เอเอฟพี - หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ชี้ เศรษฐกิจแดนมังกรอาจโตแซงหน้ามะกัน กลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก หากยังคงรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8 ต่อปีไว้ได้ในช่วง 20 ปีข้างหน้า
เมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนโตแซงหน้าญี่ปุ่น ครองอันดับ 2 ของโลก และจีนยังตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัวที่ร้อยละ 8 ในปีนี้ และร้อยละ 7 ต่อปีจากปี 2554-2558
นายจัสติน ลิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์กล่าวในเวทีการประชุมด้านเศรษฐกิจว่าการพัฒนาของจีน ซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกงว่า จีนอาจกลายเป็นชาติ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้ภายในปี 2573 โดยถึงตอนนั้น เศรษฐกิจจีนอาจมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถึง 2 เท่าก็เป็นได้ หากเปรียบเทียบจากกำลังซื้อ
นายลินกล่าวว่า จีนเป็นชาติที่โตเร็วที่สุดในโลกในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตต่อปี ที่ “มหัศจรรย์” กล่าวคือร้อยละ 10.4 ต่อปีในช่วงปี 2533-2553 ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากเศรษฐกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชาติอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า การเติบโตนี้อาจมีอุปสรรคจากการฟื้นตัวอย่างอ่อนเนือยของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตการเงิน พร้อมกับเตือนให้รัฐบาลจีนเร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในประเทศ เช่น ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ของประชาชน ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นทุกที
นอกจากนั้น ภาวะโลกร้อนอาจเป็น “ปัญหาท้าทายที่แท้จริง” สำหรับความยั่งยืนในระยะยาวของจีน โดยนายลินเร่งให้จีน ซึ่งเป็นชาติผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่สุดของโลก รีบฉวยโอกาสนี้ ผันตัวเองมาเป็นผู้นำรายใหม่ในด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้เปิดเผยโครงการพัฒนาพลังงานสะอาดหลายโครงการ และสั่งปิดโรงงาน ที่ปล่อยมลพิษเกินกว่าเกณฑ์ ที่กำหนด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนลงร้อยละ 40-45 ภายในปี 2563 จากระดับเมื่อปี 2548
ขณะที่เศรษฐกิจจีนโตถึงร้อยละ 10.3 ในปี2553 อันเป็นย่างก้าวการเติบโตต่อปีที่รวดเร็วที่สุด นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเริ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีนโยบายแตกต่างจากชาติอื่น ๆ ซึ่งพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโต โดยรัฐบาลจีนพยายามชะลอเศรษกิจ และสกัดกั้นการล้นเกินของสภาพคล่อง ซึ่งทำให้เกิดเงินเฟ้อ และราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง