xs
xsm
sm
md
lg

‘วังน้ำเขียว’ เด็ดรีสอร์ตผิดกฎหมาย สะเทือนถึงเกษตรกรพื้นถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางสังคมที่ทันสมัยและแสนจะสับสนวุ่นวาย ซึ่งหลายๆ คนอยากจะกลับไปใกล้ชิดกับธรรมชาติ นั่นทำให้ความนิยมในการไปเที่ยวป่าเขาลำเนาไพร กลายเป็นเทรนด์ที่คนเมืองนิยมชมชอบ

ก็สูดควันพิษกันมาเป็นเดือนเป็นปี นานๆ ทีก็อยากจะไปสูดโอโซน สูดอากาศดีๆ กับเขาบ้าง

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อำเภอเล็กๆ ในจังหวัดนครราชสีมาอย่าง 'วังน้ำเขียว' โด่งดังขึ้นมาในฐานะของแหล่งท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะมีธรรมชาติสวยงามและอากาศที่ดีแล้ว มันยังไม่ไกลจากเมืองกรุงเท่าใดนัก

แต่ถึงแม้จะอยากใกล้ชิดธรรมชาติเพียงใด คนเมืองก็ไม่อาจจะละทิ้งความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตลงไป นั่นทำให้มีรีสอร์ตหรูถือกำเนิดขึ้นในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้นับสิบๆ แห่ง เพื่อรองรับการไปเยือนของนักท่องเที่ยวที่ถวิลหาธรรมชาติแต่ไม่อาจละทิ้งความสะดวกสบาย

มันก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร ถ้ารีสอร์ตเหล่านั้น ไม่ได้ไปผุดอยู่บนพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งล่าสุดมีข่าวคราวออกมาว่า มีรีสอร์ตที่สร้างบนพื้นที่ของอทุยานแห่งชาติทับลานกว่า 40 แห่ง และทั้งหมดก็จะต้องรื้อถอนออกไปโดยเร็ว

ในปัจจุบันข้อพิพาทเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งยังไม่มีผลสรุปออกมาว่า ใครผิดใครถูก

แต่ข่าวคราวที่ออกมานั้น ก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไปเสียแล้ว มาถึงตอนนี้นักท่องเที่ยวหลายรายที่มีแผนจะเดินทางไปวังน้ำเขียว ก็กลับล้มเลิกแผน ซึ่งไม่เพียงแต่นายทุนเจ้าของรีสอร์ตเท่านั้นที่อ่วมจากผลกระทบด้านรายได้

แต่กับชาวบ้านในพื้นที่ที่ทำมาหากินกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็โดนไปไม่ใช่น้อย แม้ว่าชาวบ้านเหล่านั้นจะประกอบกิจการบนผืนดินของตนเอง และไม่เคยบุกรุกป่าสงวนแม้แต่ตะรางนิ้วเดียวก็ตาม

กำเนิด ‘สวิตเซอร์แลนด์แดนอีสาน’

อำเภอวังน้ำเขียว ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งตากอากาศยอดนิยมของคนเมืองในปัจจุบัน เดิมทีเป็นเพียงตำบลหนึ่งในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะมารวมตัวกับตำบลวังหมี ตำบลอุดมทรัพย์ และตำบลระเริง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอในปี 2535 หลังจากนั้นไม่นานก็ตั้งตำบลไทยสามัคคีขึ้นมาเพิ่มเติม ต่อมาก็ยกระดับเป็นอำเภอในปี 2539

และสาเหตุที่เรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า วังน้ำเขียว นั้น ว่ากันว่าเป็นเพราะภูมิประเทศในแถบนี้มีวังน้ำที่ใสงดงามเป็นธรรมชาติ มีน้ำใสจนมองเห็นเงาสะท้อนสีเขียวของต้นไม้นั่นเอง

ซึ่งถ้ามองย้อนไปเมื่อสัก 30 - 40 ปีก่อน ในสมัยที่ภาครัฐยังต้องต่อกรกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พื้นที่แห่งนี้ นับได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงจัด ซึ่งเต็มไปด้วยกองกำลังจัดตั้งและแนวร่วมของ พคท. ซึ่งเป็นไปตามยุทธวิธีแบบ 'ป่าล้อมเมือง'

