงแนวทางในการขอขึ้นทะเบียนให้โบราณสถานเป็นมรดกโลก ว่า ในการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ถือเป็นการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นครั้งแรกที่กรมศิลปากร ได้จัดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเป็นการจัดของหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ดำเนินการกันมา ซึ่งในการจัดสอบถามความเห็นการผลักดันพระปฐมเจดีย์สู่มรดกโลกนั้น ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2549-2551 จากนั้นเรื่องก็ได้เงียบหายไป ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2547 ให้มีการศึกษาและจัดทำเอกสารประกอบการนำเสนอ “พระปฐมเจดีย์” เป็นมรดกโลก ต่อมาคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม จึงได้มีมติการประชุมครั้งที่ 1/2554 มอบหมายให้กรมศิลปากรร่วมกับหน่วยงานภาคท้องถิ่น จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการนำเสนอ “พระปฐมเจดีย์” เป็นมรดกโลก ซึ่งกรมศิลปากร จึงได้มีการร่วมกับเทศบาลนครนครปฐม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งแนวทางในการจัดการในอนาคต ต่อการนำเสนอ พระปฐมเจดีย์ เป็นมรดกโลก ในครั้งนี้ โดยได้นำวิทยากรในภาคส่วนต่างๆ ร่วมทำความเข้าใจ

หลังการบรรยายของทางกรมศิลปากร ได้จัดให้มีการเปิดให้ประชาชนกว่า 200 คน ร่วมกันแสดงออกถึงความต้องการผลักดันให้องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นมรดกโลก ซึ่งก่อนหน้า นายสุเทพ แสงเพลิง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครปฐม และนายพัฒนะ พงษ์ขวัญ รองประธานสภาเทศบาลนครนครปฐม ได้กล่าวถึงแนวทางในการผลักดันโครงการดังกล่าว ซึ่งผลในการสอบถามความคิดเห็นพบประชาชนส่วนใหญ่ยกมือไม่ให้มีการผลักดันให้องค์พระปฐมเจดีย์เป็นมรดกโลก สร้างความงุนงงให้กับคณะของผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี ที่ได้มาให้ความรู้และสอบถามความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากในช่วงการบรรยายไม่ได้มีการยกมือสอบถามหรือประท้วงกันแต่อย่างใดในช่วงการบรรยาย

จากนั้น ผู้อำนายการสำนักโบราณคดี ได้กล่าวหลังจากการให้ประชาชนยกมือ ว่า การลงมติในที่ประชุมของประชาชนในวันนี้พบว่าเป็นการลงมติของคนในกลุ่มแคบ ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ทั้งจังหวัดนครปฐม เนื่องจากพระปฐมเจดีย์ เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญระดับโลกและเป็นการสอบถามข้อมูลเพียงครั้งแรก โดยไม่ได้มีตัวแทนทั้งหมดในจังหวัดนครปฐมมาร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งต่อไปจะนำเรื่องนี้เสนอไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อติดตามและประเมินก่อนจะมีการสอบถามอีกครั้งที่ชัดเจนกว่านี้

โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งใน 11 โครงการ ที่จะมีการดำเนินการผลักดันให้เป็นมรดกโลก ซึ่งในปีนี้มี 5 แห่งที่จะมีการดำเนินการโดยหนึ่งในนั้น คือ การผลักดัน พระปฐมเจดีย์เป็นมรดกโลก และที่ทราบข้อมูลพบว่าประชาชนบางส่วนยังเข้าใจผิดอีกหลายประการ เช่นการเข้าในผิดคิดว่าหากให้พระปฐมเจดีย์ เป็นมรดกโลก จะไม่สามารถเข้ามาจอดรถภายในได้ รวมถึงการค้าการภายในและโดยรอบก็จะไม่สามารถทำได้ ในความเป็นจริงนั้นสามารถทำเช่นเดิมได้ทั้งหมด แต่อาจจะมีการวางระเบียบที่ชัดเจนขึ้น หรือมีกระแสว่าจะมีการจำกัดอาคารโดยรอบออกไปซึ่งไม่เป็นความจริงและไม่สามารถทำได้เพราะอาคารเดิมยังต้องคงอยู่ไม่สามารถไปโดยย้ายออกได้ และตามกฎข้อ 6 ของการเสนอเป็นมรดกโลกนั้นก็ได้บอกว่าให้คงอนุรักษ์วิถีชีวิตและรูปแบบไว้ให้คงอยู่ และจะเกิดประโยชน์มากกว่าผลเสีย

ทั้งนี้ หากองค์พระปฐมเจดีย์ได้รับการยกระดับเป็นมรดกโลก ซึ่งมี 6 แนวทางที่ชัดเจนเพียงพอแล้ว เช่นในจังหวัดสุโขทัย ที่ได้รับการยกเป็นมรดกโลก จากนักท่องเที่ยวเป็นหลักหมื่นก็มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเป็นหลักแสน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากมายและสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดอีกด้วย และก่อนหน้านี้ การทำการสอบถามได้มีการทำที่ พระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็สำเร็จได้ด้วยดี และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประชาชนในจังหวัดกาญจนบุรีก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเพราะประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจและเห็นถึงโอกาสที่จะได้รับและเป็นศักดิ์ศรีของจังหวัดตนเองด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดการประชุมดังกล่าวไม่ได้มีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นได้เข้าร่วมประชุม ทั้งส่วนการศึกษา ผังเมือง หรือ ฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมและนายอำเภอเมืองนครปฐม หรือแม้แต่นายกเทศมนตรี ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการของจังหวัดนั้น จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานโดยตำแหน่ง และหน่วยราชการ ฝ่ายสงฆ์ องค์กรเอกชน และประชาชน

ทั้งนี้ จากข้อสังเกตดังกล่าว พบว่าผู้ที่เข้ามาร่วมประชุมนั้นจะเป็นผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลนครนครปฐม ซึ่งเทศบาลและกรมศิลปากร ได้ถูกนายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดี ได้ฟ้องต่อศาลปกครอง ในกรณีใช้อำนาจสั่งการโดยไม่ชอบ ฐาน ที่กรมศิลปากรอนุญาตให้เทศบาลนครนครปฐม ก่อสร้างอาคารสำนักงานบนโบราณสถานพระราชวังปฐมนคร ที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ครั้งบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์จากที่รกร้างให้มีความสมบูรณ์และสง่างามดั่งปัจจุบัน ซึ่งศาลปกครองได้มีการเตรียมนัดฟังคำสรุปข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่าย ในวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคมที่จะถึงนี้
นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร
ชาวบ้านที่เข้าร่วมรับฟัง

กำลังโหลดความคิดเห็น