กรมส่งออก ชี้โอกาสธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ มีโอกาสเติบโตในอินเดียสูง จากปัจจัยการเติบโตทาง ศก. และความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์ทันสมัยของคนยุคใหม่ จำนวนกว่า 400 ล้านคน ระบุปีที่แล้ว ไทยส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปตลาดอินเดียกว่า 8.279 ล้านเหรียญ ขยายตัวถึง 164%
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เผยว่า อินเดียเป็นตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกเนื่องจากอินเดียมีคนชั้นกลางมากถึง 400 ล้านคน ขณะที่กำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นตามอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะด้าน IT และยานยนต์ ส่งผลให้ความต้องการเฟอร์นิเจอร์คุณภาพดีมีมากขึ้นและมีการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์มากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ถึงแม้ว่าการผลิตในประเทศจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นก็เป็นการผลิตแบบชาวบ้าน (un-organized sector) ซึ่งไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของตลาดอินเดีย จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้ามาก
ธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของอินเดียมีมูลค่าประมาณ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงปีละร้อยละ 30 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์นำเข้า ส่วนน้อยที่ผลิตในประเทศโดยผู้ผลิตอินเดียซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 20 ส่วนใหญ่จะเน้นไปผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับสำนักงาน ซึ่งร้อยละ 27 ของเฟอร์นิเจอร์สำนักงานเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้อุตสาหกรรมมีการขยายตัวสูงเนื่องมาจากการเติบโตของธุรกิจก่อสร้าง การท่องเที่ยว/โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ
และอีกปัจจัยที่สำคัญคือคนอายุต่ำกว่า 25 ปีของอินเดียมีมากประมาณ 50% ของประชากรซึ่งผู้เริ่มทำงานใหม่นิยมทำงานในบริษัท IT มีรายได้สูงและไม่ชอบเฟอร์นิเจอร์แบบโบราณรุ่นคุณปู่อีกต่อไป นอกจากนั้ยยังมีปัจจัยที่มีผลสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านคือสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์และ Internet ที่คนอินเดียสามารถเข้าถึง trend ใหม่ๆ ของเฟอร์นิเจอร์ได้ง่ายเนื่องจากส่วนใหญ่จะเข้าใจภาษาอังกฤษ แต่ปัจจัยที่สำคัญยิ่งคือการเข้าไปลงทุนของบริษัทต่างชาติมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้คึกคักมากในปัจจุบัน ดังนั้นการเลือกใช้สื่อที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีจึงเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดอินเดีย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของอินเดียจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ร้อยละ 85 ของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เป็นการดำเนินการธุรกิจแบบชาวบ้านที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย เช่น โรงงานห้องแถว และร้านค้ารายย่อย ในส่วนธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เชิงอุตสาหกรรมมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 15 ส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้านำเข้า ซึ่งบริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของอินเดียต่างนิยมร่วมทุนกับผู้ลงทุนจากต่างประเทศ
“อินเดียเปิดเสรีการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่เดือนเมษายน 1988 โดยที่ผู้นำเข้าอินเดียไม่ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าและไม่ต้องขอใบอนุญาตก่อนการนำเข้าแต่ต้องมีเลขประจำตัวผู้นำเข้า (IEC code – Import Export Code) โดยขอรับได้ที่ Directorate General of Foreign Trade ซึ่งในช่วงปี 2010 ที่ผ่านมา อินเดียนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์จากไทยถึง 8.279 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2009 ถึงร้อยละ 164 สินค้าส่งออกได้แก่ ม้านั่ง/เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ (ยกเว้นม้านั่ง/เก้าอี้) โคมไฟ เครื่องนอน และเคหะสิ่งทอ โดยช่องทางการจัดจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นการจัดจำหน่ายผ่านผู้ค้าส่งไปยังร้านค้าปลีก ตลาดส่วนใหญ่ยังนิยมสินค้าราคาถูก (ซึ่งเป็นตลาดของ Unorganized sector) เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไฟเบอร์บอร์ดหรือไม้อัด ส่วนสินค้าราคาสูงส่วนใหญ่จะเป็นช่องทางในหัวเมืองใหญ่ๆ ห้างสรรพสินค้าที่เป็นผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่” นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับตลาดอินเดียยังเป็นตลาดของเฟอร์นิเจอร์นำเข้า เป็นตลาดที่ประเทศผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ต่างให้ความสำคัญสำหรับการทำตลาดนี้ นอกจากนี้คนชั้นกลางที่มีมากถึง 400 ล้านคนเป็นส่วนผลักดันให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเศรษฐีและมัณฑนากรเช่นในอดีตอีกต่อไป คนชั้นกลางปัจจุบันต่างมองหาเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงกันมากยิ่งขี้นและนิยมตกแต่งบ้านรายวันด้วยตนเองเป็นงานอดิเรก สำหรับผู้ผลิตเฟอร์ในอินเดียเองก็มีการปรับตัวครั้งใหญ่โดยมีการนำเข้าไม้ยางคุณภาพดีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยเพื่อแข่งขันกับเฟอร์นิเจอร์นำเข้าเช่นใน ปี 2553 ที่ผ่านมาบริษัทเฟอร์นิเจอร์อินเดียมีการสั่งซื้อไม้ยางพาราจากไทยเกือบ 600 ล้านรูป เพื่อนำมาผลิตให้ตรงกับรสนิยมและความต้องการของคนอินเดีย