xs
xsm
sm
md
lg

จับหมูแพงวังหิน พณ.เข้ม6เดือน นครพนมเลิกขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์”ตรวจเขียงหมูวันแรก หลังดีเดย์จับจริง พบส่วนใหญ่ขายตามราคาควบคุมกิโลละ 152 บาท แต่พบแผงหมูวังหินลองของขายเกินราคา จับดำเนินคดีแล้ว พร้อมประกาศสุ่มตรวจยาวตลอด 6 เดือน ส่วนหมูธงฟ้าโลละ 120 เปิดขายแล้ว 50 จังหวัด 140 แห่ง ด้านเจ้าของเขียงหมูในนครพนม ทนขาดทุนไม่ไหว ทยอยเลิกขาย หลัง พณ.ประกาศควบคุมราคาขายปลีก ขณะที่เจ้าของฟาร์มหมูรายใหญ่ภาคอีสานโวยเหตุหมูแพงเพราะต้นทุนเลี้ยงสูง ซ้ำถูกห้ามส่งออกหมู ทั้งที่ระบบธุรกิจต้องทำสัญญาล่วงหน้าเป็นปี ขณะที่ สนง.ปศุสัตว์เชียงใหม่แจงเหตุหมูตายเกลื่อนนับพันที่ลำพูนเกิดจากโรค PRRS แถมเชียงใหม่ก็โดนด้วย 3 อำเภอแต่ปริมาณไม่มาก เผยโรคเคยระบาดแล้วปีก่อนแถบอีสานก่อนปีนี้ลามมาถึงภาคเหนือ บวกกับเป็นสายพันธุ์จากจีนซึ่งร้ายแรงที่สุด เบื้องต้นส่งผลทำหมูหายจากตลาด 30-40%

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยในการออกตรวจสอบการจำหน่ายเนื้อหมูที่ตลาดยิ่งเจริญ ย่านสะพานใหม่ กรุงเทพฯ วานนี้ (10 ส.ค.) ว่า ผู้ค้าในตลาดส่วนใหญ่ขายเนื้อหมูในราคาควบคุมที่กิโลกรัม (กก.) ละ 152 บาท โดยมีบางแห่งที่ขายต่ำกว่าราคาควบคุมที่กก.ละ 145-150 บาท แต่ได้พบแผงหมู 1 แห่ง ในตลาดวังหิน ขายหมูเนื้อแดงเกินราคาควบคุมที่กก.ละ 155 บาท จึงได้ทำการจับกุมเพื่อดำเนินคดีแล้ว มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ กรมฯ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกสุ่มตรวจฟาร์มหมูและแผงหมูต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการจำหน่ายเนื้อหมูตามราคาควบคุมสูงสุดทั้งระบบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยหากพ่อค้าที่ซื้อหมูเป็นหน้าฟาร์มแล้วพบว่ามีการขอบวกเพิ่มเกินราคาหน้าบิล หรือประชาชนตรวจสอบพบมีการขายเนื้อหมูเกินราคาควบคุมสามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569

สำหรับราคาควบคุมหมูสูงสุด ดังนี้ หมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม พื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ไม่เกินกก. ละ 81 บาท ราคาขายส่งหมูชำแหละ (หมูซีก) ไม่เกินกก.ละ 93 บาท ราคาขายส่งชิ้นส่วนหมูเนื้อแดง (ไหล่ สะโพก) ไม่เกินกก.ละ 137 บาท และราคาขายปลีกหมูเนื้อแดง (ไหล่ สะโพก) ไม่เกินกก.ละ 152 บาท ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม กก.ละ 85 บาท ขายส่งหมูชำแหละ

กก.ละ 97 บาท ขายส่งชิ้นส่วนหมูเนื้อแดง กก.ละ 142 บาท และขายปลีกหมูเนื้อแดง กก.ละ 157 บาท ส่วนภาคใต้ หมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม กก.ละ 87 บาท ขายส่งหมูชำแหละ กก.ละ 99 บาท ขายส่งชิ้นส่วนหมูเนื้อแดง กก.ละ 147 บาท และขายปลีกหมูเนื้อแดง กก.ละ 162 บาท

