ศูนย์ข่าวเชียงใหม่- ภาคเอกชนเชียงใหม่ ห่วงศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ที่จะเสร็จกลางปี 55 โดนปล่อยทิ้งไร้ประโยชน์ หลังพบถึงเวลานี้ยังไม่มีแผนการบริหารจัดการที่ชัดเจน เสนอตั้งบอร์ดบริหารระดับท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับควบคุมการทำงานด้วย เพื่อประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง ขณะที่ สสปน.ชี้ การทำตลาดประชุมสัมมนา-แสดงสินค้าระดับนานาชาติตามปกติ ต้องทำการตลาดล่วงหน้า 2 ปี หวั่นไม่ทันการณ์ แนะน่าเริ่มขยับรุกทำตลาดในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านก่อน
นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้า ชี้แจงทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงาน โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่ 326 ไร่ บริเวณหนองฮ่อ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่าการก่อสร้างกว่า 1,800 ล้านบาท โดยมีผู้บริหารด้านการท่องเที่ยวและบริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากส่วนกลาง พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมจำนวนมาก
ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างทั้งในส่วนของอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อาคารศูนย์ส่งเสริมการพัฒนา SMEs และงานภายนอก ภาพรวมมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 60 โดยกำหนดการก่อสร้างอาคารและสถานที่จะเสร็จภายในวันที่ 16 ธ.ค.2554 และจะตกแต่งภายใน ปรับสภาพแวดล้อม รวมทั้งดำเนินการในส่วนของการบริหารจัดการ และการตลาดให้สามารถพร้อมเริ่มเปิดบริการได้ในต้นเดือน ก.ค.2555
ส่วนรูปแบบการบริหารจัดการและการทำการตลาดของศูนย์ประชุมฯ นายสมบัติ กล่าวว่า เวลานี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการที่มีความเหมาะสม และเกิดประโยชน์ที่สุดของคณะกรรมการโดยที่มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมการทำงานในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด และเชื่อว่าจะทันก่อนที่จะมีการเปิดบริการศูนย์ประชุมฯ อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้จะไม่เร่งรัดจนเกินไปเพราะเกรงว่าจะเกิดผลเสียมากกว่า
สำหรับการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศูนย์ประชุมฯ ด้วยนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยอมรับและพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ศูนย์ประชุมฯแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งด้วยว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมดังกล่าวจะสามารถทำได้อย่างไร จึงจะเหมาะสมและเกิดประโยชน์มากที่สุด
ขณะที่นายวีระยุทธ สุขวัฒฑโก รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการที่ภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันผลักดันมานานเกือบ 20 ปี กว่าที่จะมีดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งภาคเอกชนต้องการที่จะเห็นศูนย์ประชุมฯแห่งนี้มีการใช้งานและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแท้จริงต่อจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือด้วย
สิ่งที่เป็นห่วง ก็คือ การก่อสร้างใกล้ที่จะเสร็จและจะเปิดบริการในช่วงกลางปี 2555 แล้ว แต่เวลานี้กลับยังไม่มีการทำการตลาดล่วงหน้าเลย ทั้งๆ ที่ตามปกติตลาดการจัดประชุมสัมมนาและแสดงสินค้าระดับนานาชาติจะต้องมีการทำกันล่วงหน้านานนับปี จึงอยากเร่งรัดให้มีการดำเนินการในส่วนนี้ให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วจะสูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับไป หากศูนย์ประชุมฯ เปิดบริการแล้วแต่ยังไม่มีการจัดงานหรือยังไม่มีลูกค้าเลย
ด้านนายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การบริหารจัดการศูนย์ประชุมฯแห่งนี้ ที่กำลังจะก่อสร้างเสร็จและกำหนดเปิดให้บริการในปีหน้า สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการดูแลด้วย ซึ่งอาจจะเป็นในลักษณะของคณะกรรมการบริหารระดับท้องถิ่นของศูนย์ประชุมฯแห่งนี้ เพื่อกำกับควบคุมดูแลให้การบริหารจัดการเกิดประโยชน์ต่อจังหวัดเชียงใหม่อย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมาได้นำเสนอแนวคิดนี้มาตลอดและอยากให้มีการรับฟังนำไปพิจารณาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
นอกจากนี้ นางจุฑา ธาราชัย ผู้จัดการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ สสปน.กล่าวว่า ตามปกติแล้วการทำการตลาดการจัดการประชุมสัมมนาหรืองานจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ตามปกติทั่วไปจะมีการทำการตลาดล่วงหน้าประมาณ 2 ปี แต่ในส่วนของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ยังไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารจัดการเลย สสปน.จึงค่อนข้างจะมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก และอยากให้มีการวางแผนเตรียมการไว้ให้ดี
ทั้งนี้ เห็นว่า หากไม่สามารถทำการตลาดนานาชาติได้ทัน เสนอว่า ในเบื้องต้นน่าจะเริ่มต้นด้วยการทำการตลาดการจัดการประชุมสัมมนาของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายภายในประเทศก่อน เช่น การจัดการประชุมของหน่วยงานภาครัฐ หรือการจัดงานแสดงสินค้าระดับภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งน่าจะสามารถทำการตลาดได้ง่ายภายในช่วงเวลาไม่มากนัก ตลอดจนน่าจะทำการตลาดการจัดประชุมสัมมนาและแสดงสินค้าในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือตลาดประเทศเพื่อนบ้านก่อนก็ได้ เพราะการติดต่อสื่อสาร คมนาคมหรือเที่ยวบินตรงจากกลุ่มประเทศกลุ่มนี้มาสู่จังหวัดเชียงใหม่มีอยู่แล้ว ซึ่งการเริ่มต้นทำการตลาดไปก่อนด้วยปัจจัยที่มีอยู่แล้วน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้