xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบ“วังน้ำเขียว” เดือดฮือปิดถนน - จี้รัฐหยุดเชือดปชช.นายทุนรุกป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และคณะ รับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง กรณีปัญหาการบุกรุกป่า อ.วังน้ำเขีย ที่ สวนลุงโชค บ.คลองทุเรียน ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 5 ส.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ม็อบชาววังน้ำเขียวโคราชกว่า 1 พัน เดือดฮือปิดถนน 304 ราชสีมา-กบินทร์บุรี ร้องรัฐหยุดดำเนินการทางกม. กับปชช.-นายทุนรีสอร์ตรุกป่าจนกว่ารบ.ใหม่มีนโยบายชัดเจน จี้ “อธิบดีป่าไม้-อุทยานฯ” ขอโทษชาววังน้ำเขียวทำเสียชื่อเสียง พร้อมล่า 5 หมื่นรายชื่อยื่นรัฐบาลใหม่ เสนอแก้กม.ป่า 3 ฉบับ กันแนวเขตอุทยานฯ-ป่าสงวนฯออกจากที่ทำกินชาวบ้านและสร้างเป็นเมืองท่องเที่ยวพิเศษ ขณะ กธม. วุฒิสภาลงพื้นที่ลุยรับทราบข้อเท็จจริงรุกป่าวังน้ำเขียวเป็นวันที่ 2 พร้อมรุดรับข้อเรียกร้องม็อบ รับปากเสนอรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา เผยล่าสุดศาลออกหมายค้นรีสอร์ตเขาแผงม้าแล้ว 10 ราย จาก 22 แห่ง

วันนี้ ( 5 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่แหล่งเรียนรู้เกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเองและสิ่งแวดล้อม สวนลุงโชค บ้านคลองทุเรียน หมู่ 6 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา คณะกรรมาธิการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ เดินทางมารับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง กรณีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง , เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นวันที่ 2 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กลุ่มอนุรักษ์และผู้แทนภาคประชาชน ในพื้นที่ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมาเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลกว่า 100 คน

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชายและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยว่า การเดินทางลงพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวรวม 2 วันนี้ ไม่คาดคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่มีปัญหาหลายเรื่องที่หน่วยงานของรัฐยังไม่เข้าใจและเข้าถึงสภาพปัญหาที่แท้จริง รอให้สภาพปัญหาขยายตัวไปมาก กระทั่งขณะนี้กลายเป็นความวิตกกังวลของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ไปแล้ว เนื่องจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นประกอบด้วยผู้คนที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินมีหลายรูปแบบ และกลุ่มนี้ต่างวิตกกังวลว่าตัวเองจะถูกไล่ออกจากพื้นที่ และเป็นที่น่าเสียดายว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ ซึ่งปัญหาต่างๆ นี้ตนจะทำรายงานและเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ให้เข้าแก้ไขปัญหา คาดว่าจะเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ได้ประมาณ กลางเดือน ส.ค.นี้

ทั้งนี้ สาเหตุของปัญหาจากที่ได้รับฟังจากทุกภาคส่วนสรุปได้ว่ามาจาก 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ปัญหาความไม่ชัดเจนของแนวเขตทั้ง อุทยานแห่งชาติทับลาน , ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง และ เขต ส.ป.ก. ซึ่งกลายเป็นปัญหาข้อโต้แย้ง ทั้งระหว่างประชาชน -ภาคเอกชนกับรัฐ และระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง

2. ปัญหาการเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน ที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามกฎหมายและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป จากวิถีการเกษตรดั้งเดิม

และ 3. การบังคับใช้กฎหมาย ที่ผ่านมาหน่วยงานและเจ้าหน้าที่หย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ก่อให้เกิดสภาพปัญหาลุกลามขยายตัวใหญ่โตออกไป สุดท้ายจะถูกต่อต้านไม่สามารถบังคับใช้ได้ และไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความสงบสุขให้กับสังคมและประชาชน

ด้าน นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) เปิดเผยถึง ความคืบหน้ากรณีกรมป่าไม้ ยื่นขอหมายศาลจากศาลจังหวัดสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เพื่อเข้าดำเนินการตรวจค้นพื้นที่บ้านพักรีสอร์ตที่ทางกรมป่าไม้ระบุว่าบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา บริเวณเขาแผงม้า รวม 22 จุด ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลหลักฐานซึ่งเป็น พระราชกฤษฎีกาประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2528 พร้อมแผนที่ระบุพิกัด ที่ตั้งของรีสอร์ตบ้านพัก ที่เชื่อได้ว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ในแต่ละจุด และหลักฐานรายละเอียดประกอบต่าง ๆ ยื่นต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาเป็นที่เรียบร้อยทั้ง 22 จุดแล้ว จากนี้ไปขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล หากได้รับการอนุมัติเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานทันที ซึ่งล่าสุดทราบว่าศาลได้อนุมัติออกหมายค้นแล้วจำนวน 10 ราย

