ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ส.ป.ก.โคราช เต้นโต้ไม่ได้เกียร์ว่างปล่อยนายทุนแห่ยึดที่ ส.ป.ก.“วังน้ำเขียว” ผุดรีสอร์ต บ้านพักหรูเรื้อรังมานาน อ้างมีกำลัง จนท.น้อยงานรับผิดชอบอื้อทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง อีกทั้งการซื้อขายที่ดินใช้ “ภบท. 5” ไม่ใช่ “ส.ป.ก.4-01” ทำให้ จนท.ไม่ทราบแถมผู้ซื้อไม่มาปรึกษา ลั่นเร่งตรวจสอบเอาผิดการถือครองและการใช้ประโยชน์แล้วเสร็จใน 2 เดือน เผยให้ม.ราชภัฎโคราช ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาและเตรียมเสนอรัฐบาลไฟเขียวนายทุนขอใช้พื้นที่ ส.ป.ก.สร้างรีสอร์ต บ้านพัก และโฮมสเตย์ได้อย่างถูก กม.ตามมาตรา 30 พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินฯ
วันนี้ (28 ก.ค.) นายประเสริฐ วิศิษฏจินดา ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมาว่า ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้มีคำสั่งให้ทาง ส.ป.ก.นครราชสีมา ดำเนินการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรที่ได้รับมอบที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ว่ามีการนำไปใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ และมีการซื้อขายสิทธิเปลี่ยนมือจากเกษตรกรรายเดิมที่ได้รับการจัดสรรไปให้กับบุคคลอื่นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัดนครราชสีมาที่มีอยู่ทั้ง 26 คน พร้อมเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง 8 คน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา และจะรายงานผลการตรวจสอบให้เลขาธิการ ส.ป.ก.ทุกวันจันทร์ และวันพุธต่อไป
ทั้งนี้ อ.วังน้ำเขียว มีเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 700,000 ไร่ ทาง ส.ป.ก.ได้รับมอบพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจากกรมป่าไม้เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ทั้งสิ้น 241,018 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการปฏิรูปที่ดินและออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 มอบให้กับเกษตรกรไปแล้ว 6,412 ราย รวมพื้นที่ 139,300 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้ได้รับคำสั่งให้ทำการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ รวมถึงการตรวจสอบสิทธิการถือครองที่ดินอย่างละเอียด เพื่อดำเนินการเอาผิดต่อเกษตรกรที่ใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์นอกเหนือจากการใช้เพื่อทำการเกษตร รวมถึงหากพบมีการซื้อขายสิทธิการถือครอง ทั้งในส่วนของเกษตรกรเจ้าของสิทธิเดิม และผู้ที่มาซื้อต่อจะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายทั้งหมดเช่นกัน
นอกจากนี้ ในส่วนของพื้นที่ที่ยังไม่มีการจัดสรรให้เกษตรกร ซึ่งมีอยู่อีกว่า 1 แสนไร่นั้น ทาง ส.ป.ก.จังหวัดนครราชสีมาก็จะทำการตรวจสอบว่ามีกลุ่มบุคคลใดบุกรุกเข้าไปถือครอง หรือเข้าไปสร้างรีสอร์ต บ้านพักหรือไม่ ซึ่งหากพบก็จะดำเนินการทางกฎหมายทันที
“ทั้งหมดนี้จะใช้เวลาดำเนินการสอบสอบให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และรายงานให้ ส.ป.ก.ส่วนกลางได้รับทราบ เพื่อพิจารณาสั่งการดำเนินการตามระเบียบกฎหมายต่อไป” นายประเสริฐกล่าว
อย่างไรก็ตาม โดยหลักเกณฑ์แล้วหากตรวจพบว่ามีการกระทำผิด เบื้องต้นทาง ส.ป.ก.จะแจ้งเตือนให้เกษตรกรดำเนินการอย่างถูกต้อง และหากไม่ปฏิบัติตามจะถูกเพิกถอนสิทธิ์และยึดส.ป.ก.4-01 คืนโดยยกเลิกเข้าทำประโยชน์ จากนั้น ส.ป.ก.จะนำที่ดินไปจัดสรรให้ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินรายอื่นต่อไป แต่การกระทำทุกขั้นตอนทาง ส.ป.ก.จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรเจ้าของพื้นที่ได้ชี้แจงก่อนทุกราย
นอกจากนี้ ล่าสุดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกจากกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น ทาง ส.ป.ก.นครราชสีมาจึงทำหนังสือแจ้งที่ไปอำเภอ, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อควบคุมและชะลอการก่อสร้างจนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งติดประกาศ เขต ส.ป.ก.กระจายทั่วทั้ง 5 ตำบล ของ อ.วังน้ำเขียว ให้เกษตรกรรู้ถึงสิทธิหน้าที่ในการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ว่าต้องมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์อย่างไรเพราะตามระเบียบนั้น เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์เข้าทำประโยชน์ต้องใช้พื้นที่เพื่อทำการเกษตรเท่านั้น ไม่มีสิทธิขายที่ดินและห้ามถ่ายโอน
