xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นศาลขอค้น 22 รีสอร์ต รุก “เขาแผงม้า”-“อธิบดีป่าไม้” ผวาม็อบซุกค่ายทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขาแผงม้า ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เติมไปด้วยบ้านพักรีสอร์ต รุกป่า วันนี้ (3 ส.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ป่าไม้ยื่นศาลขอหมายค้นรีสอร์ต 22 แห่งรุกป่า “เขาแผงม้า” อ.วังน้ำเขียว แล้ว ลั่นศาลอนุมัติวันไหนลุยเป้าหมายทันที ด้าน อธิบดีกรมป่าไม้ รุดถก “มทภ.2-ผู้ว่าฯ โคราช” ผวาม็อบย้ายที่ประชุมด่วนซุกค่ายทหาร เผย “กอ.รมน.” ลงพื้นที่ติดตามข้อมูลรุกป่าอุทยานฯทับลาน ขณะ จนท.อุทยานฯ เข้าติดป้ายสั่งรื้อรีสอร์ตเพิ่มแล้ว 10 แห่ง ใน อ.นาดี ส่วน อ.วังน้ำเขียว อีก 10 แห่ง ลุยต่อพรุ่งนี้ ด้านชาวบ้านวังน้ำเขียว กลุ่ม “ส.ส.” รีสอร์ตหรู ระดมพลเปิดเวทีแสดงพลังต้านรัฐต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ส่วน กมธ.วุติสภา ลงตรวจสอบ “วังน้ำเขียว” 4-5 ส.ค.

วันนี้ (3 ส.ค.) นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) กรมป่าไม้ เปิดเผยถึงการดำเนินการกับกลุ่มผู้บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง บริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว ว่า ล่าสุด เจ้าหน้าที่ได้ยื่นขอหมายศาลเพื่อเข้าตรวจค้นรีสอร์ตและบ้านพักที่ตรวจสอบ พบว่า บุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวงจำนวน 22 แห่งแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หากศาลอนุมัติวันไหนเจ้าหน้าที่ก็พร้อมลงพื้นที่เข้าตรวจค้นรีสอร์ตเป้าหมายดังกล่าวทันที เพื่อดำเนินแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินกับผู้บุกรุกตามขั้นตอนของกฎหมายต่อ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ดำเนินการเข้าตรวจค้นรีสอร์ต บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ในพื้นที่ อ.ปากช่อง ไปแล้ว จำนวน 2 แห่ง ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ร้องเรียนเข้ามาและจะทยอยดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) เวลา 09.00 น.นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ จะเดินทางลงพื้นที่และหารือร่วมกับแม่ทัพภาคที่ 2 และ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา เกี่ยวกับกรณีปัญหาการบุกรุกป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว ดังกล่าว ซึ่งเดิมทีได้กำหนดสถานที่ประชุมไว้ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา แต่เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าจะมีชาวบ้านมาชุมนุมคัดค้านจึงต้องย้ายสถานที่เข้าไปประชุมภายใน กองทัพภาคที่ 2 แทน

ขณะเดียวกัน ที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) นำโดย พล.ท.เอกนันท์ รัตนโสภา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่ 4 (ศปป.4) (ดูแล ผรท.-ป่าไม้) กอ.รมน.และคณะ ได้เดินทางมารับทราบข้อมูลปัญหาการบุกรุกป่าในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โดยมี นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อมูล ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่มีการสร้างรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน

นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ส.ค.) ได้ส่งชุดเจ้าหน้าที่ นำโดย นายนุวรรต ลีลาพตะ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน เป็นหัวหน้าทีม ลงพื้นที่ติดป้ายประกาศอุทยานแห่งชาติ สั่งให้ผู้บุกรุกสร้างรีสอร์ตและบ้านพักในเขตอุทยานฯทับลาน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามอำนาจในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพิ่มอีกจำนวน 10 ราย ในพื้นที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี (จากเดิมที่ติดประกาศคำสั่งรื้อถอนไปแล้ว 15 ราย จากทั้งหมด 105 ราย มีสิ่งปลูกสร้าง 50 ราย ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง 55 ราย)

ประกอบด้วย 1.ที่ป่าบ้านซับบอน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ของ นางมาดี บุญยะโชติ จำนวน 18 ไร่ เป็นบ้านพักมั่นคงถาวร 1 หลัง 2.ป่าบ้าน กม.80 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี ของนายธีรพจน์ สว่างแจ้ง 5 ไร่ เป็นบ้านพักมั่นคงถาวร 2 หลัง 3.ป่าห้วยสาลิกา ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี ของ นายไพโรจน์ ศรีสมสุข จำนวน 12 ไร่ สร้างเป็นบ้านพักมั่นคงถาวร 2 หลัง 4.ป่าห้วยสาลิกา ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี ของ นายสุรเดช จิตภักดีบดินทร์ จำนวน 7 ไร่ เป็นบ้านพักมั่นคงถาวร 2 หลัง

5.ป่าซับบอน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี ของ นายปรีชา เทพรัตน์ จำนวน 28 ไร่ สร้างเป็นบ้านพักมั่นคงถาวร 1 หลัง 6.ป่าซับบอน ของ นายจรูญ บุญวงศ์ จำนวน 6 ไร่ บ้านพักมั่นคงถาวร 1 7.ป่าซับบอน ของ นายจรัญ ดวงกระโทก จำนวน 1 ไร่ สร้างเป็นบ้านพักมั่นคงถาวร 1 หลัง 8. ป่าซับบอน ของ นายบัญชา เล็กเจริญสุข จำนวน 7 ไร่ สร้างเป็นบ้านพักมั่นคงถาวร 1 หลัง 9. ป่าซับบอน ของ นายธานินทร์ กฤษณีไพบูลย์ จำนวน 7 ไร่ บ้านพักมั่นคงถาวร 1 หลัง และ 10.ในพื้นที่ป่าซับบอนเช่นกัน ของ นางสุภาพร เกตุวิทยการ จำนวน 5 ไร่ สร้างเป็นบ้านพักมั่นคงถาวร 2 หลัง

