xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูฯ พิจิตร เปิดหลักสูตรทำนา 1 ไร่ได้ 1 แสน ฟื้นชีวิตลูกหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - กองทุนฟื้นฟูฯ เมืองชาละวัน เดินหน้าเปิดหลักสูตรทำนา 1 ไร่ได้ 1 แสน หลังช่วยปลดหนี้เกษตรกรได้กว่า 300 ราย

นายบุญเศรษฐ์ มานะดี รักษาการหัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการเกษตรสาขาจังหวัดพิจิตร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานของกองทุนฯ ว่า ขณะนี้ได้ทำการช่วยปลดหนี้สินเกษตรกรที่นำที่ดินไปจดจำนองกับสถาบันการเงิน หนี้สินองค์กรต่างๆ และเป็นหนี้ NPL ที่ได้ขอเข้าโครงการแล้วเกือบ 300 ราย ซึ่งแต่ละรายมีหนี้สินตั้งแต่ 4 หมื่นบาท จนสูงสุดเกือบ 1 ล้านบาท

โดยทุกรายต่างเอาที่นาไปจำนองธนาคารและนายทุน หมดปัญญาส่งต้นส่งดอกจนกลายเป็นดินพอกหางหมูเกือบ 10 ปี จนถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ และจะโดนยึดที่ดินขายทอดตลาด เพราะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ พืชผลขายไม่ได้ราคา ขายข้าวแล้วถูกโรงสีโกง โรคแมลงศัตรูพืชระบาดหลายครั้งหลายครา บางรายก็เอานาไปจำนองกู้เงินไปทำงานต่างประเทศแล้วก็ถูกต้มตุ๋น จนก่อหนี้สินล้นพ้นตัว

“หลังจากกองทุนฯ เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้เกษตรกรเหล่านี้มีความหวังจะสู้ชีวิตอีกครั้ง”

นอกจากนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ พิจิตร ยังได้ร่วมกันกับปราชญ์ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจัดอบรมเปิดหลักสูตรทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน โดยใช้วิธีการปฏิบัติจริง ซึ่งใช้ธรรมชาติและท้องทุ่งนาเป็นห้องเรียน โดยจัดการเข้าอบรมครั้งนี้ 3 วัน 2 คืน รุ่นละ 60-70 คน โดยหวังว่าผลที่ได้รับจะทำให้กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการทำอาชีพการเกษตร ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงต่อไป

กล่าวคือ ในแปลงนา 1 ไร่ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นคันนากว้าง 1-1.5 เมตร ไว้สำหรับปลูกพืช เช่น มะรุม พริกขี้หนู ตะไคร้ มะนาว หรือปลูกผักสวนครัวที่กินได้ พื้นที่ปลูกบนคันนาจะเป็นพืชที่เกษตรกรสามารถเก็บกินได้ไม่ต้องซื้อถ้าเหลือก็สามารถนำไปขาย ทำพืชสมุนไพรใช้ป้องกันศัตรูพืช

พื้นที่ส่วนที่ 2 คือร่องน้ำ ขุดร่องน้ำโดยรอบแปลงนาขนาดกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร สำหรับทำประมง เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงหอย เลี้ยงกุ้ง และล้อมด้วยผ้าพลาสติกมุ้งสีฟ้ารอบขอบหัวคันนา เพื่อป้องกันกบกระโดดออกนอกแปลงนา ซึ่งมูลสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นปุ๋ยให้กับต้นข้าวในนาต่อไป

พื้นที่ส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่นาก็จะปลูกข้าวหอมมะลิและเลี้ยงสัตว์เสริมบริเวณหัวคันนา เช่น เลี้ยงเป็ดไข่ ซึ่งจะปล่อยเป็ดให้ไปหาอาหารตามแปลงนา ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ให้คุ้มค่าทุกตารางนิ้ว ก็จะสามารถปลูกข้าวหอมมะลิได้มากกว่า 7 พันกอ ถ้าดูแลใส่ใจอย่างดีเกี่ยวข้าวขายได้แน่นอน 1 ตัน (18,000-20,000 บาท) แต่ถ้าเอาไปเพิ่มมูลค่าด้วยการนำไปสีเป็นข้าวกล้อง ก็จะได้มากกว่า 2 หมื่นบาทเพิ่มขึ้นไปอีก

