นครพนม-ทนขาดทุนไม่ไหว เจ้าของเขียงหมูในนครพนมทยอยเลิกขาย หลัง ก.พาณิชย์ประกาศควบคุมราคาขายปลีก ขณะที่เจ้าของฟาร์มหมูรายใหญ่ภาคอีสานโวยรัฐแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เหตุหมูแพงเพราะต้นทุนเลี้ยงสูง ต้องควบคุมตั้งแต่ต้นทาง ซ้ำยังสั่งห้ามส่งออกหมูไปต่างประเทศ ทั้งที่ระบบธุรกิจต้องทำสัญญาล่วงหน้าเป็นปี โอดฟาร์มหมูได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้เขียงหมู-ผู้บริโภค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จังหวัดนครพนมในช่วงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศการค้าขายเนื้อหมูชำแหละตามตลาดสดทั่วไป ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม รวมถึงอำเภอรอบนอกเป็นไปอย่างซบเซา หลังจากราคาเนื้อหมูปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้มีราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 - 155 บาท ทำให้ชาวบ้านหันไปซื้ออาหารอย่างอื่นไปบริโภคแทน
ล่าสุดวันนี้(10 ส.ค.) ทางกรมการค้าภายในได้มีประกาศควบคุมการจำหน่ายเนื้อหมูชำแหละ ในราคากิโลกรัมละไม่เกิน 157 บาท ส่งผลกระทบต่อบรรดาแม่ค้า ขายเนื้อหมูที่อ้างว่าประสบปัญหาขาดทุน อีกทั้งกำไรน้อย เนื่องจากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มยังสูง ตกกิโลกรัมละประมาณ 80 -85 บาท บางรายต้องหยุดขายชั่วคราวป้องกันการขาดทุน พร้อมวิงวอนให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แทนการควบคุมราคาขายตามท้องตลาด เนื่องจากราคาหมูแพงมาจากปัจจัยการเลี้ยง ต้นทุนการผลิตสูง
ขณะเดียวกัน ด้านผู้ประกอบกิจการฟาร์มหมูขนาดใหญ่ในพื้นที่ ได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาราคาเนื้อหมูแพง และมีการควบคุมราคา รวมถึงการส่งออกหมูไปประเทศเพื่อนบ้านว่าได้ส่งผลกระทบต่อเจ้าของฟาร์มประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก หลังมีการตกลงส่งหมูไปยังสปป.ลาวเดือนละกว่า 2,000 ตัว
นายสมทัด บุญทะพาน อายุ 50 ปี เจ้าของบริษัทบุญทะพาน จำกัด ที่ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ ระดับภาคอีสาน แห่งเดียวของนครพนม เปิดเผยว่า เลี้ยงหมูในฟาร์มกว่า 20,000 ตัว ดำเนินกิจการเลี้ยงหมูมานานกว่า 20 ปี และมีการส่งออกลูกหมูไปขายยัง ลาว และเวียดนาม มีเงินหมุนเวียนปีละกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงนี้ถือว่าราคาเนื้อหมูผันผวน และมีราคาแพงมากในรอบหลายปี สาเหตุหลักเชื่อว่ามาจากปัจจัยเรื่องต้นทุนการผลิต วัตถุดิบเลี้ยงแพง
ที่สำคัญคือ เกิดปัญหาโรคระบาดในหมูทำให้ปริมาณการเลี้ยงลดลงจนเกิดการขาดแคลน ไม่เพียงพอส่งตลาด จนผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นขาดทุนเลิกกิจการก็มี ส่วนกรณีที่หน่วยงานภาครัฐโดยกรมการค้าภายใน ได้มีการออกมาตรการควบคุมราคาเนื้อหมู ที่มีราคาผันผวน ซึ่งในพื้นที่นครพนมให้ขายเนื้อหมูชำแหละได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 157 บาท ถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล ไม่มีความยุติธรรมต่อผู้ประกอบการเลี้ยงหมู เชื่อว่าเป็นการเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของผู้ประกอบการธุรกิจ
ทั้งนี้ เพราะปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ค้ารายย่อยขาดทุน เนื่องจากหมูหน้าฟาร์มมีราคาต้นทุนสูง ประมาณกิโลกรัมละ 80 -85 บาท สาเหตุมาจากวัตถุดิบเลี้ยงแพง แต่กลับต้องขายในราคาควบคุม
นายสมทัด กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหากมีปัญหาราคาหมูแพง ทางภาครัฐมักจะเข้ามาควบคุมราคาการจำหน่าย แต่เมื่อผู้ประกอบการขาดทุนในช่วงราคาหมูตกต่ำ กลับไม่มาดูแล ทำการแทรกแซงราคา นอกจากนี้การที่กรมการค้าภายใน มีการควบคุมการส่งออกหมู จากฟาร์ม ไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น ตนในฐานะผู้ส่งออกถือว่าได้รับผลกระทบมาก เพราะฟาร์มของตนมีการส่งออกลูกหมู อายุประมาณ 4 เดือน น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม เป็นหลัก เดือนละประมาณ 2,000 ตัว
แต่ตอนนี้ต้องชะงักกลางคัน ทำให้ได้รับผลกระทบขาดความเชื่อมั่นทางธุรกิจตามมาแน่นอน เพราะตลาดทาง ลาว เวียดนาม มีความต้องการหมูเป็นอย่างมาก ทำการเซ็นสัญญาส่งออกล่วงหน้าเป็นปี ซึ่งตนทำธุรกิจส่งออกลูกหมูมานานกว่า 20 ปี เชื่อว่าการส่งออกลูกหมูนั้น ไม่กระทบทำให้หมูในพื้นที่ขาดแคลนแน่นอน และการที่กรมการค้าภายในจะมาสั่งควบคุมให้ส่งออกหมูลดลง โดยนำตัวเลขส่งออกเมื่อปี 2553 มาเทียบในการส่งออกในปี 2554 ให้มีจำนวนเท่าเดิมนั้น ถือเป็นความเสียหายทางธุรกิจเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เนื่องจากเฉพาะเดือนสิงหาคม 2554 นี้ฟาร์มของตนมียอดสั่งลูกหมูไปยังสปป.ลาวกว่า 2,000 ตัว แต่ในปี 2553 มีการส่งออกแค่ 500 ตัว หากรัฐทำแบบนี้จะทำให้กระทบเจ้าของกิจการฟาร์มหมูหลายรายเดือดร้อนหนัก จึงวิงวอนให้ภาครัฐหาทางแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการฟาร์มหมู
โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องราคาวัตถุดิบ และการแทรกแซงราคาช่วงที่เกิดปัญหาราคาผันผวน เพราะหากแก้ไขไม่ถูกจุดจะทำให้ราคาเนื้อหมูแพงส่งผลกระทบทุกฝ่ายในระยะยาว