“พล.ต.จำลอง” ยื่นหนังสือ กกต.ขอระงับประกาศผลการเลือกตั้ง ชี้ การเลือกตั้ง 3 ก.ค.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขู่ฟัองศาลปกครองล้มการเลือกตั้ง ชี้ บางพรรคการเมืองประกาศนโยบายผิดกฎหมายเข้าข่ายจูงใจ สัญญาว่าจะให้ จี้เร่งสอบสวนเอาผิด ขณะที่ “แซมดิน” ร้องคัดค้านการประกาศบัญชีรายชื่อเพื่อไทย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (11 ก.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่ม พธม.เข้ายื่นคำร้องขอให้ กกต.ระงับการประกาศผลการเลือกตั้ง และประกาศให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองในแบบบัญชีรายชื่อ เป็นบัตรเสีย มิให้นับเป็นคะแนนในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.
โดย พล.ต.จำลอง กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นไปโดยสุจริต เพราะมีการทุจริตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 ที่ระบุว่า รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกเลือกตั้ง แต่ตนและผู้เสียหายกว่า 2 ล้านคน เสียสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ได้ เนื่องจากเคยลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 ดังนั้น หากในวันที่ 12 ก.ค.นี้ กกต.ยืนยันประกาศผลการเลือกตั้งตนจะไปยื่นฟ้อง กกต.ทั้งคณะต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีกับ 5 กกต.ด้วย
ด้าน นายปานเทพ กล่าวว่า ตามมาตรา 110 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 กำหนดให้ กกต.หากเห็นว่า การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม กกต.สามารถประกาศให้การลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นบัตรเสียทั้งหมดได้ เพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ 4 ประการ ที่อาจนำทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ดังนี้ 1.กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เสียสิทธิเลือกตั้ง กว่า 2 ล้านคน เพราะไม่ได้แจ้งยกเลิกการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดเมื่อปี 2550 เพราะ พล.ต.จำลอง เคยไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.โดยที่ไม่ต้องแจ้งยกเลิกการลงทะเบียน และการเลือกตั้งครั้งนี้เขตเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปแต่ก็ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ถือว่าเป็นสองมาตรฐาน
2.บัตรเลือกตั้งทั้ง 2 แบบมีจำนวนไม่เท่ากันเป็นจำนวนมาก 3.กรณี 5 พรรคการเมืองประกาศนโยบายในลักษณะสัญญาว่าจะให้ซึ่งถือเป็นการจูงใจให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่คิดเป็นเม็ดเงินเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง และ 4.การให้ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีอิทธิพลและสั่งการในพรรคการเมือง เช่น ทักษิณคิดเพื่อไทยทำหรือพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และพรรคพลังชลที่ปล่อยให้ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยเหตุผลดังกล่าวกกต.ไม่ควรที่จะประกาศผลการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งหากกกต.ยืนยันประกาศผลการเลือกตั้งก็อาจจะทำให้ซ้ำรอยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ได้
ขณะที่ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ เลขาธิการพรรเพื่อฟ้าดิน มายื่นต่อ กกต.ในนามผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อฟ้าดิน ขอให้ กกต.งดการรับรองผลการเลือกตั้งบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และดำเนินการยุบพรรค ด้วยเหตุผล ว่า พรรคเพื่อไทยปล่อยให้ผู้มีความผิดอาญาโทษร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคง การก่อการร้าย และความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เป็นผู้สมัครของพรรค มีการร่วมกับกลุ่ม นปช.เสื้อแดงปลุกระดมให้คนมาชุมนุมเพื่อกดดันให้ยุบสภา โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองโฟนอินเข้ามาเกี่ยวข้อง และ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นพี่ชาย นส.ยิ่งลักษณ์ และให้สัมภาษณ์ว่าเป็นโคลนนิ่งของตน ซึ่งสอดคล้องกับการหาเสียงที่ว่า “ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ” แสดงถึงความเกี่ยวข้องทางการเมืองทั้งที่เป็นบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์
ร.ต.แซมดิน ยังกล่าวอีกว่าในกรณีการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงราว 1,000 แห่ง โดยนายดอน ชัยนาปุน ผู้นำกลุ่มเสื้อแดงอุดรให้สัมภาษณ์ยอมรับกับสื่อต่างประเทศนั้น เกิดขึ้นระหว่างมีกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ถือเป็นการใช้อิทธิพลควบคุมการหาเสียงล่วงหน้า นอกวิถีทางในการได้มาซึ่งอำนาจที่บรรญัตติไว้ตามรัฐธรรมนูญและขัด พ.ร.บ.พรรคการเมือง
โดยหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