นางวัชรีกล่าวว่า ในการจำหน่ายหมูธงฟ้ากก.ละ 120 บาท ขณะนี้กรมฯ ได้ทยอยเริ่มแล้วใน 50 จังหวัด รวม 140 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพแก่ผู้บริโภค ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้เลี้ยงหมู ขณะนี้กรมปศุสัตว์กำลังพิจารณาการจัดตั้งกองทุนเนื้อสัตว์ เพื่อดูแลราคาและปริมาณเนื้อสัตว์ทั้งระบบ ให้เกิดความสมดุลระหว่างเกษตรกร กับผู้บริโภค

****ฟาร์มหมูจวกรัฐต้องคุมต้นทุนอาหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จังหวัดนครพนมในช่วงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศการค้าขายเนื้อหมูชำแหละตามตลาดสดทั่วไป ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม รวมถึงอำเภอรอบนอกเป็นไปอย่างซบเซา หลังจากราคาเนื้อหมูปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้มีราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 - 155 บาท ทำให้ชาวบ้านหันไปซื้ออาหารอย่างอื่นไปบริโภคแทน

ล่าสุดวันนี้(10 ส.ค.) ทางกรมการค้าภายในได้มีประกาศควบคุมการจำหน่ายเนื้อหมูชำแหละ ในราคากิโลกรัมละไม่เกิน 157 บาท ส่งผลกระทบต่อบรรดาแม่ค้า ขายเนื้อหมูที่อ้างว่าประสบปัญหาขาดทุน อีกทั้งกำไรน้อย เนื่องจากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มยังสูง ตกกิโลกรัมละประมาณ 80 -85 บาท บางรายต้องหยุดขายชั่วคราวป้องกันการขาดทุน พร้อมวิงวอนให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แทนการควบคุมราคาขายตามท้องตลาด เนื่องจากราคาหมูแพงมาจากปัจจัยการเลี้ยง ต้นทุนการผลิตสูง

ขณะเดียวกัน ด้านผู้ประกอบกิจการฟาร์มหมูขนาดใหญ่ในพื้นที่ ได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาราคาเนื้อหมูแพง และมีการควบคุมราคา รวมถึงการส่งออกหมูไปประเทศเพื่อนบ้านว่าได้ส่งผลกระทบต่อเจ้าของฟาร์มประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก หลังมีการตกลงส่งหมูไปยังสปป.ลาวเดือนละกว่า 2,000 ตัว

นายสมทัด บุญทะพาน อายุ 50 ปี เจ้าของบริษัทบุญทะพาน จำกัด ที่ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ ระดับภาคอีสาน แห่งเดียวของนครพนม เปิดเผยว่า เลี้ยงหมูในฟาร์มกว่า 20,000 ตัว ดำเนินกิจการเลี้ยงหมูมานานกว่า 20 ปี และมีการส่งออกลูกหมูไปขายยัง ลาว และเวียดนาม มีเงินหมุนเวียนปีละกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงนี้ถือว่าราคาเนื้อหมูผันผวน และมีราคาแพงมากในรอบหลายปี สาเหตุหลักเชื่อว่ามาจากปัจจัยเรื่องต้นทุนการผลิต วัตถุดิบเลี้ยงแพง

ที่สำคัญคือ เกิดปัญหาโรคระบาดในหมูทำให้ปริมาณการเลี้ยงลดลงจนเกิดการขาดแคลน ไม่เพียงพอส่งตลาด จนผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นขาดทุนเลิกกิจการก็มี ส่วนกรณีที่หน่วยงานภาครัฐโดยกรมการค้าภายใน ได้มีการออกมาตรการควบคุมราคาเนื้อหมู ที่มีราคาผันผวน ซึ่งในพื้นที่นครพนมให้ขายเนื้อหมูชำแหละได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 157 บาท ถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล ไม่มีความยุติธรรมต่อผู้ประกอบการเลี้ยงหมู เชื่อว่าเป็นการเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของผู้ประกอบการธุรกิจ

