xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนภาคเหนือตอนบนจี้รัฐหนุน “Long Stay”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เอกชนเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน จี้รัฐหนุนธุรกิจ “Long Stay” รับชาวต่างชาติมากขึ้น ชี้ มีศักยภาพสูงช่วยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและพำนักอยู่ในพื้นที่ระยะยาว แต่พบปัจจุบันยังมีปัญหาอุปสรรคมาก วีซ่าอนุญาตให้อยู่ไทยได้แค่ 1 ปี ขณะที่มาเลเซียให้ถึง 10 ปี เตรียมผลักดันขอขยายเป็น 3 ปี

วันนี้ (10 ส.ค.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดการสัมมนาตามโครงการพัฒนาศักยภาพ Long Stay กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ 2554

ทั้งนี้ เพื่อระดมความคิดเห็น เสนอแนะ ปัญหาของผู้ประกอบการ ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในแต่ละประเภท ของแต่ละจังหวัด โดยมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว เช่น ที่พัก ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต สถานพยาบาล เป็นต้น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และ แม่ฮ่องสอน เข้าร่วมประมาณ 100 คน ที่โรงแรมฟูราม่า จังหวัดเชียงใหม่

นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว หรือ Long Stay ในปัจจุบันถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญและสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก โดยทุกวันนี้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เกษียณอายุ และมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่จังหวัดเชียงใหม่ นับเฉพาะชาวญี่ปุ่นมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 3,500 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองแค่ประเทศมาเลเซียเท่านั้น และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย แม้แต่ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็ไม่ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ลดลงไปแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายต่อคนเดือนละประมาณ 30,000 บาท จึงมองว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง และควรจะต้องประชาสัมพันธ์ทำการตลาดให้มากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่พำนักอยู่ในพื้นที่ตลอดทั้งปี ทำให้เกิดรายได้แน่นอนและมูลค่ารวมมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปที่เข้ามาพำนักเฉลี่ยคนละ 3 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ หากสามารถหานักท่องเที่ยวกลุ่มพำนักระยะยาวได้ 10,000 คน ก็จะสามารถสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ถึงปีละ 36,000 ล้านบาท ซึ่งมากพอๆ กับรายได้ทั้งปีที่ได้รับจากการขายลำไย

อย่างไรก็ตาม ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่า ปัจจุบันภาครัฐยังไม่ได้ให้การสนับสนุนธุรกิจนี้เท่าที่ควร และยังมีปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำธุรกิจประเภทนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยตัวอย่างที่สำคัญ เช่น วีซ่าสำหรับชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาพำนักระยะยาวจะมีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น ทำให้ต้องมีการต่ออายุทุกปี ขณะที่มาเลเซียจะอนุญาตวีซ่าอายุ 10 ปี ให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งบางครั้งทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่จะเข้ามาพำนักในจังหวัดเชียงใหม่หรือประเทศไทย เกิดความกังวลใจ โดยเวลานี้ภาคเอกชนกำลังพยายามผลักดันให้มีการเพิ่มขยายอายุวีซ่าเป็น 3 ปี สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกันในธุรกิจการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว ยังขาดการรวมตัวในการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างเป็นเครือข่ายอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ที่พัก ยังขาดการเชื่อมโยงกับร้านอาหาร และบริการที่จำเป็นต่างๆ ที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ากลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน การประชาสัมพันธ์และการทำการตลาดยังมีน้อยเกินไป ทำให้ไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร เนื่องจากยังขาดงบประมาณในส่วนนี้ ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐน่าจะได้ผลดีกว่านี้

“จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับธุรกิจการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวมากขึ้นกว่านี้ โดยปรับแก้สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรค และให้การสนับสนุนต่างๆ อย่างเพียงพอ”
กำลังโหลดความคิดเห็น