เรียน คณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้าพเจ้า พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๕ กรุงเทพมหานคร มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ ๕๘๐/๒ ซอยสงวนสุข ถนนพระราม ๕ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๑ ใคร่ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติในมาตรา ๒๓๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเนื่องมาจากการดำเนินการจัดการเลือกตั้งที่ผิดพลาดและมีการกระทำอันทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปทั้งในระบบเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ ๓ กรกฏาคม ๒๕๕๔ มิได้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม และเนื่องด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอข่าวต่อสาธารณะว่าจะดำเนินการประกาศผลการเลือกตั้งภายในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นี้ ข้าพเจ้าขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งระงับการประกาศผลการเลือกตั้งไว้ก่อนและดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นที่ยุติเสียก่อน และดำเนินการประกาศให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองในระบบบัญชีรายชื่อเป็นบัตรเสียมิให้นับเป็นคะแนนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ รวมทั้งคัดค้านการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและขอให้สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
๑.การบริการจัดการเลือกตั้งที่ผิดพลาดทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
๑.๑ การดำเนินการบริหารจัดการเลือกตั้งที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๗๒ วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้เป็นจำนวนมาก
หากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๗๒ วรรคสาม ที่กำหนดหลักการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ประกอบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๑พุทธศักราช ๒๕๕๔ ที่ได้แก้ไขที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และที่มา รวมทั้งกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ โดยแต่เดิมในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๔๘๐ คน มีที่มาจากการเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้ง ๔๐๐ คน และการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ๘๐ คน และมีการแบ่งเขตให้ในระบบเขตเลือกตั้ง ได้ไม่เกินเขตละ ๓ คน ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อให้แบ่งบัญชีรายชื่อเป็น ๘ บัญชี ในแต่ละพรรคและแบ่งเขตเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อออกเป็น ๘ เขตเลือกตั้ง ตามกลุ่มจังหวัดออกเป็น ๘ กลุ่มจังหวัดๆ ละ ๑๐คน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้เปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าวส่งผลต่อจำนวน สมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและจำนวนเขตเลือกตั้ง โดยเปลี่ยนให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๕๐๐คน มีที่มาจากการเลือกตั้งระบบเขตเลือกตั้งจำนวน ๓๗๕ คน และจากการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อจำนวน ๑๒๕ คน โดยมีการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกตั้ง ได้ ๑ คน ต่อเขต และในส่วนสมาชิกในระบบบัญชีรายชื่อได้ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส่งผลให้เขตเลือกตั้งในระบบใหม่มีจำนวนเขตเลือกตั้งในระบบเขตมากขึ้นและมีพื้นที่เล็กลง และเขตเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อใหญ่ขึ้นแต่เหลือเพียงเขตเดียว เท่ากับมีการเปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด ทำให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งเดิมอีกต่อไปโดยผลของการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
เมื่อการเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐาน การตัดสิทธิเลือกตั้งหรือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่การวินิจฉัยของคณะกรรมการเลือกตั้งเกี่ยวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งดังกล่าว ที่วินิจฉัยตามมาตรา 97 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่วินิจฉัยว่าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งต้องกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่ตนได้เคยขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตไว้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ในวันการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้ การวินิจฉัยดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีลักษณะการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปกับการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่างและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะขัดต่อหลักการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตาม มาตรา ๘๒ วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพราะหากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปนั้นต้องให้ประชาชนไปดำเนินการลงทะเบียนขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิเลือกตั้งก่อน รายชื่อจึงจะกลับเข้าไปอยู่ในเขตเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิ แต่ส่วนการเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่างที่เกิดขึ้น เช่น ที่กรุงเทพมหานคร และในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ รายชื่อของผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตได้กลับเข้าไปอยู่ในเขตเลือกตั้งทันทีไม่ต้องมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเกิดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปรากฎว่า รายชื่อของบุคคลดังกล่าวต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตทันที ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค เลือกปฏิบัติ และไม่สม่ำเสมอในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ขัดต่อหลักการที่องค์กรของรัฐทุกองค์กรยึดถือปฏิบัติตามมาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การวินิจฉัยดังกล่าวก่อให้เกิด “ผลประหลาด” ในทางกฎหมายที่บรรพตุลาการและนักนิติศาสตร์ยึดถือว่าต้องห้ามมิให้เกิดผลเช่นนั้น นอกจากนี้หากพิจารณาจำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตและนอกราชอาณาจักรตามที่กล่าวมาข้างต้นที่คาดว่าจะไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะลงทะเบียนไปใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตในปี ๒๕๔๐ จำนวน ๒,๐๙๕,๔๑๐ คน และ ๘๐,๑๖๑ คน ตามลำดับ คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องสืบสวน สอบสวน และวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีนี้เสียก่อน เพื่อตอบต่อประชาชนอย่างถูกต้องว่า มีจำนวนเท่าใดที่มีการขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิ เพราะหากไม่สามารถตอบต่อประชาชนได้ หรือหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีประชาชน จำนวน ๒,๑๗๕,๕๗๑ คน ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ จะส่งผลต่อคะแนนการเลือกตั้งที่มีผู้ลงทะเบียนในหลักหมื่นจนถึงหลักแสนคนในจังหวัดต่างๆ จำนวนไม่น้อยกว่า ๒๑ จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวน ๙๐๓,๘๙๙ คน ซึ่งหากบุคคลเหล่านี้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในทุกเขตอย่างแน่นอนเพราะบางเขตเลือกตั้งมีคะแนนแตกต่างกันไม่มาก และหากพิจารณาถึงจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนเกินหลักหมื่นขึ้นไป จะส่งผลกระทบต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
1.2. จำนวนบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งกับบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้ราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่เท่ากันในหลายจังหวัดส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ตามที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า เกิดปัญหากรณีบัตรเลือกตั้งมีจำนวนไม่เท่ากันระหว่างบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตกับแบบบัญชีรายชื่อที่แตกต่างกันไม่น้อยกว่า ๘๓,๒๒๒ ใบ โดยมีบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมากกว่า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เพราะจำนวนประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่น่าจะแตกต่างกันมาก และมีผลถึง ๕-๖ จังหวัด สะท้อนถึงการการกระทำที่อาจไม่สุจริตที่ทำให้จำนวนบัตรเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อสูงขึ้นเพื่อหวังผลให้ได้รับการเลือกตั้งก็เป็นได้ ส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดโดยพลัน
๒.พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกาคม ๒๕๕๔ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐
นับแต่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ปรากฏการกระทำของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำการอันมีลักษณะ”สัญญาว่าจะให้” ตามมาตรา ๕๓ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่ผู้ใด
(๒) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
(๓) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
(๔) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(๕) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
ความผิดตาม (๑) หรือ (๒) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้
เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา ๕๓(๑)และ (๒) แล้ว ปรากฎการกระทำความผิดในลักษณะ “สัญญาว่าจะให้” ในรูปแบบการกล่าวอ้างว่าเป็นนโยบายในลักษณะประชานิยม ซึ่งที่จริงแล้วการกระทำดังกล่าวไม่เข้าลักษณะของการกำหนดนโยบายแต่ประการใด แต่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะ “สัญญาว่าจะให้” ด้วยเหตุผลว่า
