xs
xsm
sm
md
lg

“เรือนจำเหรียงห้อง” รับรางวัลเศรษฐกิจพอเพียง 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - เรือนจำชั่วคราวเหรียงห้อง จังหวัดตรัง ตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2554 จนประสบผลสำเร็จ ด้วยการนำเนื้อที่ 262 ไร่ มาจัดสรรเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรแบบครบวงจร

นายสง่า ศุภรักษ์ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวเหรียงห้อง จังหวัดตรัง สังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันทางเรือนจำแห่งนี้ มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ 7 นาย โดยมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป หรือเหลือโทษต้องจำคุกต่อไป แต่ไม่เกินระยะเวลา 5 ปี เพื่อดำเนินการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ทั้งการอบรมและการฝึกวิชาชีพด้านการเกษตรโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ เนื่องจากกรมราชทัณฑ์มีนโยบายให้เรือนจำชั่วคราว และทัณฑสถานทั่วประเทศ จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำแนวพระราชดำริตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยกำหนดไว้ 3 มิติ ซึ่งมิติที่ 1 เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตข้าราชการให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง มิติที่ 2 เพื่อการบริหารองค์กรแบบพอเพียง และมิติที่ 3 เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ

เรือนจำชั่วคราวเหรียงห้อง จึงได้นำแนวพระราชดำริตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาสู่การปฏิบัติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ด้วยการนำเนื้อที่ส่วนหนึ่งจากที่มีอยู่ทั้งหมดถึง 262 ไร่ มาจัดสรรเพื่อการใช้ประโยชน์ใน 4 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่ 1 เป็นป่าหวายเศรษฐกิจในสวนยางพารา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยดำเนินการร่วมกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตลดา จำนวน 30 ไร่ ส่วนที่ 2 เป็นป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 12 ไร่ ส่วนที่ 3 เป็นสวนยางพารา จำนวน 174 ไร่ แต่กำลังอยู่ระหว่างการขอทุนปลูกทดแทน จำนวน 42 ไร่ และส่วนที่ 4 เป็นคอกปศุสัตว์ จำนวน 5 ไร่

อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจมากที่สุดจนทำให้ทางเรือนจำได้รับโล่เกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี ประเภทหน่วยงาน/องค์การภาครัฐในส่วนภูมิภาค ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี 2554 ก็คือ การนำพื้นที่ว่างบางส่วน และพื้นที่ในร่องสวนยางพารา จำนวน 5 ไร่เศษ มาดำเนินการใน 5 ด้าน นับตั้งแต่ด้านการเกษตร ด้วยการทำแปลงนาสาธิต การปลูกพืชผักสวนครัวที่ใช้บริโภคในครัวเรือนหลายสิบชนิด เช่น ผักเหมียง มะพร้าว รวมทั้งการเพาะเห็ด และการปลูกพืชตามซุ้มไม้เพื่อความสวยงามและบริโภค

ด้านการประมง มีทั้งการเลี้ยงปลาในบ่อธรรมชาติ การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติกในร่องสวนยางพาราโดยไม่มีการถ่ายน้ำ แต่ใช้จุลินทรีย์ (EM) บำบัดน้ำเสีย ทำให้ปลาไม่มีโรค ผิวสวย และโตเร็ว เช่น ปลาทับทิม ปลาดุก ปลาสวาย ปลาจาระเม็ดน้ำจืด ปลาตะเพียน ปลานิล และกบ เป็นต้น ขณะที่ด้านปศุสัตว์ ก็มีทั้งการเลี้ยงสุกรพันธุ์ เลี้ยงเป็ดไข่ และเลี้ยงแพะพื้นเมือง

สำหรับด้านพลังงาน ทางเรือนจำได้มีการทำเตาเผาถ่านถัง ขนาด 200 ลิตร ทั้งนี้ นอกจากจะได้ถ่านจากไม้มาทำเชื้อเพลิงแล้ว ยังได้น้ำส้มควันไม้มาสกัดเป็นน้ำยาปราบศัตรูพืชอีกด้วย สุดท้ายคือ ด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการทำจุลินทรีย์ (EM) เพื่อนำมาใช้บำบัดน้ำเสีย รักษาสภาพน้ำ กำจัดกลิ่น และตัดวงจรของแมลงประเภทที่วางไข่ รวมทั้งการทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อใช้เป็นปุ๋ยในการบำรุงพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล

ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวเหรียงห้อง ถือเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของสถานศึกษา กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และยังถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมเชิงปฏิบัติการด้วย ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2552 มาจนถึงล่าสุดจะพบว่า มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมแล้วเกือบ 200 คณะ หรือจำนวนกว่า 10,000 คน

ทั้งนี้ ผลของการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวนั้น ได้ส่งผลดีใน 2 ด้าน คือ ด้านข้าราชการ ทำให้มีความรู้และความเข้าใจวิถีชีวิต ในการดำรงตนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ด้านผู้ต้องขัง ทำให้มีความรู้และมีทักษะในด้านอาชีพ สามารถนำไปเป็นแนวทางในการดำรงตน และประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษแล้ว
ผลงานการบริหารและดำเนินวิถีเกษตรแบบพอเพียงของเรือนจำชั่วคราวเหรียงห้อง ทำให้คณะกรรมการต้องมอบรางวัลให้เป็นกำลังใจ



กำลังโหลดความคิดเห็น