เลขาฯ รมว.ตปท.ระบุ “ฮุนเซน” ยันร่วมประชุมอาเซียนในไทยปลายเดือน ต.ค.นี้แน่ เผย ฮุนเซน ต้อนรับ “กษิต” เป็นอย่างดี แถมฝากความคิดถึงนายกฯไทย มองคำพูดฮุนเซนเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ เท่านั้น
จากกรณีที่มีกระแสข่าวสมเด็จฯฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุว่า อาจจะไม่เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ หากความขัดแย้งเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารระหว่างสองประเทศยังคงอยู่ โดยสมเด็จฯฮุนเซน อาจมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนแทนนั้น
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ว่า สมเด็จฯฮุนเซน ให้การต้อนรับขับสู้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เป็นอย่างดี โดยได้ฝากความความคิดถึง ความหวังดีมายังนายกรัฐมนตรีของไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งสมเด็จฯฮุนเซน ยืนยันที่จะเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ประเทศไทย ในปลายเดือนตุลาคมนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการเมืองภายในประเทศกัมพูชาเอง ซึ่งเราก็ต้องให้เกียรติท่านด้วย ซึ่งข่าวลือที่ออกมาต่างๆ เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นยังคงที่จะเดินหน้าพูดจากันเพื่อให้ได้ข้อยุติ
นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวเรื่องของคลิปเสียงที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย อ้างถึงคำพูดของนายกษิตนั้นเป็นเรื่องเก่า ซึ่งท่านกษิตก็หัวเราะกับเรื่องนี้ไม่มีอะไร เป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นในขณะนั้น และการพูดในเวลานั้นมันคนละเหตุการณ์ แต่ปัจุจบันไทยกับกัมพูชากำลังเดินหน้าแก้ไขปัญหาร่วมกัน จึงไม่ได้มีความขัดแย้งกันแต่อย่างใด และการพูดของทั้ง 2 คนทั้งรัฐมนตรีกษิต และสมเด็จฯฮุนเซน ก็เป็นการพูดการภายเมืองภายในประเทศ
ส่วนผลการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เพื่อทบทวนความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น และหารือทิศทางในอนาคต ภายใต้หัวข้อหลัก “ลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น : หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” นั้น นายชวนนท์ เปิดเผยว่า ในการประชุมได้ยืนยันที่จะสานต่อบทบาทในการเป็นหุ้นส่วน เพื่อการพัฒนาร่วมกับญี่ปุ่นในกรอบความร่วมมือนี้อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการพัฒนาลุ่มน้ำโขงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นเองก็ขอให้ทุกฝ่ายเข้ามาดูแลในเรื่องของปัญหาโลกร้อน