1.คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติ ครั้งที่ ๔๖/๒๕๕๔ วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔วางหลักการเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของกระทรวงทบวงกรม อย่างต่อเนื่อง เช่น นโยบายปฏิรูปการศึกษา นโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ หรือนโยบาย ๖ คุณภาพ สามารถกระทำได้ แต่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องระมัดระวังมิให้มีการกระทำใดที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๘๑ ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อการใดซึ่งส่งผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๑ และมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐
มติดังกล่าวเป็นมติที่แสดงให้เห็นว่าถึงแม้นโยบายที่มีการกำหนดไว้แล้วและถูกนำมาปฏิบัติในระหว่างการเลือกตั้ง หากดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างไม่ระมัดระวังแล้วอาจส่งผลต่อการกระทำการในลักษณะที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ อันแสดงให้เห็นว่าหากการดำเนินการตามนโยบายอาจเข้าข่ายของการกระทำผิดในลักษณะ “สัญญาว่าจะให้” ได้
2.การกำหนดนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะเป็นการให้สิทธิหรือประโยชน์อันสามารถคำนวณได้ในรูปแบบของตัวเงินหรือทรัพย์สินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฉพาะกลุ่ม โดยที่ไม่มีหลักการในทางวิชาการที่จะสนับสนุนว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถกระทำได้หรือสามารถเล็งเห็นได้ว่าการดำเนินการในเรื่องส่งผลกระทบตามความมั่นคงของชาติในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐอย่างร้ายแรง การกำหนดดังกล่าวไม่ใช่การกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารตามกฎหมาย แต่เป็น “สัญญาว่าจะให้” อันเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐
3.การกำหนดนโยบายประชานิยมที่มีลักษณะของการให้ประโยชน์อันสามารถคำนวณเป็นเงินได้ในรูปตัวเงินหรือทรัพย์สิน ในกิจการที่เอกชนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีปัญหาในการแข่งขัน การผูกขาดหรือก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน โดยให้ประโยชน์ในลักษณะสร้างความนิยมจากการให้ โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอในการเข้าไปดำเนินการในกิจการดังกล่าวและหวังเพียงให้เกิดความนิยมในระหว่างการเลือกตั้ง เป็นการนำงบประมาณของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชนไปแจกจ่ายโดยไม่มีสะท้อนต่อประโยชน์ที่ได้รับอย่างคุ้มค่าของผู้เสียภาษีกับผู้รับประโยชน์จากนโยบายที่กำหนดดังกล่าว
4.การกำหนดนโยบายประชานิยมที่เป็นการตั้งมูลค่าของตัวเงินหรือให้ผลประโยชน์อันสามารถคำนวณเป็นเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ประชาชน โดยไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงวิธีการดำเนินการว่าจะกระทำให้ได้ผลตามที่กำหนดหรือไม่
เมื่อประมวลนโยบายที่มีการประกาศจะดำเนินการของพรรคการเมืองตามนโยบายที่ประกาศ และการประกาศในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว พบว่า มีพรรคการเมืองที่มีการประกาศนโยบายในลักษรที่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายในลักษณะ “สัญญาว่าจะให้” อันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะนนให้แก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ดังนี้
(1)พรรคเพื่อไทย หมายเลข ๑
- สร้างคอนโด และแฟล็ตให้คนรุ่นใหม่ หรือคนจากต่างจังหวัดที่ไม่มีที่อยู่ สามารถเช่าในราคาถูก เดินทางถูก ค่าเช่าประมาณเดือนละพันกว่าบาท
- พักหนี้ครัวเรือนที่ต่ำกว่า ๕ แสนบาท อย่างน้อย ๓ ปี
- คืนภาษีและเพิ่มค่าลดหย่อนให้กับผู้ซื้อบ้านหลังแรก โดยลดภาษีให้กับผู้ซื้อบ้านหลังแรก เช่นภาษีค่าโอน และยังเพิ่มค่าลดหย่อนเป็น ๕ แสนบาท
- คืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถคันแรก อย่างเช่น รถราคา ๕ แสนบาท จะได้คืนภาษี ๑ แสนบาท ราคาก็จะเหลือประมาณ ๔ แสนบาท โดยต้องถือครองรถคันนี้ไม่น้อยกว่า ๕ ปี จึงจะขายต่อได้ หากขายต่อภายใน ๕ ปีแรกจะไม่ได้รับคืนภาษี
- ดำเนินการแจกแทบเล็ต พีซี ให้เด็กไปโรงเรียนทุกคน โดยซึ้อแทบเล็ตจากประเทศจีนหรืออินเดียราคาเพียง ๕-๖,๐๐๐ บาท และแจกเพียง ๘๐๐,๐๐๐ เครื่องสำหรับ ป. ๑ เท่านั้น
- โครงการรับจำนำข้าวเปลือกตันละ ๑๕,๐๐๐ บาท และข้าวหอมมะลิตันละ ๒๐,๐๐๐ บาท
(๒) พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน หมายเลข ๒
- ดูกีฬานานาชาติ ถ่ายทอดตลอด ๒๔ ชั่วโมงฟรี
- พัก ลด ปลดหนี้ให้เกษตรกรไทยกรณีที่เกษตรกรมีหนี้สินเกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้พักหนี้เงินต้นในส่วนที่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ ปี โดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรฯ จะรับโอนหนี้สินเกษตรกรที่มีหนี้ไม่เกิน ๓๐๐๐๐๐ บาท ไว้ร้อยละ ๕๐ และส่วนที่เหลือให้เกษตรกรผ่อนชำระ ซึ่งหากชำระได้ตามกำหนดเวลา ส่วนที่กองทุนฟื้นฟูรับโอนหนี้เกษตรกรจะผ่อนชำระคืนให้กองทุนโดยไม่มีดอกเบี้ย- ขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อเกษตรกรเป็น ๒๕๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยให้เป็นวงเงินกับเกษตรกรรายละ ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นทุนสำหรับให้เกษตรกรนำไปซื้อปุ๋ยและสิ่งจำเป็นอื่นๆ ผ่าน