แน่นอนว่าในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถเฉียดกรายเข้าไปยังพื้นที่แห่งนี้ได้เลย แต่หลังจากการคืนเมืองของเหล่านักรบประชาชนเนื่องจากนโยบาย 66/23 ความแดงของพื้นที่ก็ค่อยๆ ซีดจางลงตามลำดับ นักรบหลายคนได้ออกจากป่า กลับกลายเป็นเกษตรกรที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่แถบนั้น

ต่อมาหลังจากที่มีการยกระดับขึ้นเป็นอำเภอ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในวังน้ำเขียวก็ถือกำเนิดขึ้น ทั้งจากการผลักดันของรัฐ และปัจจัยของอุปสงค์และอุปทานตามธรรมชาติ นั่นก็เพราะสภาพอากาศที่เย็นสบายเกือบทั้งปี ฝนชุก มีหมอกมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงมีความงดงามจนได้รับฉายาจากคนที่มาเยือนว่าเป็น 'สวิตเซอร์แลนด์แดนอีสาน' แถมยังได้รับการประกาศว่า เป็นพื้นที่ที่มีโอโซนสูงและเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลกซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเชียในขณะนั้น (ประกาศโดย UNESCO ภายใต้โครงการMan and Biosphere Program หรือ MBP โดยทำการวัดที่สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชในปี 2519)

ปัจจุบันอำเภอวังน้ำเขียวมีทั้งหมด 5 ตำบล คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมานับว่า บูมถึงขีดสุด

แต่หลังจากที่มีข่าวคราวของการบุกรุกพื้นที่ป่าของรีสอร์ตบางแห่ง ก็ดูเหมือนว่าการท่องเที่ยวของวังน้ำเขียวที่เคยเฟื่องฟูก็ซบเซาลงไปทันตาเห็น

‘วังน้ำเขียวโดมิโน‘ กิจการน้ำดีก็มีโดนหางเลข

แม้ในช่วงนี้โดยปกติแล้วนับเป็นช่วงโลว์ ซีซัน ของการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เพราะเป็นช่วงฤดูฝน แต่ในปีก่อนๆ คนต่างถิ่นที่เดินทางมาเที่ยวในช่วงนี้ก็มีมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด นั่นชี้ให้เห็นว่า ข่าวเรื่องการบุกรุกป่าสงวนนั้นส่งผลต่อการท่องเที่ยวของวังน้ำเขียวดูซบเซาลงจริงๆ โดย บุญยาพร สารี เจ้าของกิจการโฮมเสตย์และเจ้าของไร่องุ่นกว่า 20 ไร่ ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้บ้านพักของตนก็ยังไม่มีคนมาเข้าพักเลย รวมทั้งที่พักของเพื่อนๆ ก็เช่นเดียวกัน ไม่ค่อยมีแขก ส่วนที่มีแขกจองไว้ก็มีการโทร.ยกเลิกกันหมด

“ที่พักของเราก็ไม่มีคนเข้าพัก ที่อื่นๆ ที่พอรู้จักก็บ่นกันว่ามีแต่คนโทร.มายกเลิก บอกว่าไม่มาแล้ว เราก็ยัง งง ว่ามันเกี่ยวอะไรกัน เพราะกิจการของเราเป็นพื้นที่มีโฉนด สร้างบนที่ดินของตัวเองเป็นที่พักเชิงธรรมชาติไม่ได้ไปทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย แต่พอมีข่าวออกมา เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขากลัวอะไรกัน

“ตอนนี้เราก็ไม่รู้จะทำยังไงจะมีคนมาเที่ยวเยอะเหมือนแต่ก่อนอีกไหม ไม่รู้จริงๆ ว่าถ้าไม่มีคนมาเที่ยวจะทำอย่างไร ถ้าเขายึดพื้นที่รีสอร์ตจริงๆ การท่องเที่ยววังน้ำเขียวคงไม่มีคนมา เพราะที่ที่โดนยึดก็เยอะอยู่เหมือนกัน ถ้ายึดไปเราก็ไม่รู้จะไปขายของหรือทำบ้านพักให้ใคร เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านก็เป็นพวกแม่ค้า แม่ขาย แล้วก็มีที่ทำผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เช่น ปลูกผัก ทำแหนมเห็ด เขาก็ต้องกระทบไปหมดแหละ เพราะขายของได้น้อยลง นอกจากนี้ก็ยังกระทบไปถึงชาวบ้านที่เขาทำงานในรีสอร์ท เพราะคนงานในรีสอร์ตใหญ่ๆ พนักงานก็เป็นคนในหมู่บ้านกันทั้งนั้น ถ้าเกิดยึดรีสอร์ตเขาก็ต้องตกงาน”