ทั้งนี้ เพราะปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ค้ารายย่อยขาดทุน เนื่องจากหมูหน้าฟาร์มมีราคาต้นทุนสูง ประมาณกิโลกรัมละ 80 -85 บาท สาเหตุมาจากวัตถุดิบเลี้ยงแพง แต่กลับต้องขายในราคาควบคุม

นายสมทัด กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหากมีปัญหาราคาหมูแพง ทางภาครัฐมักจะเข้ามาควบคุมราคาการจำหน่าย แต่เมื่อผู้ประกอบการขาดทุนในช่วงราคาหมูตกต่ำ กลับไม่มาดูแล ทำการแทรกแซงราคา นอกจากนี้การที่กรมการค้าภายใน มีการควบคุมการส่งออกหมู จากฟาร์ม ไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น ตนในฐานะผู้ส่งออกถือว่าได้รับผลกระทบมาก เพราะฟาร์มของตนมีการส่งออกลูกหมู อายุประมาณ 4 เดือน น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม เป็นหลัก เดือนละประมาณ 2,000 ตัว

แต่ตอนนี้ต้องชะงักกลางคัน ทำให้ได้รับผลกระทบขาดความเชื่อมั่นทางธุรกิจตามมาแน่นอน เพราะตลาดทาง ลาว เวียดนาม มีความต้องการหมูเป็นอย่างมาก ทำการเซ็นสัญญาส่งออกล่วงหน้าเป็นปี ซึ่งตนทำธุรกิจส่งออกลูกหมูมานานกว่า 20 ปี เชื่อว่าการส่งออกลูกหมูนั้น ไม่กระทบทำให้หมูในพื้นที่ขาดแคลนแน่นอน และการที่กรมการค้าภายในจะมาสั่งควบคุมให้ส่งออกหมูลดลง โดยนำตัวเลขส่งออกเมื่อปี 2553 มาเทียบในการส่งออกในปี 2554 ให้มีจำนวนเท่าเดิมนั้น ถือเป็นความเสียหายทางธุรกิจเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ เนื่องจากเฉพาะเดือนสิงหาคม 2554 นี้ฟาร์มของตนมียอดสั่งลูกหมูไปยังสปป.ลาวกว่า 2,000 ตัว แต่ในปี 2553 มีการส่งออกแค่ 500 ตัว หากรัฐทำแบบนี้จะทำให้กระทบเจ้าของกิจการฟาร์มหมูหลายรายเดือดร้อนหนัก จึงวิงวอนให้ภาครัฐหาทางแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการฟาร์มหมู

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องราคาวัตถุดิบ และการแทรกแซงราคาช่วงที่เกิดปัญหาราคาผันผวน เพราะหากแก้ไขไม่ถูกจุดจะทำให้ราคาเนื้อหมูแพงส่งผลกระทบทุกฝ่ายในระยะยาว

***ปศุสัตว์แจงโรค PRRS ต้นเหตุหมูตายนับพันที่ลำพูน

นายสัตวแพทย์สมพร พรวิเศษศิริกุล สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีข่าวสุกรตายจำนวนมากที่จังหวัดลำพูนว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการตายของสุกรจริง โดยมีสาเหตุมาจากโรค PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome)

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยที่จังหวัดลำพูนได้เกิดการแพร่ระบาดของโรค PRRS ในฟาร์มสุกรหลายแห่งในพื้นที่ ต.ศรีบัวบานและ ต.ป่าสัก อ.เมือง ส่งผลให้แม่และลูกสุกรตายรวมกว่า 2,000 ตัว