ธ.ก.ส. - พืชพันธุ์ดีแจกฟรีเกษตรกรทั่วไทย พัฒนาสายพันธุ์พืชให้มีความแข็งแรง ทนทาน และจัดให้มีกล้าไม้อย่างเพียงพอพร้อมแจกฟรีให้กับเกษตรกรยากจนทั่วไทย
- เริ่มทำงาน ๕ ปีแรก ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานมีโอกาสออมเงินและตั้งหลักในชีวิต
- แก้หนี้ทั้งในและนอกระบบให้แก่ผู้ใช้แรงงานไทย รัฐจะรับโอนหนี้สินที่ผู้ใช้แรงงานมีหนี้สินเกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้พักหนี้เงินต้นในส่วนที่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ ปี โดยจะจัดให้มีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพแรงงาน ซึ่งกองทุนฯ จะรับโอนหนี้สินแรงงานที่มีหนี้ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ไว้ร้อยละ ๕๐ และส่วนที่เหลือให้แรงงานผ่อนชำระ ซึ่งหากชำระได้ตามกำหนดเวลา ส่วนที่กองทุนฟื้นฟูรับโอนหนี้แรงงานจะผ่อนชำระคืนให้กองทุนโดยไม่มีดอกเบี้ย
- คูปองสุขภาพ ๕,๐๐๐ บาท โดยจัดทำคูปองเล่มละ ๕๐ ใบ ใบละ ๑๐๐ บาท แจกจ่ายให้กับผู้ที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมเพื่อใช้เป็นแรงจูงใจให้แรงงานและเกษตรกรที่ยังไม่อยู่ในระบบใช้เป็นเงินสมทบสำหรับส่งเป็นเงินประกันสังคมรายเดือน โดยให้ผู้ประกันตนใหม่จ่ายสมทบอีก ๕๐ บาทต่อคูปอง ๑ ใบ
- พัก ลด ปลดหนี้ครู ด้วยกองทุนครูพัฒนาชาติ รัฐจะรับโอนหนี้สินให้ครูที่มีหนี้สินเกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้พักหนี้เงินต้นในส่วนที่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ ปี โดยจะจัดเงินสมทบตั้งเป็นกองทุนครูพัฒนาชาติให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งกองทุนฯ จะรับโอนหนี้สินครูที่มีหนี้ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ไว้ร้อยละ ๕๐ และส่วนที่เหลือให้ครูผ่อนชำระ ซึ่งหากชำระได้ตามกำหนดเวลา ส่วนที่กองทุนฯ รับโอนหนี้ ครูจะผ่อนชำระคืนให้กองทุนโดยไม่มีดอกเบี้ย- ปรับสถานะพยาบาลอัตราจ้างเป็นข้าราชการทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่พยาบาล โดยทำการกำหนดอัตราข้าราชการใหม่เพื่อรองรับพนักงานพยาบาลที่สมัครใจจะโอนย้ายมาบรรจุเป็นข้าราชการประจำ จำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ อัตรา
- เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ๒ เท่า จาก ๕๐๐ เป็น ๑,๐๐๐ บาท เนื่องจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดิมไม่สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารได้ไม่น้อยกว่า วันละ ๓๐ บาท จึงเห็นควรให้มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็น ๑,๐๐๐ บาท ต่อเดือน - เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการ ๒ เท่า จาก ๕๐๐ เป็น ๑,๐๐๐ บาท เนื่องจากเบี้ยยังชีพคนพิการเดิมไม่สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน และเพื่อให้คนพิการสามารถมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารได้ไม่น้อยกว่าวันละ ๓๐ บาท- ปรับอัตราค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับอัตราเงินเดือน ค่าตอบแทน และ สวัสดิการ คณะผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐
- ให้เบี้ยสวัสดิการให้กลุ่มคนทำงานอาสาเช่น อสม. อปพร. หมอดินอาสา เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท - ให้ค่าตอบแทนปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน๑,๐๐๐ บาท/เดือน เพื่อส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเพิ่มเงินสนับสนุนในกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัดและ ให้สวัสดิการค่าตอบแทนแก่ปราชญ์ชาวบ้านและศิลปินพื้นบ้านตำบลละ ๑ คนเป็นจำนวน ๑,๐๐๐ บาท/เดือน ตลอดชีพ เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
(๓) พรรคประชาธิปไตยใหม่ หมายเลข ๓
- เรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยสมัครใจ รักษาฟรีทุกโรคทุกที่ ลดหนี้เกษตรกร ส่งแรงงานฟรีไม่มีค่าหัว
(๔) พรรครักประเทศไทย หมายเลข ๕
- หากได้เป็น ส.ส.พร้อมประกาศนโยบายขยายเวลาชดใช้หนี้ กยศ.ออกไป ๕ ปี พร้อมลดดอกเบี้ยให้อีกด้วย
(๕) พรรคพลังชล หมายเลข ๖
- โครงการบัตรสมาร์ทคิด บัตรเครดิตสุขภาพเด็กแรกเกิดถึง ๕ ขวบ ฟรีวัคซีน ฟรีบริการสาธารณสุขมูลฐาน ในอนาคตเติมบริการอื่นๆ ได้
(๖) พรรคดำรงไทย หมายเลข ๘
- ประกันราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำ ตันละ ๑๙,๐๐๐ บาท
(๗) พรรคพลังมวลชน หมายเลข ๙
- เงินยังชีพผู้สูงอายุ ๓,๐๐๐ บาท/เดือน, เงินชดเชยให้คนว่างงาน ๓,๐๐๐ บาท/เดือน, ค่าแรงขั้นต่ำ ๔๐๐ บาท/วัน- ข้าวเปลือกเกวียนละ ๑๖,๐๐๐ บาท
- ให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอย่างน้อย ๑๕ ไร่
- เพิ่มค่าตอบแทน อสม.
