xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สภาอุตฯ กรุงเก่าหวั่นแรงงานภาคอุตสาหกรรมชะงักหลังสึนามิถล่มญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนครศรีอยุธยา - ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่วงสถานการณ์ “สึนามิถล่มญี่ปุ่น” ส่อแววภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดชะงัก เพราะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากที่ต้องนำเข้ามาจากญี่ปุ่น เพื่อประกอบในไทย ชี้หากฟื้นประเทศช้า อาจส่งผลกระทบกับแรงงานไทย

วันนี้ (24 มี.ค.) เวลา 13.30 น. นายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังพยายามหาทางช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่น ในการฟื้นฟูประเทศหลังถูกสึนามิพัดถล่ม โดยล่าสุดสภาอุตสาหกรรมฯได้ร่วมกับชมรมบริหารงานบุคคลอยุ่ระหว่างรวบรวมเงินบริจาคจากบริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดฯ ส่งต่อไปยังจังหวัดฯและรัฐบาล

เนื่องจากบริษัทส่วนใหญที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีนักลงทุนเป็นคนญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด และเมื่อเกิดภัยกับประเทศของพวกเขา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯจึงเป็นตัวประสานในการรับบริจาคเงินส่งไปช่วยเหลือคนญี่ปุ่น โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะทราบความชัดเจนในเรื่องของตัวเงินในการช่วยเหลือญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดฯ

นายทศพลยอมรับว่า หากการฟื้นตัวของประเทศญี่ปุ่นช้า ภาคธุรกิจของไทยอาจมีผลกระทบ เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางส่วนจะต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นแล้วนำมาประกอบในประเทศไทย ซึ่งภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากสึนามิมากพอสมควร และการที่จะบริษัทเหล่านั้นจะผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์จำเป็นที่ต้องใช้เข้ามายังประเทศไทยทำได้ยาก

แต่โชคดีที่บริษัทของชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังมีการสำรองชิ้นส่วอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นไว้ก่อนหน้านี้แล้ว จึงยังไม่ส่งผลกระทบในช่วงนี้แต่ในระยะยาวจะต้องตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวเพิ่มเติมว่า หากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการสำรองไว้ในประเทศไทยหมดลง และเป็นช่วงเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นยังกู้ประเทศได้ช้า อาจทำให้พนักงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นลูกจ้างในบริษัทญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะเมื่ออุปกรณ์ชิ้นส่วนนำเข้ามาประกอบไม่ได้ คนงานที่ปฏิบัติงานอาจจะต้องถูกเลิกจ้าง

“ในเรื่องนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เสนอแผนเบื้องต้นไปยังกระทรวงแรงงานแล้ว หากถึงเวลานั้นอาจจะให้ใช้วิธีชะลอการเลิกจ้าง หรือให้ใช้การจ่ายเงินตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 เพื่อจ่ายค่าจ้าง 75% ของเงินเดือน เป็นการทดแทน”
กำลังโหลดความคิดเห็น