นายสัตวแพทย์สมพรกล่าวว่าโรคดังกล่าวเคยมีการแพร่ระบาดในประเทศไทยมาแล้วในช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา โดยเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสายพันธุ์จากประเทศจีนซึ่งมีความร้ายแรงที่สุดในบรรดาไวรัส PRRS สายพันธุ์ต่างๆ ได้แพร่ผ่านทางประเทศลาวเข้ามาระบาดสร้างความเสียหายในพื้นที่จ.หนองคายและอุบลราชธานี ก่อนที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในเวลาต่อมา ส่วนการแพร่ระบาดในปีนี้เริ่มจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอย่าง จ.เพชรบูรณ์และ จ.พิษณุโลก ก่อนจะแพร่เข้าสู่จังหวัดลำปางและจังหวัดลำพูนตามที่เป็นข่าว โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในจังหวัดลำพูนได้สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากให้กับฟาร์มขนาดกลางและขนาดย่อย แต่ไม่ส่งผลต่อฟาร์มขนาดใหญ่มากนัก

ขณะที่ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่เองก็มีการแพร่ระบาดของโรคนี้เช่นกัน โดยมีการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวใน 3 จุด ได้แก่พื้นที่ อ.ดอยหล่อ อ.สันกำแพง และ อ.แม่แจ่มโดยที่ อ.ดอยหล่อมีสุกรตายจำนวน 45 ตัว อ.สันกำแพง 130 ตัว และ อ.แม่แจ่ม 41 ตัวอย่างไรก็ตามความเสียหายดังกล่าวยังเกิดขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ทราบข่าวได้ตัดสินใจนำหมูที่เลี้ยงไว้ออกจำหน่ายก่อนเพื่อป้องกันการติดโรคระบาด

นายสัตวแพทย์สมพรระบุว่า สาเหตุของการแพร่กระจายของเชื้อ PRRS นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนย้ายสุกรซึ่งผู้ที่รับผิดชอบยังขาดประสบการณ์และความระมัดระวังในการดูแลสุกร อย่างไรก็ตามช่วงของการแพร่ระบาดซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.จนถึงเดือน ก.ค.นั้นถือว่าความรุนแรงได้ลดลงแล้ว โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วก็คือการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณสุกรในตลาดลดลงประมาณ 30-40% รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมาสุกรที่นำมาชำแหละบางส่วนยังเป็นสุกรที่ไม่ได้ขนาด เนื่องจากเกษตรกรเร่งนำสุกรที่เลี้ยงไว้ออกมาจำหน่ายเพื่อป้องกันการขาดทุน

ด้านมาตรการในการป้องกันโรคนั้น ทางกรมปศุสัตว์ได้เน้นความสำคัญไปที่การเคลื่อนย้ายสุกร เนื่องจากเป็นช่องทางที่อาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ ส่วนการให้วัคซีนป้องกันนั้น เนื่องจากโรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะจึงเน้นที่การรักษาตามอาการป่วยมากกว่า

ทั้งนี้ โรค PRRS เป็นกลุ่มอากาการของโรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อ สุกรจะมีไข้สูง นอนสุมกัน ตัวแดงและไม่กินอาหาร อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือท้องเสีย ขณะที่สุกรที่ตั้งท้องอาจแท้งหรือลูกที่เกิดจะตายตั้งแต่แรกคลอด

โดยเชื้อไวรัสจะถูกขับจากร่างกายของสุกรป่วยผ่านทางอุจจาระ ปัสสาวะ ลมหายใจและน้ำเชื้อ และติดต่อไปยังสุกรตัวอื่นโดยการกินหรือการสัมผัสโดยตรง และสามารถแพร่ระบาดจากการเคลื่อนย้ายสุกรที่เป็นพาหะเข้าฝูงใหม่ อีกทั้งเชื้อไวรัสที่ถูกขับออกจากร่างกายยังสามารถแพร่กระจายในอากาศได้ไกลถึงรัศมี 3 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวไม่แพร่กระจายจากสุกรสู่คน รวมทั้งไม่มีรายงานว่ามีการแพร่เชื้อไวรัสผ่านเนื้อสุกรหรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกร
กำลังโหลดความคิดเห็น