(๘) พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข ๑๐ - ค่าไฟฟ้าฟรีไม่เกิน ๙๐ หน่วยต่อเดือน
- เรียนฟรี ๑๕ ปี ตั้งแต่อนุบาลถึง ม.๖ ฟรีค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าชุดนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพ- รถเมล์ สะอาด รวดเร็ว ปลอดภัย บริการฟรีนักเรียน-คนพิการ-ผู้สูงอายุ
- จัดโฉนดชุมชนให้เกษตรกรมีที่ทำกินอีก ๒๕๐,๐๐๐ คน บนที่ดินของรัฐ
(๙) พรรคไทยพอเพียง หมายเลข ๑๑ - จัดให้มีการอบรมปรัชญา “ เศรษฐกิจพอเพียง ” เพื่อนำไปบริหารจัดการครอบครัว ทำมาค้าขาย และธุรกิจ ทั่วประเทศใช้เวลา ๕ วัน เมื่อผ่านการอบรมจะได้ค่าตอบแทนคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท- ผู้ผ่านการอบรมแล้วจะได้เงินทุนหมุนเวียนประกอบอาชีพโดยไม่มีดอกเบี้ยและผู้ค้ำประกัน กลุ่มละไม่เกิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท เฉลี่ยรายละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ทำธุรกิจ รายละ ๕ ล้านบาท
- ปลดหนี้โดยรัฐบาลจะทำการซื้อหนี้ในและนอกระบบของประชาชนทั้งหมดแล้วให้ลูกหนี้มาใช้หนี้ให้กับรัฐบาลเพียงทางเดียว คนมีรายได้น้อยก็ให้พักชำระหนี้หรือประนอมหนี้ตามความเหมาะสม อายุครบ ๖๐ ปียกหนี้ให้ทั้งหมด
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ ได้รับอย่างต่ำเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท
(๑๐) พรรคไทยเป็นสุข หมายเลข ๑๓
-ให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง ๖ ปี เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกินครอบครัวละ ๓ คน - ให้ค่าตอบแทนผู้สูงอายุจาก ๕๐๐ บาท เป็น ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือน
(๑๑) พรรคกิจสังคม หมายเลข ๑๔
- เพิ่มรายได้ให้กลุ่ม อสม. จาก ๖๐๐ เป็น ๑,๐๐๐ บาท
(๑๒) พรรคไทยเป็นไท หมายเลข ๑๕
-ออกกฎหมายปลดหนี้ให้คนไทย หรือออกกฎหมายให้รัฐบาลเป็นผู้รับใช้หนี้แทนคนไทยทั้งประเทศ โดยการโอนหนี้ของคนไทยทุกคนให้ไปเป็นหนี้ของรัฐบาลคนละไม่เกิน ๕ แสนบาท เช่น หนี้ ธ.ก.ส. หนี้สหกรณ์การเกษตร, หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์, หนี้ธนาคารพาณิชย์, หนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้กองทุนกู้ยืมเรียน,หนี้บัตรเครดิต,หนี้ไฟแนนซ์,หนี้นอกระบบต่างๆ ฯลฯ
- จัดตั้งกองทุนสนับสนุนอาชีพเกษตรกร จำนวน ๕ แสนล้านบาท เพื่อการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรไว้บริการในสหกรณ์หมู่บ้าน เช่น รถไถนา รถเกี่ยวข้าว รถบรรทุกผลผลิตการเกษตร และ เป็นเงินทุนในการรวบรวมผลผลิต โกดังเก็บผลผลิต ลานตาก โรงงานปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์
- จัดตั้งกองทุนสนับสนุนธุรกิจในประเทศ ให้บัณฑิตคนไทย และนักธุรกิจคนไทย สนับสนุนให้คนไทยเป็นเจ้าของกิจการ กู้ค้าขาย ปรับปรุงสินค้าและขยายกิจการ จำนวน ๑๐ แสนล้านบาท
- จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการลงทุนต่างประเทศ ให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศเพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ จำนวน ๑๐ แสนล้านบาท
- คนไทยทุกคน ถ้าเกิดเจ็บป่วยรักษาฟรี คนพิการและคนชรามีเงินเดือนเลี้ยงชีพ เดือนละ ๑,๕๐๐ บาท ถ้าตายมีเงินทำศพรายละ ๒ หมื่นบาท และจัดรถยนต์ของมูลนิธิไว้บริการฟรีถึงหมู่บ้านเมื่อคนไทยเจ็บป่วย ตาย หรือมีภารกิจจำเป็นเร่งด่วน- ให้พ่อค้าและนักธุรกิจกู้ยืมเพื่อจัดซื้อผลผลิตจำนวน ๒ แสนล้านบาท
