xs
xsm
sm
md
lg

รมว.เกษตรฯ เปิดประชุมความมั่นคงอาหารโลกเอเชีย-ยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - รมว.เกษตรฯ เปิดประชุมความมั่นคงอาหารภายใต้กรอบความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีตัวแทนประเทศสมาชิกเข้าร่วมกว่า 150 คน ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อกำหนดกรอบแนวทางสร้างความมั่นคงด้านอาหารโลกอย่างยั่งยืน

วันนี้ (9 พ.ค.) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมความมั่นคงอาหารในกรอบความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป หรือ ASEM High-Level Conference on Food Security ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค. 2554 โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องจากภาคการเกษตรและการค้าของประเทศสมาชิกอาเซมเข้าร่วมประชุมประมาณ 150 คน

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์เรื่องความมั่นคงด้านอาหารในกลุ่มประเทศสมาชิก รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้วสู่ประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้เสนอแนวทาง ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือ ด้านความมั่นคงอาหารในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากปฏิญญาเฮลซิงกิ ซึ่งได้มีการบรรจุชื่อประเทศไทยเป็นแกนนำเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เพราะประเทศไทยมีส่วนสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้นทางกระทรวงฯ จึงได้มีการจัดการประชุมนี้เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางในการกำหนดกรอบความร่วมมือเรื่องความมั่นคงด้านอาหารอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญ คือการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ ความมั่นคงด้านอาหารถือเป็นประเด็นท้าทายของประเทศทั่วโลก ที่จะต้องร่วมมือกันดำเนินการและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และในการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีที่หารือร่วมกันใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินการในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก 2.การสร้างความมือในการเข้าถึงอาหารของประชาชนทุกภูมิภาคทั่วโลก และ 3.มาตรการสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืนในระยะยาว

“สถานการณ์ต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร เช่น ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากประชากรที่เพิ่มขึ้น การผันผวนแปรปรวนของสภาพอากาศ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เห็นได้ชัดจากราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 56 ในช่วงระหว่างปี 2549-2551 ทำให้ในโลกนี้มีคนที่ต้องอดอยากและหิวโหยเพิ่มขึ้น

เวทีนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันของแต่ละประเทศสมาชิก โดยอาศัยจุดแข็งของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ขณะที่ประเทศในยุโรปมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิต ก็จะได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ วิธีการปฏิบัติระหว่างกัน นำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่โลกนี้” นายธีระกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น