xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูฯเชียงราย ผวา ธ.ก.ส.แจ้งสิทธิ์โอนหนี้แค่ 475-ยันยอดจริง 2 พันกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯเชียงราย ผวา หลัง ธ.ก.ส.เช็กชื่อโอนหนี้เข้ากองทุนได้เพียง 475 ราย ขณะเครือข่ายพัฒนาการเกษตรฯ กลับถือยอดผู้มีสิทธิ์มากถึง 2 พันกว่าราย หวั่นทำชวดโอกาสโอนหนี้

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า หลังสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินได้เรียกร้องให้รัฐบาลโดยกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าแก้ไขปัญหาของสมาชิกที่เป็นหนี้รวมกันจำนวนมหาศาล และขอให้ ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีลูกค้าเป็นสมาชิกกองทุนฯ ได้จำหน่ายหนี้สินของสมาชิกหลายรายไปให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้นำมาบริหารจัดการตามแนวทางของกองทุนฟื้นฟูฯ นั้น

ล่าสุด สมาชิกได้รับแจ้งว่า ธ.ก.ส.ได้ตรวจสอบแล้วพบมีสมาชิกที่เป็นหนี้ ธ.ก.ส.และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เพียง 475 ราย จากจำนวนที่ทางสมาชิกเคยแจ้งเอาไว้จำนวนมาก

นายวรวิทย์ อยู่วัฒน์ ประธานกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ จ.เชียงราย กล่าวว่าจำนวนสมาชิกที่พวกเรารวบรวมได้ว่าเป็นหนี้สินกับ ธ.ก.ส.และต้องการให้ทาง ธ.ก.ส.โอนหนี้ไปให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ จริงมีอยู่ประมาณ 2,212 ราย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันมากทำให้พวกเรายังคงเดินหน้าเรียกร้อง เพื่อให้มีการนำรายชื่อทั้งหมดเข้าสู่การฟื้นฟูของกองทุนฟื้นฟูฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นก็ขอให้มีการนำรายชื่อที่มีอยู่คือ 475 ราย เข้าสู่กระบวนการนำร่องไปก่อน

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มสมาชิกที่เป็นหนี้สินกับสถาบันการเงินอื่นๆ และเข้าสู่กระบวนการของกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ค่อยๆ ทยอยได้รับการช่วยเหลือแล้วตามลำดับวันละ 50-80 คน ซึ่งก็ถือว่ายังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพวกเราเชื่อว่าแม้จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งกันใหม่หรือเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็จะไม่มีผลต่อการช่วยเหลือดังกล่าว เนื่องจากเป็นหน้าที่ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เป็นการผูกพันการดำเนินการในทุกรัฐบาลอยู่แล้ว

โดยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 ว่า ให้เกษตรกรจำนวน 510,000 รายทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพกับสถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่ง คือ ธ.ก.ส.ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยให้เกษตรกรชำระหนี้เงินต้น 50% ภายใน 15 ปี หากชำระได้ครบตามที่กำหนดก็ให้ตัดส่วนที่เหลืออีก 50% และดอกเบี้ยทั้งหมด

แต่หากยังอยู่ในกระบวนการของสถาบันการเงินทั่วไปตามปกติ หรือแม้แต่สถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง แต่ไม่ได้เข้าสู่โครงการของกองทุนฟื้นฟูฯ หรือไม่ได้เป็นสมาชิกก็จะต้องชดใช้หนี้เต็มอัตราตามที่สถาบันกำหนด ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ถูกฟ้องร้อง บังคับยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ฯลฯ จนเดือดร้อนมามากแล้ว

ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เชียงราย ประมาณ 14,000 คน และได้ผ่านขั้นตอนจนแสดงเจตจำนง รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือแล้วจำนวนประมาณ 3,800 คน รวมมูลค่าหนี้สินทั้งหมดนับหมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น