ขณะที่ผู้ประกอบการบ้านพักรีสอรต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 22 แห่ง บริเวณเขาแผงม้า ที่ถูกระบุว่า บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้ามาดำเนินกิจการบ้านพักรีสอร์ตในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวไม่มีใครเข้ามาทำลายป่า ทุกคนมาร่วมกันสร้างป่า และไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าที่ดินที่ถูกซื้อขายกันมาหลายทอดแล้วจะเป็นป่าสงวนฯ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็รับรอง โดยมี ใบ ภบท. 5 เป็นหลักฐานและเสียภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอด ที่สำคัญอยู่กันมานาน 5-10 ปีแล้ว สุดท้ายมาถูกดำเนินการเช่นนี้ ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการเลย

ฉะนั้น จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นใจผู้ประกอบการที่ลงทุนไปแล้ว และไม่รู้ว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ มาถึงวันนี้อยากให้มีการจัดโซนนิ่งให้ชัดเจนดีกว่าจะมาใช้กฎหมายบังคับอย่างเคร่งครัด และกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ต่อไปได้ พร้อมร่วมกันปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่าและป้องกันไม่มีปัญหาการบุกรุกเพิ่มเติมอีก

วันเดียวกันนี้ ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นมา ที่บริเวณตลาด กม.79 เขตเทศบาลตำบลศาลเจ้าพ่อ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ประชาชนชาว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กว่า 1,500 คน ได้ชุมนุมเปิดเวทีปราศรัยต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 5 และวันนี้ได้มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชนจำนวน 50,000 รายชื่อ เพื่อเตรียมยื่นต่อรัฐบาลชุดใหม่ ให้พิจารณาเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดิน 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 , พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เพื่อกันแนวเขตอุทยานฯ-ป่าสงวน ฯ ออกจากที่ทำกินของชาวบ้าน และ เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินสร้างเป็นเมืองท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้องโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

ต่อมาเวลา 14.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตัดสินใจเคลื่อนมวลชนเข้าปิดถนนทางหลวงหมายเลข 304 ราชสีมา - กบินทร์บุรี บริเวณหน้าตลาด กม. 79 เขตเทศบาลตำบลศาลเจ้าพ่อ ดังกล่าว ส่งผลให้การจราจรและ รถยนต์ของประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาติดขัดเป็นระยะทางยาว ทั้งนี้ ผู้ชุมนุม ได้ยื่นข้อเรียกร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ ดังนี้

1. ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งอธิบดีกรมป่าไม้, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชหยุดให้ข่าวใส่ร้ายป้ายสีประชาชนชาว อ.วังน้ำเขียว ว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า โดยขาดข้อเท็จจริง และไม่เป็นธรรมกับชาว อ.วังน้ำเขียวและให้ออกมาขอโทษประชาชนผ่านสื่อ

2.หยุดดำเนินการทางกฎหมายใดๆ กับประชาชนและผู้ประกอบการ บ้านพัก รีสอร์ต ที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าทุกรายจนกว่าจะมีนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนจากรัฐบาลใหม่

3.ให้มีการประกาศกฤษฏีกาเพิกถอนพื้นที่ทับซ้อนชุมชนจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2524 จำนวน 15 ต. 76 หมู่บ้าน โดยยึดหลักแนวเขตที่มีข้อตกลงร่วมกันปี 2543 ,

4.ให้มีคณะกรรมการร่วมกำหนดแนวเขตโซน C ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ให้ชัดเจนโดยมีข้อตกลงการจัดการพื้นที่ร่วมกันทุกภาคส่วนตามสภาพความเป็นจริง ,5.ให้มีการวางแผนผังจัดโซนนิ่งการจัดการพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ร่วมกันทุกภาคส่วนและ 6. ให้มีนโยบายกำหนดวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่พิเศษการจัดการการเท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกรรมาธิการฯ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางลงพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ได้เดินทางมารับหนังสือข้อเรียกร้องตามความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมี นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.)นครราชสีมา เขต อ.วังน้ำเขียว และ นายประณัย ประณีตพลกรัง อดีต ผู้ใหญ่บ้านสวนห้อม หมู่ 2 ต.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นแกนนำมอบหนังสือ

โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกรรมาธิการฯ รับปากจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอรัฐบาลใหม่เพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหาโดยเร็ว พร้อมย้ำว่าการดำเนินการกับเจ้าของบ้านพักรีสอร์ตที่บุกรุกป่าของกรมป่าไม่และอุทยานฯ ในอยู่ในขณะนี้ จะไม่ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่แน่นอน ทำให้ผู้ชุมนุมพอใจจึงยอมเปิดการจราจรและสลายการชุมนุม หลังทำการปิดถนนนานกว่า ครึ่งชั่วโมง พร้อมประกาศจะคอยติดผลการดำเนินตามข้อเรียกร้องเพื่อกำหนดมาตรการเคลื่อนไหวต่อไป

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
ผู้ชุมนุมชาวอ.วังน้ำเขียว กว่า 1,500 คน ปิดถนนหมายเลข 304 ราชสีมา – กบินทร์บุรี บริเวณหน้า ตลาด กม.79 เขตเทศบาลตำบลศาลเจ้าพ่อ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จี้รัฐหยุดดำเนินการทางกม.กับประชาชนและนายทุนบุกรุกป่า บ่ายวันนี้ (5 ส.ค.)





นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา รุกรับข้อเรียกร้อง


นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย  รับปากผู้ชุมนุม


เปิดเวทีชุมนุมล่ารายชื่อแก้กม. 3 ฉบับ มาตั้งแต่ช่วงเช้า




กำลังโหลดความคิดเห็น