นายประเสริฐกล่าต่อว่า สำหรับกรณีปัญหามีกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มทุนต่างๆ เข้ามาใช้ที่ดิน ส.ป.ก. สร้างรีสอร์ต บ้านพักในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเมื่อครั้งที่กลุ่มคนกลุ่มนี้มาซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อนำไปสร้างเป็นรีสอร์ตที่พัก นั้นส่วนตัวแล้วไม่ทราบเรื่องนี้เลย เพราะการซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. ไม่ได้มีการนำเอกสาร ส.ป.ก.ไปซื้อขายกัน แต่ซื้อขายในรูปแบบของการใช้เอกสาร ภบท.5 และผู้ซื้อไม่เคยนำมาปรึกษากับทาง ส.ป.ก.ว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่
ประกอบกับทาง ส.ป.ก.จ.นครราชสีมามีพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบในการจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์มากกว่า 4 ล้านไร่ แต่เจ้าหน้าที่มีเพียง 26 ราย ซึ่งมีงานหลักที่ต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะเพียงงานจัดสรรที่ดินแต่ละปีเท่านั้น เช่น ต้องรับผิดชอบงานจัดหาที่ดินมาจัดสรรให้เกษตรกรกลุ่มสภาประชาชน 4 ภาคตามนโยบายรัฐบาล, การจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ ส.ป.ก.ทำข้อตกลงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ
“ฉะนั้น ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่จำกัดจึงไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง การตรวจสอบในบางเรื่องอาจไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง แต่ยืนยันว่าทาง ส.ป.ก.จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว” นายประเสริฐกล่าว
นายประเสริฐกล่าวอีกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ส.ป.ก.รับมอบพื้นที่ป่าสงวนจากกรมป่าไม้ ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพทำเกษตรกรรมเท่านั้น ยังมีพื้นที่สาธารณูปโภค เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ และการทำถนนเข้ามาในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมไปถึงแร่ในที่ดิน ซึ่งสามารถขออนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และขอใช้ประโยชน์ที่ดินจาก ส.ป.ก.ได้ แต่ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาในขณะนี้ คือ การบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก.เพื่อก่อสร้างรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ และโฮมสเตย์
โดยหากพิจารณาตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาตรา 30 วรรค 5 และตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ข้อที่ 1.5 เรื่องกิจกรรมการบริการ ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และสังคม ระบุว่า รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ หรือโฮมสเตย์ เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ ซึ่งโดยหลักเกณฑ์ต้องนำเสนอคณะกรรมการ ส.ป.ก. เพื่ออนุมัติให้ดำเนินการ โดยมีเงื่อนไขการเสียค่าตอบแทนให้ ส.ป.ก.เพื่อนำไปเป็นเงินกองทุนปฏิรูปที่ดินได้ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องมีการปลูกต้นไม้ทดแทนออกมาในรูปของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
“ในหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ได้ให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ทำการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและเตรียมนำเสนอไปยังหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อให้พิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและพิจารณาประเด็นดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายที่กำหนดไว้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ ส.ป.ก.ว่าจะอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ในกรณีใดบ้าง” นายประเสริฐกล่าว