ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “บรรหาร-ชุมพล” ตรวจความคืบหน้าศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ รอบ 4 พอใจงานคืบหน้ามากขึ้น เล็งของบเพิ่มอีก 300 กว่าล้าน ดำเนินการในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนอย่าง “รั้ว-อุปกรณ์โสตฯ” ส่วนแผนบริหารจัดการกำลังเร่งศึกษา พร้อมบ่นเอกชนใจร้อนวิจารณ์รัฐไม่วางแผนทำตลาดศูนย์ประชุมฯ ชี้ ต้องรอศึกษารูปแบบที่เหมาะสมก่อน
วันนี้ (4 มี.ค.) นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการตรวจติดตามความคืบหน้า และประชุมคณะกรรมการบริหารและจัดการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ถนนเลียบคลองชลประทาน บ้านหนองฮ่อ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
การติดตามความคืบหน้าและประชุมคณะกรรมการในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 หลังจากในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ย.53 พบว่า การก่อสร้างยังมีความล่าช้าอยู่บ้าง แต่ว่าไม่มากนัก
ภายหลังจากการรับฟังการรายงาน และหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นายชุมพล ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ความคืบหน้าของการก่อสร้างถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยในส่วนของการก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ดำเนินการไปแล้ว 46.89% ล่าช้ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15 วัน
ส่วนการก่อสร้างอาคารศูนย์ส่งเสริมและกระจายสินค้าวิสาหกิจ ดำเนินการแล้ว 48.09% ก้าวหน้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 7 วัน ขณะที่งานในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อสร้างถนน การก่อสร้างระบบระบายน้ำและการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน ระบบการสื่อสาร ระบบไฟฟ้า และระบบประปาของศูนย์ประชุมฯ ก็มีความก้าวหน้าในการดำเนินการ รวมทั้งมีผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน หลังจากที่ในการประชุมครั้งก่อนได้มีการนำเสนอปัญหาและขัดข้องมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาในส่วนของงบประมาณที่จะต้องขออนุมัติเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ในส่วนที่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการเพิ่ม ได้แก่ 1.งานระบบความปลอดภัยและรั้วรอบโครงการ ความยาวประมาณ 1,000 เมตร 2.งานอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์และครุภัณฑ์งานระบบ 3.งานระบบระบายน้ำ ในโครงการ และ 4.งานสาธารณูปโภค (ทางหลวง ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์) ซึ่งงบประมาณที่จะใช้ในส่วนนี้รวมทั้งสิ้น 367 ล้านบาท ซึ่งจะได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติต่อไป โดยคาดว่าจะนำมาจากงบกลางของรัฐบาล
นายชุมพล กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์ประชุมนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษา โดยอยู่ในความรับผิดชอบของนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ทำการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการศูนย์ประชุมฯในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะตัดสินใจต่อไปว่า ทางราชการจะบริหารงานศูนย์ประชุมฯเอง หรือจะให้สิทธิเอกชนเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการ
นายชุมพล กล่าวว่า ศูนย์ประชุมนานาชาตินั้นได้กำหนดแผนการใช้ประโยชน์ไว้แล้ว ว่า มุ่งเน้นการใช้งานสำหรับการจัดการประชุมนานาชาติ และการแสดงสินค้า ซึ่งไม่ว่ารูปแบบการบริหารจัดการศูนย์ประชุมจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องดำเนินงานตามแผนการใช้ประโยชน์นี้อยู่แล้ว
นายชุมพล ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ นายพรรธระพี ชินะโชติ นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA ให้ความเห็นว่า การที่ศูนย์การประชุมนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีความชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการศูนย์ฯ และยังไม่มีแผนงานด้านการทำตลาด จะเป็นการเสียโอกาสในด้านธุรกิจ เนื่องจากศูนย์ประชุมฯ ควรจะทำตลาดตั้งแต่เริ่มก่อสร้างอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 2 ปี เพื่อให้มีงานเข้ามาจัดได้ทันทีภายหลังศูนย์สร้างเสร็จ
แต่เมื่อไม่มีแผนงานที่ชัดเจนอาจทำให้ไม่มีผู้มาใช้งานศูนย์ประชุมฯ ว่า ทางกระทรวงมีการดำเนินการเรื่องศูนย์ประชุมฯ มาโดยตลอด แต่ที่ยังไม่มีมีการวางแผนทางการตลาด เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาหารูปแบบการบริหารงานที่เหมาะสมอยู่ เมื่อได้รูปแบบที่เหมาะสมแล้วจึงจะมีการวางแผนการตลาดต่อไป โดยต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนการใช้ประโยชน์ที่มีอยู่แล้ว การที่นายพรรธระพีออกมาวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่เข้าใจว่าต้องการอะไร หากต้องการเข้ามาบริหารจัดการศูนย์ประชุมฯ ก็ควรจะรอให้การศึกษารูปแบบการบบริหารเสร็จสิ้นเสียก่อน