xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแม่น้ำชี้แม่น้ำโขงแห้งเพราะฝีมือมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ห้องประชุมคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศูนย์แม่น้ำโขงศึกษาจัดเสวนาภาวะโลกร้อนกับสถานการณ์แม่น้ำโขง โดยมีนักวิชาการที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำโขงทั้งไทยและลาวร่วมเสวนา และมีผู้สนใจทั้งคณาจารย์นักศึกษาเข้าร่วมฟังการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล
อุบลราชธานี-นักวิชาการไทย-ลาว จัดเสวนาปรากฏการณ์แม่น้ำโขงแห้ง เหตุเพราะน้ำมือมนุษย์สร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำ ชี้ไม่รีบแก้อีก 10 ปี จะถูกซ้ำเติมด้วยภาวะโลกร้อน คนตามลุ่มน้ำต้องเดือดร้อน

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องประชุมคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศูนย์แม่น้ำโขงศึกษาจัดเสวนาภาวะโลกร้อนกับสถานการณ์แม่น้ำโขง โดยมีนักวิชาการที่ศึกษาความเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำโขงทั้งไทยและลาวร่วมเสวนา และมีผู้สนใจทั้งคณาจารย์นักศึกษาเข้าร่วมฟังการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลของนักวิชาการกว่า 100 คน

หัวข้อที่นักวิชาการหยิบยกขึ้นมาพูดในวงเสวนาอย่างกว้างขวาง คือ ปรากฏการณ์ระดับน้ำโขงที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของลุ่มน้ำ ทั้งคนและสัตว์ต้องเร่งปรับตัว และเชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า หากภาวะโลกร้อนมาซ้ำเติมสถานการณ์ในแม่น้ำโขง จะยิ่งส่งผลกระทบมากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และปรากฏการณ์น้ำโขงแห้งเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่สร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำ ดังนั้น ต้องมีการทบทวนโครงการต่างๆที่จะมาซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก

ด้านการแก้ปัญหาของคนลุ่มน้ำตามชุมชนสองฝั่งแม่น้ำ ต้องมีการปรับตัวหาอาชีพอื่นเสริม แทนอาชีพประมงริมแม่น้ำ หรือเกษตรกรรมอย่างเดียว รวมทั้งเร่งสนับสนุนส่งเสริมการการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำโขงให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ที่อาศัยอยู่สองฝากแม่น้ำโขง

นางกิ่งกร นรินทรกถล ตัวแทนคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงปัญหาที่เกิดกับแม่น้ำโขงขณะนี้ว่า หากปริมาณน้ำฝนตกลงมาน้อยจากภาวะโลกร้อน ยิ่งทำให้สถานการณ์ของแม่น้ำโขงหนักยิ่งขึ้น เพราะจะกระทบต่อปริมาณการขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันมีความแปรปรวนมาก จึงต้องมีการพิจารณาโครงการที่จะสร้างเพิ่มเติม เพราะเห็นได้ชัดว่าสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือมนุษย์

ส่วนผลกระทบใหม่ที่จะตามมาอีกคือ ภาวะโลกร้อนจะกระทบต่อโลกอย่างไรบ้าง จะกระทบเฉพาะถิ่นอย่างไรบ้าง แล้วมีเทคโนโลยีอะไรมาใช้สนับสนุนกระบวนการปรับตัวของมนุษย์อย่างไร และผลกระทบที่เกิดจะเยี่ยวยาแก้ไขอย่างไร ซึ่งคนในท้องถิ่นทุกประเทศที่อยู่กับแม่น้ำโขง

จึงต้องรู้ว่าวิธีการแก้ปัญหาต้องทำอย่างไร แล้วนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนศึกษาร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดกับแม่น้ำโขงขณะนี้

ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนกระบวนการศึกษาเรียนรู้ของประชาชน เพราะขณะนี้เรามีต้นทุกทางความรู้ แต่จะต่อยอดแล้วนำไปพัฒนาอย่างไรให้เกิดผลสำเร็จในการตั้งรับ ป้องกันกับปัญหาใหม่ๆที่จะตามมา จึงต้องให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นให้มาก

แต่ถ้าดูตามกระบวนการพัฒนาที่กำกับโดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงขณะนี้ รู้สึกเป็นห่วง เพราะอยู่ในลักษณะต้องเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ จึงเป็นการพัฒนาแบบไม่หยั่งยืน

“คณะกรรมการต้องหารือเรื่องทิศทางการพัฒนากันใหม่ แทนมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ให้นักลงทุนที่เป็นคนส่วนน้อยทั้งไทย จีน ลาว เวียดนาม แต่ไปสร้างผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากที่อยู่กับลุ่มน้ำ จึงไม่ใช่ทิศทางที่เราจะก้าวเดินไป”

ดังนั้น คณะกรรมการที่กำกับดูแลแม่น้ำโขงระดับประเทศต้องมาหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดกับแม่น้ำโขงขณะนี้
ย้ำวิกฤติแม่น้ำโขงแห้งเป็นประวัติการณ์เพราะฝีมือมนุษย์ ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขจะวิกฤติหนักยิ่งขึ้นหากภาวะโลกร้อนสำแดงฤทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น