กรมส่งออกฯ เดินหน้าโครงการปั้นพ่อครัวแม่ครัวไทยเปิดร้านอาหารในญี่ปุ่น เชื่อเหตุภัยธรรมชาติไม่ส่งผลกระทบ ตั้งเป้าภายใน 3-5 ปี ร้านอาหารไทยผุดกว่า 3,000 แห่ง
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า แม้ว่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น แต่ทางกรมส่งเสริมการส่งออก ยังคงเดินหน้าโครงการผลิตพ่อครัวแม่ครัวอาหารไทย เพื่อเปิดร้านอาหารไทยอย่างน้อย 3,000 แห่งในญี่ปุ่น โดยในวันพรุ่งนี้ ( 15 มีนาคม) กรมฯร่วมกับผู้ประกอบการไทยในญี่ปุ่น โดยสถาบันวัฒนธรรมไทยศึกษา ณ กรุงโตเกียว และสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ลงนามจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาหารไทยในประเทศญี่ปุ่น เพื่ออบรมคนไทย ภายใต้หลักสูตร “การประกอบธุรกิจอาหารไทยรสชาติต้นตำรับไทย” โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 3-5 ปี จะผลิตพ่อครัวแม่ครัวอาหารไทยที่มีฝีมือเพื่อเปิดร้านอาหารไทยอย่างน้อย 3,000 แห่งในญี่ปุ่น
“อาหารไทยเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สามารถซึมซับวิถีธรรมชาติ เพราะมีเครื่องปรุงสมุนไพร กระบวนการสร้างสุขระหว่างการประกอบอาหาร จึงต้องมีการเรียนรู้เทคนิคเพื่อรักษาความยั่งยืนในการทำร้านอาหารไทยให้เป็นโซ่ทองคล้องใจคนทั้งโลก พร้อมกันนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายในการเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในญี่ปุ่น ถือว่าสอดคล้องกับอัตลักษณ์ด้านอาหารและอุตสาหกรรมบริการ”นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้โครงการนี้เป็นนโยบายของนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(เจเทปา) ที่จะพัฒนาความร่วมมือ 7 สาขา ในการผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออก ผลักดันการใช้ประโยชน์ของเจเทปาอย่างแท้จริงและยั่งยืน ได้จัดคณะสื่อมวลชนไทยไปกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-29 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อสำรวจและเห็นถึงความต้องการซื้อสินค้าและบริการไทยในตลาดญี่ปุ่น
นางพิมพ์ใจ มัตสุโมโต้ ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมไทยศึกษา ณ กรุงโตเกียว และกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า สถาบันฯ ร่วมกับสถาบันราชภัฏสวนดุสิต และกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับห้างค้าปลีกค้าส่งอาทิ กลุ่มเซเว่นแอนด์ไอ พร้อมประกอบธุรกิจภัตตาคารและมีโรงเรียนสอนทำอาหารในญี่ปุ่น กล่าวถึงความมั่นใจในการประกอบธุรกิจในญี่ปุ่นภายหลังการเกิดภัยธรรมชาติว่า ไม่รู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นได้สร้างระบบป้องกันภัยและการช่วยเหลือไว้เป็นอย่างดีเยี่ยม ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตกันได้ตั้งแต่เย็นวันเสาร์ที่ 12 มีนาคมแล้ว ซึ่งโตเกียวและโอซากาเสียหายเล็กน้อย
“ยังไม่มีผู้นำเข้าสินค้ารายใดยกเลิกคำสั่งซื้อ ในทางกลับกันต้องรอสักระยะหนึ่งเพื่อดูสถานการณ์ เพราะในทางกลับกันอาจเป็นโอกาสการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปในญี่ปุ่นได้เพิ่มมากขึ้น แต่เชื่อว่าจะมีการสั่งซื้อสินค้าจำเป็นเพิ่มขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการไทยจะมีการรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ เช่น เงิน ข้าว และอื่นๆ ตามความต้องการ และความเหมาะสมต่อไป” นางพิมพ์ใจ กล่าว
สำหรับการเดินทางมาไทยครั้งนี้ นอกจากจะทำสัญญาเปิดอบรมแล้ว ยังติดตามสำรวจสวนผลไม้ในแถบภาคตะวันออกและภาคเหนือเพื่อส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น โดยปีนี้บริษัทมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น อาทิ มะม่วง 500 ตัน เป็น 1,700 ตัน และขณะนี้กำลังเริ่มทำตลาดสับปะรดพันธุ์ภูแลกับนางแล เนื่องจากสับปะรดเป็นที่นิยมในตลาดญี่ปุ่นเป็นอย่างมากมีการนำเข้าถึงปีละแสนตัน ซึ่งตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดไว้ที่ 5-10% ปัญหาการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในขณะนี้ คือ ต้องควบคุมคุณภาพถึงแหล่งผลิต ซึ่งจำเป็นที่ผู้ส่งออกต้องใส่ใจและสอนให้เกษตรกรรู้ถึงการเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สินค้าดีที่สุด