ตาก - กลุ่มเพื่อนพม่า เสนอไทย จัดระบบในศูนย์อพยพชั่วคราว “บ้านแม่อุสุ - บ้านหนองบัว” ขวางส่งกลับข้ามฝั่ง อ้างยังไม่ปลอดภัย ต้องให้ทุกฝ่ายเคลียร์พื้นที่กับระเบิดก่อน แถมกล่าวหาเจ้าหน้าที่ไทยกดดันผู้อพยพ ขณะที่คนไทยในพื้นที่เริ่มหวาดระแวงผู้อพยพ
รายงานข่าวจากชายแดนไทย-พม่า อ.ท่าสองยาง จ.ตาก แจ้งว่า กลุ่ม NGO ที่ใช้ชื่อว่ากลุ่ม “เพื่อนพม่า” ได้ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาล-ทหารไทย ที่ประจำการชายแดน โดยอ้างว่าเพื่อคลายความกังวลของสังคมที่จับจ้องการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง และเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก โดยระบุถึงมาตรการที่ควรดำเนินการไว้ 2 แนวทางคือ
ในระยะสั้น 1.ให้มีอาสาสมัครจากภาคส่วนต่างๆเข้าไปสังเกตการณ์ และช่วยทำงานในค่ายผู้ลี้ภัย ทั้งงานด้านการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน งานบริการสาธารณะสุข การแจกจ่ายอาหาร ฯลฯ 2.จัดตั้งคณะกรรมการร่วม ทั้งเรื่องการบริหาร การตัดสินใจ ถ้าจะมีการส่งกลับ ต้องมีกระบวนการที่มีมาตรฐานรองรับว่าพี่น้องต้องการกลับจริง และเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสามารถจะอยู่ดูแลพี่น้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง 3.ทหารต้องยุติการอำนวยความสะดวกในการเดินทางการกลับภูมิลำเนาของผู้ลี้ภัย ไปจนกว่าจะมีการกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ได้รับยอมรับจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
มาตรการระยะยาว 1.ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างพื้นที่สันติภาพ ในลักษณะโครงการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนชายแดน โดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า รวมถึงกองกำลังต่างๆ 2.ต้องมีการสร้างความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยและกองทัพพม่าที่ดูพื้นที่ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเก็บกู้ระเบิดเข้าไปทำงานในพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
โดยกลุ่มเพื่อนพม่า ยังอยากให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
ขณะเดียวกัน กลุ่มเพื่อนพม่ายังได้ออกหนังสือ แจ้งถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวบ้านแม่อุสุและบ้านหนองบัว อ.ท่าสองยาง ว่า ยังน่าเป็นห่วง แม้ทหารจะยืนยันไม่มีการกดดันหรือผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศพม่า ทุกขั้นตอนขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ลี้ภัย ทหารมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกเท่านั้น
แต่ภาพความเป็นจริงในพื้นที่กลับเป็นไปในทิศทางตรงข้าม ล่าสุดมีรายงานข่าวระบุว่า มีเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงไทยได้เข้าตรวจค้นสำนักงาน NGO ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ของภาคประชาสังคมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553
นอกจากนี้ สถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่บ้านหนองบัว ต้องพบกับความเข้มงวด โดยจะมีทหารเข้ามาตรวจพื้นที่พักพิงชั่วคราวหนองบัว ในลักษณะกดดัน ทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งพยายามหาทางไปอยู่ที่อื่น และในช่วงกลางคืนจะมีหน่วยลาดตระเวนเดินไปมานอกพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างผิดปกติ
ล่าสุดกลุ่มเพื่อนพม่ายังอ้างว่า มีผู้อพยพ 26 ครอบครัวจำนวน 154 คน ถูกทหารให้เซ็นบันทึกความสมัครใจในการสมัครใจเดินทางกลับไปยังประเทศพม่าด้วยเอง โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนของการเดินทางกลับพม่า ทำให้กลุ่มเพื่อนพม่า จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในการถูกกดดันให้กลับประเทศ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทย ปฎิเสธ ข้อกล่าวหาของกลุ่ม เพื่อนพม่า ยืนยันว่า จนท. ไม่ได้กดดันให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับพม่า รวมทั้งไม่เคยมีการเข้าไปตรวจสอบหรือตรวจค้นที่ทำงานของกลุ่ม NGO กลุ่มที่ต่อต้านการส่งกลับผู้ลี้ภัยตามความสมัครไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ขณะเดียวกันราษฎรบ้านหนองบัว ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง เริ่มมีปฏิกิริยาไม่พอใจ และต่อต้านผู้อพยพหนีภัยสงครามชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า ที่หลบหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านหนองบัว รวมทั้งที่หลังถ้ำแม่อุสุ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552 เป็นต้นมาแล้วยังไม่ยอมกลับไปภูมิลำเนา ทั้งที่การสู้รบตามแนวชายแดนได้ยุติลงไปแล้ว
โดยชาวบ้านบางส่วนมองว่า ผู้อพยพเริ่มสร้างปัญหาความหวาดระแวงให้กับชาวไทยในหมู่บ้านและชุมชนด้านความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน รวมทั้งปัญหากระทบกระทั่งระหว่างประเทศ จึงอยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ย้ายผู้อพยพออกไปจากหมู่บ้าน หรือให้กลับไปยังถิ่นฐานบ้านเดิมของตัวเอง
ชาวบ้านบางคนบอกว่า อยากให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของไทย ย้ายผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงออกไปจากหมู่บ้านที่คนไทยอาศัยอยู่ โดยจะย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ได้ หรือควรกลับประเทศของตัวเอง เพราะความจริงแล้วสถานการณ์การสู้รบบริเวณชายแดนตรงข้าม บ้านหนองบัวไม่มีการสู้รบมานานแล้ว ผู้ที่หนีภัยสงครามก็ควรเดินทางกลับ เนื่องจากผู้อพยพเมื่อมาอยู่นานๆ ได้แย่งใช้ทรัพยากรคนไทยอีกด้วย
สำหรับผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง ในหมู่บ้านหนองบัวและหลังถ้ำแม่อุสุ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีเหลือประมาณ 1,000-1,300 คน จากเดิมที่อพยพเข้ามากว่า 3,000 คน ซึ่งเมื่อสงครามและเสียงปืนสงบผู้อพยพส่วนมาก ได้เดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองในฝั่งพม่าไปแล้วบางส่วน