- จัดสรรเงินกองทุนหมู่บ้านๆ ละ ๕ ล้านบาททุกปี ฟรีรัฐบาลไม่เรียกคืนและให้ดำเนินการดังนี้ เงินล้านที่ ๑ จัดทำสหกรณ์ร้านค้าชุมชนทุกหมู่บ้านประชาชนในหมู่บ้านให้ถือหุ้นเท่ากันทุกคน เงินล้านที่ ๒ และเงินล้านที่ ๓ จัดตั้งธนาคารหมู่บ้านให้ชาวบ้านกู้ยืมโดยปลอดดอกเบี้ยยกเว้นกู้ไปค้าขาย หรือชำระหนี้นายทุนเอกชน ต่าง ๆ ไปทำงานต่างประเทศ ผ่อนรถ ผ่อนบ้านให้เสียดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ ๓ บาทต่อปี เงินล้านที่ ๔ กำหนดให้ทุกหมู่บ้านสร้างยุ้งฉาง หรือไซโลไว้เก็บผลผลิตทางการเกษตร โรงสีข้าวและลานตาก และใช้เป็นงบพัฒนา ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โรงเรียน วัด ฯลฯ เงินล้านที่ ๕ จัดเป็นค่าใช้จ่ายเงินเงินเดือนพนักงาน ข้าราชการท้องถิ่น จ้างนักกฎหมาย เป็นทนายความประจำหมู่บ้าน ค่าอาหารของพระสงฆ์และนักบวช จ้างฝ่ายข้อมูล ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ถ้าไม่พอให้ขอจากงบกลาง
- แก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียม โทรศัพท์บ้าน และมือถือ ให้คิดค่าบริการภายในประเทศได้ไม่เกินนาทีละ ๑ บาท- ออกกฎหมายกระจายงาน กระจายเงิน และกระจายอำนาจอย่างเป็นธรรม โดยแต่งตั้งตัวแทนพรรคระดับต่าง ๆ บรรจุเป็นข้าราชการการเมือง โดยมีอำนาจมีเงินเดือนประจำตำแหน่ง ดังนี้ ตัวแทนระดับจังหวัด หรือเขตเลือกตั้ง ได้เงินเดือน ๆ ละ ๑ แสนบาท ตัวแทนระดับอำเภอหรือประธานสาขาพรรคได้เงินเดือนๆ ละ ๕ หมื่นบาท ตัวแทนระดับตำบลหรือกรรมการสาขาได้เงินเดือนๆละ ๓ หมื่นบาท ตัวแทนระดับหมู่บ้านหรือสมาชิกผู้ก่อตั้งสาขาได้เงินเดือนๆละ ๑ หมื่นบาท ตัวแทนระดับคุ้มหรือหัวหน้ากลุ่ม ได้ค่าเงินเดือนๆละ ๕ พันบาท สมาชิกพรรคทั่วไป ได้ปลดหนี้ ไม่เกินคนละ ๕ แสนบาท และได้ค่าตอบแทนและสิทธิพิเศษตามนโยบายพรรคทุกข้อ- กู้เงินซื้อที่อยู่อาศัยได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย และกู้เงินลงทุนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑ บาทต่อปี ให้ใช้บุคคลค้ำประกันเงินกู้
(๑๓) พรรคภูมิใจไทย หมายเลข ๑๖
- ล้างหนี้กองทุนหมู่บ้านทั้งหมด แล้วมาเริ่มต้นบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกันใหม่เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ด้วยการเติมเงินงบประมาณเข้าไปอีก ๘ หมื่นล้านบาท จัดสรรให้กับทุกหมู่บ้าน - ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ๒% - กองทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ผ่าน อปท. จังหวัดละ ๑๐๐ ล้านบาทต่อปี
- กองทุนประกันราคาสินค้าเกษตร ข้าวเปลือกตันละ ๒ หมื่นบาท เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยจะเสนอกฎหมายเพื่อให้มีการจัดตั้งเงินกองทุนไว้จำนวนมากพอต่อการประกันราคาสินค้าเกษตรกร ซึ่งจะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ว่าจะมีการคิดมาเปลี่ยนแปลงแนวทางนี้ไป
(๑๔) พรรคชาติไทยพัฒนา หมายเลข ๒๑ - สนับสนุนเงินลงทุนปัจจัยการผลิตด้านการเกษตร ฟรีดอกเบี้ย
๑ ปี วงเงิน ๕๐๐,๐๐๐ ล้านบาท- จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกร วงเงิน ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท
- ประกันราคาข้าว ข้าวเปลือก ๑๕,๐๐๐ บาท ข้าวหอมมะลิ ๒๐,๐๐๐ บาท
- ช่วยเหลือค่าเช่านา สำหรับผู้เช่านา ไร่ละ ๕๐๐ บาท
- จัดงบประมาณ ปีละ ๔,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับโครงการอาหารกลางวันให้นักเรียนครบตามจำนวน- สนับสนุนค่าตอบแทน อาสาสมัครเกษตร อกม. – อสม. – อปพร. ประจำหมู่บ้าน คนละ ๑,๐๐๐ บาท ต่อเดือน- เพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุ ผู้พิการ ๑,๐๐๐ บาท ต่อคนต่อเดือน
