กาฬสินธุ์-ชาวนาพร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ บุกฟาร์มปลาบริษัท ไทยปังก้า ฟาร์ม จำกัด เรียกร้องหยุดปล่อยน้ำเสียงลงคลองชลประทาน ด้านท้องถิ่นและผู้นำชุมชนระดมแนวคิดทุกส่วน เร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนหลังน้ำเสียกระทบรุนแรง ขณะที่บริษัทเจ้าปัญหา อ้างกำลังเพิ่มระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ และจะลดระดับน้ำเพื่อลดปัญหาน้ำไหลซึมเข้านาข้าวชาวบ้าน
วันนี้( 22 ม.ค.) เวลา 11.30 น.ที่บริษัทไทยปังก้า ฟาร์ม จำกัด ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายบุญเทียร จันสุข รองปลัดเทศบาลตำบลบัวบาน นายวิโรจน์ โยธาสิงห์ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลบัวบาน นายอุทัย บุญขจร ประมงอำเภอยางตลาด พร้อมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านจาก 5 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเสียจากฟาร์มปลา บริษัทไทยปังก้า ฯ กว่า 20 คน เข้าตรวจสอบและเรียกร้องให้บริษัทยุติการปล่อยน้ำเสียลงคลองชลประทาน แหล่งน้ำสาธารณะ
เนื่องจากขณะนี้น้ำเสียได้ส่งให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก โดยมีนายพิสิทธิ์ หล้าสุดตา ผู้จัดการบริษัทฯนักวิชาการและเจ้าหน้าที่มารับฟังปัญหาด้วยตนเอง โดยทางบริษัทจะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาทุกข้องร้องเรียน โดยจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.นี้
นางกิ่งดาว ภูทองพันธุ์ อายุ 42 ปี ชาวนาหมู่ 20 บ้านโนนแดง ต.บ้านบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การเรียกร้องของชาวบ้านแต่ละครั้ง ดูเหมือนไร้ความหมายเพราะทางฟาร์มไม่ยอมแก้ไขหรือหยุดการกระทำที่ส่งผลเสียให้กับชาวบ้านเลย ทั้งปัญหาการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในคลองชลประทาน และปัญหาน้ำของบ่อปลาที่ไหลซึมเข้านาข้าวของชาวนาทำให้นาข้าวล่ม ดินก็กลายเป็นโคลนตม และยังทำให้ชาวบ้านป่วยด้วยโรคผิวหนังอักเสบจำนวนมาก ซึ่งตนก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
การเรียกร้องให้หยุดในการกระทำที่เอาเปรียบประชาชน เกิดขึ้นมาหลายสิบครั้งทางบริษัทเพียงรับปากว่าจะแก้ไข แต่ก็ยังไม่เห็นทำที่เป็นเรื่องเป็นราว ผลัดมา 2-3 ครั้งแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่ตอนนี้ชาวบ้านยังให้โอกาสถึงเดือน พ.ค.54 ถ้าหากไม่มีการดำเนินการหรือช่วยเหลือชาวบ้าน จะต้องเพิ่มการเรียกร้องให้รุนแรงกว่าเดิม
นอกจากนี้อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาดูเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านร้องเรียนไปแต่หน่วยงานราชการยังเฉย เหมือนไม่สนใจความทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชน
นายบุญเทียร จันสุข รองปลัดเทศบาลฯ กล่าวว่า ทางเทศบาลได้เข้าไปตรวจสอบดูแล้วพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 5 หมู่บ้านทั้งหมู่ที่ 4 หมู่คือหมู่ที่ 4-7 -19- 20- 22 เกิดมาจากน้ำเสียจากฟาร์มโดยเฉพาะปัญหาน้ำซึมจากบ่อปลาไหลเข้านาข้าวของชาวบ้าน จนทำให้นาข้าวไม่ได้ผลผลิต เพราะพันธุ์ข้าวที่หว่านไปเน่าตาย เนื่องจากาภาวะน้ำชุ่มดินเกินไป ซึ่งทางเทศบาลได้เสนอแนวทางให้ทางบริษัทได้วางท่อระบบกรองน้ำเสียรอบฟาร์มและให้ลดระดับน้ำในบ่อปลาให้เท่ากับนาข้าวของชาวบ้านเนื่องจากบ่อปลาของฟาร์มลึกกว่า 5 เมตร
อีกทั้งยังมีการทำคูดินที่สูงกว่านาชาวบ้านเกือบ 10 เมตร จึงส่งผลกระทบโดยตรง ส่วนเรื่องการปล่อยน้ำเสียทางบริษัทเองได้รับปากแล้วว่าจะหยุดการปล่อยน้ำเสียลงคลอง โดยจะเร่งทำระบบบำบัดน้ำเสียและวนน้ำมาใช้ในฟาร์มให้แล้วเสร็จ ซึ่งข้อตกลงเป็นที่พึงพอใจกับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็ขอดูไปจนถึงเดือน พ.ค.54 เพราะส่วนหนึ่งก็ไม่มั่นใจว่าทางฟาร์มจะจริงใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
และภายหลังจากการประชุมเพื่อการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามและชาวนา 5 หมู่บ้าน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากฟาร์ม นายพิสิทธิ์ หล้าสุดตา ผู้จัดการฯ ระบุว่า ทางบริษัทไทยปังก้าฟาร์ม จำกัด ได้รับข้อเสนอ 2 ข้อ คือจะดำเนินการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย และนำกลับมาใช้ใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.เพื่อไม่ให้มีน้ำเสียออกจากฟาร์ม โดยพร้อมให้หน่วยงานและภาคประชาชนเข้ามาติดตามการดำเนินการตลอดเวลา
นอกจากนั้นในส่วนของนาข้าว ที่ชาวบ้านระบุว่าเกิดน้ำไหลซึมจนทำให้นาข้าวล่มอีกทั้งยังส่งผลให้ชาวบ้านป่วยเป็นโรคผิวหนังอักเสบ ทางบริษัทฯ ก็จะมีการลดระดับน้ำให้เท่ากับระดับที่นาของชาวบ้าน เพื่อลดแรงดันจากบ่อปลาไหลซึมไปที่นาชาวบ้าน โดยจะเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาในพื้นที่ยิ่งทวีความรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้เริ่มปล่อยน้ำอย่างเต็มระบบเพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปรัง ในพื้นที่เขตชลประทานทั้ง 5 อำเภอที่ประกอบด้วย อ.กมลาไสย อ.ยางตลาด อ.ร่องคำ อ.ฆ้องชัย และอ.เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งพื้นที่อย่างอ.ยางตลาด
ซึ่งเป็นต้นน้ำชาวบ้าน ยังไม่กล้าที่จะใช้น้ำจากคลองชลประทานเพื่อทำการเกษตรและเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เนื่องจากเกรงสารพิษในน้ำจะส่งผลให้ขาดทุน โดยเฉพาะนากุ้งที่ตอนนี้ผู้เลี้ยงกุ้งขาดทุนจากปัญหาน้ำเสียจำนวนมาก
นายบุญเทียร จันสุข รองปลัดเทศบาลตำบลบัวบาน นายวิโรจน์ โยธาสิงห์ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีตำบลบัวบาน นายอุทัย บุญขจร ประมงอำเภอยางตลาด พร้อมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านจาก 5 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเสียจากฟาร์มปลา บริษัทไทยปังก้า ฯ เข้าตรวจสอบและเรียกร้องให้บริษัทยุติการปล่อยน้ำเสียลงคลองชลประทาน แหล่งน้ำสาธารณะ เนื่องจากขณะนี้น้ำเสียได้ส่งให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก