xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ไทยเสี่ยง “ล่มสลาย” โพลพบคนไทยเห็นคอร์รัปชันเป็นปกติ-แถมยินดีขายเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “กล้านรงค์” ชี้ไทยเสี่ยงล่มสลาย หลังผลโพลบ่งชัดคนไทยเห็นการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ-ยินดีขายสิทธิในการเลือกตั้ง ป.ป.ช.เร่งสร้างเครือข่ายสื่อภาคเหนือ ร่วมสกัดทุจริตคอร์รัปชัน สร้างสังคมโปร่งใส

วันนี้ (8 มิ.ย.) นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ดำเนินการด้านสื่อสร้างสังคมโปร่งใส ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้ดำเนินการด้านสื่อจากสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จำนวน 150 คน ร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ดำเนินการด้านสื่อกับงาน ป.ป.ช.และนำภารกิจของ ป.ป.ช.ไปเผยแพร่ ให้ความรู้ นำความเข้าใจสู่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่น ร่วมเป็นพลังเครือข่ายอันเข้มแข็งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไม่ยอมรับคนไม่ดี เนื่องจากสื่อนับว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชน

นายกล้านรงค์ ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยมีทุกรูปแบบและมีการพัฒนาเพิ่มความรุนแรง ส่งผลให้ประเทศไทยมีดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นในสายตานานาชาติ ส่งผลให้เสื่อมคุณธรรม จริยธรรม ก่อให้เกิดกระแสบริโภคนิยม วัตถุนิยมและปัจเจกนิยม สร้างสังคมนิยมเงินตรา ประกอบกับประเทศไทยเป็นระบอบอุปถัมภ์ ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข

นอกจากนี้ ล่าสุด ผลโพลสำรวจจากสำนักต่างๆ ระบุชัดว่า คนไทยเห็นการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ ประกอบกับคนดีเริ่มเบื่อหน่าย เหล่านี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการคอร์รัปชันเป็นเครือข่ายมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การล่มสลายของประเทศชาติในที่สุด

“ประชาชนเห็นว่าเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ และยินดีที่จะขายสิทธิในการเลือกตั้ง นับเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในสังคมไทย ที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักและสร้างรากฐาน เปลี่ยนทัศนคติคนใหม่”

นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลของ ป.ป.ช.พบว่า ประเทศไทยมีการคอร์รัปชันร้อยละ 3 และปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การทุจริตได้พัฒนากระบวนการอย่างเป็นระบบ และสื่อนับว่ามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่สร้างกระแสต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันได้เป็นอย่างดี

นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขณะที่คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการรัฐสภา ซึ่งหากพบกระทำผิดร้ายแรงก็จะนำไปสู่กระบวนการถอดถอนต่อไป

ขณะที่ผู้ตรวจการรัฐสภา หากตรวจสอบพบนักการเมืองทำผิดร้ายแรงก็จะพิจารณาส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณา แต่หากการกระทำผิดทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม ก็อยู่ที่หน่วยงานจะพิจารณาลงโทษทางวินัยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น