ส่วนอีก 10 ราย ในเขต อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะให้ดำเนินการติดป้ายพร้อมกันได้ในวันนี้ ต้องเลื่อนออกไปเป็นวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) เนื่องจากมีคณะ กอ.รมน. เดินทางลงพื้นที่เพื่อรับทราบข้อมูล เจ้าหน้าที่จึงลงปฏิบัติหน้าที่ไม่ทัน จำเป็นต้องเลื่อนออกไป

ด้าน นายพงษ์เทพ มาลาชาสิงห์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับบ้านพักรีสอร์ตที่ตั้งอยู่ในเขตป่าต่างๆ อย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ ทางผู้ประกอบการได้มาประชุมหารือกันบ่อยครั้ง ขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยวใน อ.วังน้ำเขียว ได้รับผลกระทบอย่างมาก ผู้ประกอบการโรงแรมรีสอร์ตหลายแห่งจ่อเจ๊ง หรือต้องเลิกกิจการในเร็ววันนี้ เนื่องจากไม่มีลูกค้านักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพัก และธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เช่น สินค้าที่ระลึกของฝาก ผักผลไม้ที่เคยส่งมาขายให้นักท่องเที่ยวขณะนี้ก็ขายไม่ออก ทำให้ชาวบ้านเกษตรกรขาดรายได้

ที่สำคัญ ลูกจ้างในโรงแรมรีสอร์ต ที่มีกว่า 500 แห่ง รวมห้องพักกว่า 10,000 ห้อง ใน อ.วังน้ำเขียว เกิดการจ้างแรงงานท้องถิ่น 4,000-5,000 คน กำลังจะตกงาน เนื่องจากผู้ประกอบการทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวเพราะรายได้ไม่ได้มีเข้ามาเล จึงจำเป็นต้องปลดพนักงานออกไปแล ปัญหาอื่นๆ ก็จะตามมาอีก

“ผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยวเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย สิ่งที่ไม่ถูกต้องดำเนินการตามกฎหมายไป แต่ทางรัฐเองควรเห็นใจผู้ประกอบการบ้าง เพราะชาวบ้านที่วังน้ำเขียวจะย้อนกลับไปทำอาชีพเกษตรกรรมเหมือนเมื่อก่อนคงไม่มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว แรงงานต้องอพยพไปหางานทำที่อื่น ฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ ควรมีการจัดโซนนิงให้ชัดเจน ว่า พื้นที่ใดเป็นป่า เป็นที่พักรีสอร์ต เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเรื่องนี้ต้องมานั่งคุยกันกับคนในพื้นที่เพื่อร่วมกันหาทางออก” นายพงษ์เทพ กล่าว

เมื่อ เวลา 17.00 น.วันเดียวกันนี้ (3 ส.ค.) ที่บริเวณลานหน้าตลาดศาลเจ้าพ่อ กม. 79 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กลุ่มผู้นำชุมชน นำโดย นายสมศักดิ์ โจทย์กลาง กำนันตำบลวังหมี อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นชาวบ้านในกลุ่มของ นายประนอม โพธิ์คำ ส.ส. นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งมีชื่อของลูกสาวเป็นเจ้าของ “โกลด์เมาท์เท่น วังน้ำเขียวรีสอร์ท” รีสอร์ตหรูขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 500-600 ไร่ ในเขตป่า ส.ป.ก.ได้เปิดเวทีปราศรัยต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 เพื่อชี้แจงให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว และ เป็นการแสดงพลังต่อต้านการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ที่ใช้กฎหมายเข้าจัดการกับชาวบ้านและผู้ประกอบการที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาดรุนแรง และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ป่าในปัจจุบัน

นายสมศักดิ์ โจทย์กลาง กำนันตำบลวังหมี อ.วังน้ำเขียว กล่าวว่า การจัดเวทีปราศรัยดังกล่าวเพื่อต้องการแสดงพลังของชาว อ.วังน้ำเขียว ว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มาไล่จับชาวบ้าน และเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านซึ่งขณะนี้ทุกคนมีความหวาดระแวงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีไล่รื้อถอน ซึ่งมีประชาชนชาว อ.วังน้ำเขียว เข้าร่วมชุมนุมกว่า 1,000 คน

“จากนี้ไปจะมีการหารือเพื่อกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวใหญ่ต่อไป หากรัฐยังนิ่งเฉยไม่ลงมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันกับชาวบ้านเราก็ต้องแสดงพลังให้ทุกฝ่ายได้รับรู้” นายสมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 4-5 ส.ค.นี้ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และคณะ มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกป่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง, เขตอุทยานแห่งชาติทับลานและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ที่กรมป่าไม้มอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยวันที่ 4 ส.ค.เวลา 14.30-16.30 น.จะลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพการบุกรุกป่าสงวนฯ, ป่าอุทยานฯ และ ส.ป.ก.ในเขต ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว และ วันที่ 5 ส.ค.เวลา 09.00-12.00 น.เข้ารับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกป่า อ.วังน้ำเขียว ที่ สวนลุงโชค บ.คลองทุเรียน ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชน และผู้แทนภาคประชาชน


นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8
นายเทวินทร์  มีทรัพย์  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน
กำลังโหลดความคิดเห็น