xs
xsm
sm
md
lg

“สินค้าไลฟ์สไตล์ไทย” แนวโน้มยังรุ่ง ชี้ เชียงใหม่-ภาคเหนือ ต้องเน้นเรื่องออกแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกเผยสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นไทย มีแนวโน้มที่ดีในตลาดโลก หลังตัวเลขส่งออกสินค้ากลุ่มนี้เพิ่ม ชี้ เทรนด์โอเรียนทอลเป็นที่นิยม-สินค้าไทยคุณภาพสูง ช่วยหนุนให้ติดตลาด แนะผู้ประกอบการจีน-อินเดีย เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ส่วนเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของประเทศ แต่ย้ำผู้ประกอบการต้องเน้นเรื่องออกแบบ-ศึกษาเทรนด์ไม่ให้สินค้าซ้ำซาก

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวถึงแนวโน้มของสินค้าส่งออกในกลุ่มไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของไทย ในงานนิทรรศการเทรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ซึ่งจัดขึ้น ณ สำนักงานส่งเสริมการส่งออกภาคเหนือ (เชียงใหม่) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า หากพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกในปี 2553 ที่ผ่านมา พบว่า สินค้าในกลุ่มดังกล่าวมีอัตราขยายตัวในการส่งออกมากกว่าร้อยละ 10 ในเกือบทุกรายการ และคาดว่าในปี 2554 ก็จะยังคงอัตราขยายตัวในระดับนี้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลกมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยสินค้าจากประเทศไทยมีพัฒนาการของสินค้าที่ดีจนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ประกอบกับความนิยมของตลาดโลกส่วนใหญ่ให้ความสนใจสินค้าในแนวโอเรียนทอล ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบและแนวทางการผลิตสินค้าของไทย

อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวต่อไปว่า สำหรับตลาดสินค้าในกลุ่มนี้ยังคงเป็นตลาดหลักๆ อย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ คือ จีนและอินเดีย โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่ในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้สูง และมีความนิยมในสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ

ด้านแนวทางการสนับสนุนสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของกรมส่งเสริมการส่งออกนั้น ทางกรมมีสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกัน กรมยังมีนโยบายที่จะจัดการสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการส่งออกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยในภูมิภาคนั้น กรมตั้งเป้าที่จะจัดงานให้ได้อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อแนะนำความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการออกแบบ แนวโน้มความนิยมของตลาด หรือการเลือกใช้สีสัน ให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้เข้าร่วมศึกษา

นอกจากนี้ กรมยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกแบบและผลิตเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าที่กรมเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อเป็นการทดลองตลาด และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ซื้อสินค้าด้วย

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นในเขตภาคเหนือนั้น นางนันทวัลย์ ให้ความเห็นว่า กรมส่งเสริมการส่งออกถือว่าภาคเหนือเป็นแหล่งศูนย์กลางของสินค้าหัตถกรรม โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ถือเป็นศูนย์กลางของสินค้าในแนวนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพหลายราย กระจายตัวอยู่ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และในพื้นที่ภาคเหนือ

ขณะที่ในสถาบันระดับอุดมศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีหน่วยงานอย่างศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ที่พร้อมให้การสนับสนุนด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ ถือเป็นช่องทางความร่วมมือที่ดีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ และเป็นสิ่งที่กรมมองว่ายังเป็นจุดอ่อนอยู่ ก็คือ ผู้ประกอบการหลายรายยังขาดการให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนารูปแบบของสินค้า มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบ หรือมีการจ้างนักออกแบบเพื่อผลิตสินค้า ทำให้สินค้าจำนวนมากยังมีลักษณะคล้ายๆ กัน กลายเป็นสินค้าที่ไม่มีจุดเด่น ทั้งที่การผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษารสนิยมของท้องตลาด และคาดการณ์แนวโน้มของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ ว่า จะต้องการสินค้าชนิดไหน ในรูปแบบใด เพราะการแสวงหาข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความต้องการของตลาด สีสัน และแนวโน้มความนิยม จะมีส่วนช่วยให้สามารถผลิตสินค้าที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคได้

“กลุ่มผู้ประกอบการต้องพยายาม ที่จะแสวงหาความรู้ในเรื่องของแนวโน้มความนิยมของสินค้า รวมทั้งมองหาช่องทางที่จะพัฒนาสินค้าของตนเองอย่างต่อเนื่องด้วย ในปัจจุบันช่องทางที่จะศึกษาหาความรู้ในสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีอยู่หลายช่องทาง จะมาขอรับการสนับสนุนหรือปรึกษากับกรมฯ ก็ได้ หรือจะขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ อย่างเช่นมหาวิทยาลัยก็ได้เช่นกัน แต่อย่าคิดแค่ว่ารอให้ใครมาให้ความรู้หรือยื่นความช่วยเหลือให้เท่านั้น แต่ต้องพยายามหาช่องทางที่จะช่วยพัฒนาสินค้าของตนเองได้ เพราะในยุคนี้หากไม่พัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์ ในอนาคตก็จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้” อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น