กาฬสินธุ์- เกษตรกรลดพื้นที่เลี้ยงกุ้ง หวั่นปัญหาภัยแล้ง เหตุน้ำเขื่อนลำปาวน้อยลงอย่างรวดเร็วกระทบการเลี้ยงกุ้งโดยตรง ล่าสุด พื้นที่เลี้ยงกุ้งหายไปกว่า 5,000 ไร่ ในขณะที่เกษตรกรในกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง ต้องเร่งจับจำหน่ายปลาตัวขนาดเล็ก หวั่นปลาตายเพราะขาดแคลนน้ำ ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนเป็นจำนวนมาก
จากการสำรวจพื้นที่ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ขณะนี้พื้นที่การเกษตร การประมงในเขตชลประทานขณะนี้มีพื้นที่อยู่เพียง 271,877 ไร่ เป็นนาข้าวประมาณ 262,541 ไร่ ประมงเลี้ยงปลา 1,642 ไร่ และนากุ้งก้ามกรามอีก 5,620 ไร่ ที่เหลือเป็นพืชฤดูแล้งต่างๆ ครอบคลุมทั้ง 5 อำเภอประกอบด้วย อ.กมลาไสย อ.ร่องคำ อ.ยางตลาด อ.เมืองกาฬสินธุ์ และ อ.ฆ้องชัย
ปีนี้ที่วิกฤตมากที่สุดเป็นนากุ้งก้ามกรามที่ลดลงไปกว่า 50% ที่หาเทียบกับปีที่แล้วนากุ้งในช่วงเดียวกันยังมีมากถึง 8,000 บ่อ ขณะที่พื้นที่เลี้ยงกุ้งทั้งหมดมีกว่า 18,000 ไร่ ทั้งนี้ สาเหตุมาจากปัญหาน้ำที่มีน้อยนั่นเอง
นายนิยม พลโคกก่อง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ระบุว่า สิ่งที่เป็นปัญหา คือ น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งจากการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเดือนเมษายนน้ำเหลือเพียงครึ่งอ่างเท่านั้น เพื่อความอยู่รอดและมีอาชีพไม่ต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่น คือ การลดพื้นที่การเลี้ยงกุ้งลง จากเดิมเลี้ยง 10 บ่อพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ก็ลดลงเหลือประมาณ 4 บ่อ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถลดความเสี่ยงในการขาดทุนจากปัญหากุ้งน็อคตายหน้าร้อนได้
ด้าน นายสมพร ภูบรรสุข เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง กล่าวว่า จากปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับในช่วงกลางเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ เป็นช่วงที่โครงการส่งน้ำชลประทานลำปาว จะปิดการส่งน้ำในฤดูแล้ง ตนเกรงว่าปลาที่เลี้ยงในบ่ออนุบาลจำนวน 2 แสนตัว จะได้รับผลกระทบ จากปัญหาขาดแคลนน้ำ
จึงต้องเร่งจำหน่ายปลาที่ยังมีขนาดเล็ก ให้เกษตรรายย่อยไปปล่อยเลี้ยงในราคาถูก ทำให้ประสบปัญหาขาดทุน ที่ยังดีกว่าปลาตาย ที่จะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือเพียงร้อนละ 51 หรือปริมาณน้ำที่ 740 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณการกักเก็บที่ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการระบายน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับพื้นที่ชลประทานกว่า 270,000 ไร่ ระบายน้ำประมาณวันละ 5-8 ล้านลูกบาศก์เมตร