การกระทำดังกล่าวถึงแม้จะเป็นการประกาศเป็นนโยบายและมีการดำเนินการโดยผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั่วประเทศ เป็นการกระทำขยายนโยบายที่เป็น “สัญญาว่าจะให้”ในทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ และเรื่องดังกล่าวได้ปรากฏชัดต่อสาธารณชนอย่างกว้างและปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ จึงมีการกระทำโดยผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองอันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ อย่างกว้างและชัดแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดโดยพลันตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้
๓. การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐
ตามที่มีการพิจารณาและพิพากษาให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองอันเนื่องมาจากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา แต่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีบุคคลซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งบางคนหรือบางกลุ่ม กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๙๗ แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งก่อนและในขณะที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔
“มาตรา ๙๗ ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมาตรา ๔๒ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๒ หรือต้องยุบตามมาตรา ๙๔ ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป จะจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ทั้งนี้ ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นต้องยุบไป”
โดยกระทำการครอบงำในการบริหารและเชิดบุคคลให้เป็นตัวแทนอำพรางการกระทำของบุคคลดังกล่าว และแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบริหารพรรคการเมืองและเข้าจัดตำแหน่งในทางการเมือง อาทิ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ที่แสดงออกในการเข้าครอบงำการบริหารพรรคเพื่อไทยเสมือนเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าว นายบรรหาร ศิลปอาชา แสดงออกในการเข้าครอบงำการบริหารพรรคชาติไทยพัฒนา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แสดงออกในการเข้าครอบงำพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายเนวิน ชิดชอบ เข้าครอบงำการบริหารพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ และระเบียบคณะ
กรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน สอบสวน และวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งระงับการประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดหรือวินิจฉัยการคัดค้านการเลือกตั้งแล้วเสร็จ
2.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดโดยพลัน ในการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และดำเนินการยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าว
3.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดโดยพลัน ในการกระทำเข้ามาบริหารจัดการของผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและยุบพรรคการเมืองที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐
4.ขอคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๘,๒๓๗ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐มาตรา ๕๓(๑),(๒),๑๓๗,๑๕๙,๑๑๐,๑๖๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐มาตรา ๔,๙๔(๑),(๒),(๓) และมาตรา ๑๑๖
จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการโดยด่วน
ขอแสดงความนับถือ
( พลตรี จำลอง ศรีเมือง)
ผู้ร้อง