ส่วนในคูน้ำที่ลึก 1 เมตร กว้าง 1 เมตร โดยรอบขอบนา 1 ไร่ เลี้ยงปลากินเนื้อ เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยได้ถึง 5 พันตัว จะมีรายได้ในช่วงจับปลาขายได้เงินหลักหมื่น และช่วงที่ปลาดุกบิ๊กอุยอยู่ในนาถ้ามีหอยเชอรี่ระบาด ปลาดุกบิ๊กอุยเหล่านี้ก็จะกินไข่หอยเชอรี่ได้อย่างราบคาบ ประหยัดยาฆ่าหอยได้อีกหลายร้อยบาท แถมขี้ปลาดุกบิ๊กอุยก็ยังเป็นปุ๋ยสำหรับต้นข้าว นอกจากนี้ภายในบ่อก็ปล่อยปลาที่กินพืช เช่นปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน รวมถึงกุ้งฝอยเอาไว้กินขี้ปลาอีกทอดหนึ่ง เลี้ยงหอยขมอีก 10 กก. ให้เอาไว้กินขี้กุ้งและทำความสะอาดพื้นคูนารวมถึงปล่อยกบอีก 2 พันตัวให้อยู่รวมกันเป็นวงจรห่วงโซ่ชีวิต พอถึงเวลาทุกอย่างก็ขายได้ ทำเช่นนี้แล้วเพิ่มความขยัน 1 ไร่ต้องได้ 1 แสน อย่างแน่นอน

ขณะที่บนหัวคันนาที่เลี้ยงเป็ดไข่จำนวน 50 ตัว ให้ไข่เฉลี่ยวันละ 35-45 ฟอง 120 วันได้ไข่ 4,800 ฟอง ก็เป็นรายได้เสริมค่ากับข้าว เพิ่มให้ชาวนาได้อีก

“นี่คือหลักสูตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงที่ถ้าใครปฏิบัติได้อย่างแท้จริงชาตินี้ก็จะไม่มีคำว่ายากจน ถึงแม้จะมีที่เพียงแค่ 1 ไร่ก็ตาม”

นายบุญเศรษฐ์บอกอีกว่า ในการอบรมยังมีการให้ความรู้ 108 อาชีพ เพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้มีความรู้ติดตัวในการทำมาหากินและมีเงินไถ่คืนที่ดินที่กองทุนฟื้นฟูช่วยเหลือลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่ง แต่ต้องผ่อนชำระให้แล้วสิ้นภายใน 15 ปีตามสัญญา ก็จะได้สิทธิกลับมาครองครองที่ดินของตนให้เป็นมรดกสืบทอดถึงลูกหลาน

นางไสว หลังกล่ำ อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 168/1 บ้านวังกระดี่ทอง หมู่ 4 ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าอบรมเล่าว่า มีที่นา 8 ไร่ แต่เป็นหนี้ ธ.ก.ส.เป็นจำนวนเงิน 2 แสนกว่าบาท หมดปัญญาใช้หนี้ จึงขายนาไป 4 ไร่ ตัดดอกตัดต้นไปได้ 8 หมื่นบาท ยังคงค้างอีก 1.2 แสนบาท และเข้าร่วมโครงการกองทุนฟื้นฟูจึงมั่นใจว่าจะนำวิชาไปใช้ในการประกอบอาชีพชาวนา โดยจะทำนา 4 ไร่ที่เหลือให้มีเงินแสน และเก็บที่นาไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลาน

เช่นเดียวกับนายสำราญ พรหมอินทร์ อายุ 81 ปี อยู่บ้านเลขที่ 48 บ้านป่ารวกน้อย หมู่ 10 ตำบลวังหลุม อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร เป็นหนี้ ธ.ก.ส. 5 หมื่นบาท เพราะไปค้ำประกันเพื่อนบ้านแต่เพื่อนบ้านกลับหนี จึงต้องมารับภาระ สุดท้ายจนตรอกไม่มีเงินและไม่มีที่ดินทำกินต้องอาศัยเช่าที่ของเพื่อนบ้าน สมัครเข้าร่วมโครงการกองทุนฟื้นฟูและจะเอาความรู้ไปสู้กับชีวิตที่เคยแร้นแค้นให้กับมาลืมตาอ้าปากอีกครั้ง

ไม่ผิดกับนายเสน่ห์ แซ่ฉั่ว อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 130 บ้านใหม่ดงเจริญ หมู่ 11 ต.วังงิ้ว อ.ดงเจริญ จ.พิจิตร มีที่นา-ที่ไร่ 30 ไร่ เมื่อ 10 ปีก่อน กู้เงิน ธกส.มาทำไร่มันสำปะหลัง-ปลูกข้าวโพด ปลูกมะม่วง เจอราคาตกต่ำภัยพิบัติธรรมชาติ 3 ปีซ้อนจนกลายเป็นหนี้ทบต้นทบดอกรวม 8 แสนบาท สุดท้ายจึงได้ทางออกมาเข้าร่วมอบรมและพักชำระหนี้ตามโครงการของกองทุนฟื้นฟูที่ช่วยยกภูเขาออกจากอกให้ แถมยังติดอาวุธทางปัญญา ทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน ซึ่งจะนำกลับไปใช้และขอสาบานว่าจะเก็บที่ดินผืนสุดท้ายไว้ให้ลูกหลาน และจะเดินตามรอยในหลวงไม่ก่อหนี้ก่อสินอีกต่อไปแล้ว





กำลังโหลดความคิดเห็น