นอกจากนี้แล้ว บุญยาพร ยังให้ความเห็นต่อว่า ถ้าหากขาดนักท่องเที่ยวแล้ว ไร่องุ่นของตัวเองที่มีก็ต้องได้รับผลกระทบ ซึ่งตอนนี้องุ่นก็กำลังจะออกแล้ว

เช่นเดียวกับ ไกร ชมน้อย ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักไร้สารพิษของอำเภอวังน้ำเขียว บอกว่า ถ้าไม่มีคนมาเที่ยวแบบนี้โครงการทำเกษตรไร้สารพิษที่ทุ่มเทแรงใจทำขึ้นมาคงจะลำบาก

“เราพัฒนาภาคการเกษตรที่เรียกว่า ‘เกษตรอินทรีย์’ ขึ้นมา ซึ่งการจะปรับเปลี่ยนชาวบ้านต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ตอนนี้ผมต้องจ่ายค่าแรงคนงานประมาณ 1,500 บาท/วัน ถ้าผมขายผักได้ต่ำกว่า 100 กก./วัน เราตายเลย มันมีเรื่องของต้นทุนการผลิต ค่าแรง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ตอนนี้ภาพข่าวที่ออกไปมันทำให้เราเครียด เพราะเราไม่ได้ตัวคนเดียว ต้องพึ่งพาทั้งระบบ ทั้งอำเภอ เมื่อผักขายไม่ได้เลยแล้วพี่น้องผมจะทำอย่างไร ผมคือรากหญ้าในการช่วยพัฒนา ตอนนี้รายได้ 3,000 บาท/วัน ยังไม่ได้เลย ถ้าวันไหนขายได้ต่ำกว่า 6,000 บาท ก็จะเข้าเนื้อตัวเอง 500 บาท ถ้าขายผักอยู่ไม่ได้ แล้วอย่างนี้พวกปลูกมัน ปลูกข้าวโพดจะอยู่ได้ยังไง แม้แต่สวนองุ่นในวังน้ำเขียวก็ยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเหมือนกัน

“ภาพทางอ้อมที่มันสะเทือนคือผู้บริโภคมันไม่มี ไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก แต่ส่วนของรากหญ้าอย่างเราสะเทือนแน่ มันกระทบต่อชาวบ้านวังน้ำเขียวเพราะส่วนใหญ่ทำการเกษตรกันทั้งนั้น มันกระทบระบบลูกโซ่ทั้งหมด ผมจะอยู่ได้เพราะผู้บริโภค เราทำเอง ขายเองในพื้นที่ เป็นศูนย์แหล่งเรียนรู้สำหรับภาคอื่นให้เข้ามาดูงาน เราให้วิธีคิดเพื่อการปรับเปลี่ยน แต่วันนี้เรื่องของรายได้การเกษตร เป็นสิ่งแรกที่ร่วงลงก่อน เราทำมา 20 ปี ไม่เคยหยุดสักวันเดียว ขายเองในพื้นที่ พอผลเป็นอย่างนี้จึงทำให้ภาคการผลิตตกไปด้วย นอกจากพืชผักแล้ว วังน้ำเขียวยังมีกลุ่มแปรรูปเห็ดหอม ผลไม้ บางคนทำเองส่งเอง และหลายคนก็ยังแบกรับภาระกันอยู่ ช่วงหน้าหนาวซึ่งเป็น ไฮ ซีซัน ยังคงเป็นความหวังอย่างหนึ่งสำหรับภาคการเกษตรต่อไป แต่นั่นก็อีก 4 เดือนข้างหน้า แต่ตอนนี้เราจะอยู่อย่างไร”

นาทีทองของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ถึงแม้ว่าการเข้ามาจัดการบรรดารีสอร์ตของนายทุนขาใหญ่ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยววังน้ำเขียวและสร้างความลำบากให้แก่ผู้ประกอบการน้ำดีอยู่บ้างใน แง่ของจำนวนคนที่มาเยือน แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในวังน้ำเขียวเดินหน้าไปอย่างเต็มรูปแบบและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวว่าทิศทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในประเทศไทยนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการขยายตัวอย่างช้าๆ

“การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมันอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง เพราะว่ามันอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวนำเป็นแหล่งท่องเที่ยว โอกาสของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจึงขยายตัวได้มากกว่า ถ้าดูทางด้านซัปพลาย กับดีมานด์ ความต้องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นตัวนำของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจะเป็นกลุ่ม เยอรมัน สแกนดิเนเวีย ส่วนคนไทยนั้นถือว่าเพิ่งเป็นการเริ่มต้น”

แต่ลักษณะของการท่องเที่ยวในวังน้ำเขียวนั้นมีทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศผสมผสานกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งอันที่จริงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรก็คือภาคการท่องเที่ยวที่แยกย่อยมาจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แต่จะต่างกันก็ในเรื่องการบริหารจัดการ

“ส่วนการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มันจำเป็นต้องบริหารจัดการและมีการลงทุนด้วย มันไม่ใช่เอาวิถีชีวิตปกติของคนไทยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียน รู้ประสบการณ์ ถ้าเป็นท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะไปดูกิจกรรมในฟาร์ม ในไร่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรมันเป็นสับเซตของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเสียมากกว่า”

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค ยังกล่าวต่อไปอีกว่า การเข้ามาจัดการนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ป่าของทางภาครัฐนั้น จะทำให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอำเภอวังน้ำเขียวจึงเสมือนเป็นช่วงนาทีทอง เพราะนักท่องเที่ยวจำนวนมากคงเบนเข็มจากการเข้าพักผ่อนตามรีสอร์ตต่างๆ มุ่งหากิจกรรมอื่นๆ แทน

“ถ้าพื้นที่ของผู้ประกอบการเขาได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ไม่สะเทือนอยู่แล้ว เพราะว่ายังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปวังน้ำเขียวอยู่ เนื่องจากรีสอร์ตที่บุกรุกก็ได้ถูกปิดถูกดำเนินคดีไป ฉะนั้นนักท่องเที่ยวก็จะเลือกไปแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบอื่นๆ ดีกว่า เพราะว่ายังไงก็มีกิจกรรมให้ทำระหว่างอยู่ที่วังน้ำเขียว มันจะเป็นการปรับสภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในวังน้ำเขียวเอง”

ในประเด็นที่ว่าเมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น นักท่องเที่ยวจะยังไปเที่ยวหรือไม่ ดารุณี ขันตีกุล พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ไปเที่ยวที่วังน้ำเขียวอยู่เป็นประจำกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะไม่ใช่คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นแค่นักท่องเที่ยวคนหนึ่ง เมื่อเกิดข่าวแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้กลัวจนไม่อยากไปเที่ยวที่วังน้ำเขียวอีก ก็จะยังไปเที่ยวได้ตามปกติ

“เคยไปเที่ยวที่วังน้ำเขียวอยู่บ่อยๆ ถ้ามีโอกาสช่วงวันหยุดก็จะไปเที่ยวกับครอบครัว เหมือนเป็นการชาร์จแบตฯ ให้แก่ตัวเอง อีกอย่างธรรมชาติที่นั่นสวยงามดี โอบล้อมไปด้วยภูเขาเล็กๆ อากาศเย็นสบาย ทุกอย่างยังดูเป็นธรรมชาติ เหมาะแก่การไปพักผ่อนมากๆ”
..........

ดังนั้น แม้ในระยะสั้นกิจการน้ำดีในวังน้ำเขียวจะได้รับผลกระทบในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปอยู่บ้าง แต่ในระยะยาวแล้วการจากล้มหายตายจากไปของนักลงทุนขาใหญ่ในพื้นที่ อาจจะทำให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงเกษตรแท้ๆ ในวังน้ำเขียวรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน

ที่สำคัญ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาก็จะหมดไป และก้าวเข้าสู่ยุคของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างเต็มภาคภูมิ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของกิจการน้ำดีทั้งหลายอยู่รอดและไม่หมดลมหายใจไปเสียก่อน

>>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น