เอเอฟพี - ลัทธิขวาจัดซึ่งอวดอ้างการต่อต้านผู้อพยพ, เกลียดชังอิสลาม และเชิดชูรัฐสวัสดิการ กำลังแผ่อิทธิพลในประเทศกลุ่มนอร์ดิก โดยอาศัยความหวั่นเกรงของผู้คนที่พบว่าสังคมของพวกเขาเริ่มมีสมาชิกผมทองและนัยน์ตาสีฟ้าน้อยลงทุกขณะเป็นเครื่องมือ
แม้การกระทำของเขาจะอยู่นอกเหนือการเมืองแบบดั้งเดิม ทว่าฆาตกรหนุ่ม อันเดอร์ส เบห์ริง ไบรวิก ผู้สุดแสนจะภาคภูมิในเชื้อสายไวกิ้งของตน ก็ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากลัทธิขวาจัดที่กำลังเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
ไบรวิก ให้การต่อศาลเมื่อวันจันทร์(25)ว่า เขาปรารถนาให้การตายของประชาชน 76 คนส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลนอร์เวย์ “ให้หยุดทำลายวัฒนธรรมนอร์ดิก และหยุดปล่อยชาวมุสลิมจำนวนมากเข้าประเทศ”
คารี เฮเลน หัวหน้าศูนย์ต่อต้านการเหยียดผิวในกรุงออสโล ระบุว่า “ไบรวิก ก่ออาชญากรรมและความรุนแรงสุดโต่งครั้งนี้อย่างโดดเดี่ยว แต่ก็น่าสนใจที่ว่า เขาสามารถพัฒนาแนวคิดแบบนี้ขึ้นมาได้ในบริบททางสังคมและการเมืองปัจจุบัน และการกราดยิงประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะเขาไม่เคยแปลกแยกจากสังคม”
พรรค นอร์วีเจียน โปรเกรส ปาร์ตี ซึ่งยึดแนวทางประชานิยมเอียงขวา “มีพรสวรรค์ในการปลุกปั่นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง” โดยเฉพาะการตั้งป้อมรังเกียจชาวมุสลิมและชาวต่างชาติ เฮเลน ระบุ
ก่อนทศวรรษที่ 1970 แทบไม่มีชนชาติอื่นอาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิกเลยนอกจากชาวยุโรป แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ดินแดนเหล่านี้กลับกลายเป็นบ้านของชาวต่างชาติที่หนีความขัดแย้งมาจากบ้านเกิด เช่น ยูโกสลาเวีย, โซมาเลีย และเคอร์ดิสถาน
ตัวอย่างที่เห็นชัดได้แก่ สวีเดน ซึ่งเปิดรับผู้ลี้ภัยชาวอิรักมากกว่าทุกประเทศในยุโรปรวมกันเสียอีก หลังจากที่สหรัฐฯบุกอิรักในปี 2003 ขณะที่ในกรุงออสโลของนอร์เวย์ ชื่อที่ได้รับความนิยมตั้งให้ทารกเกิดใหม่มากที่สุดในปี 2010 คือ มูฮัมหมัด
สวีเดนและนอร์เวย์มีสัดส่วนประชากรที่เกิดนอกประเทศราว 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เดนมาร์กมีอยู่ 8 เปอร์เซ็นต์ ทว่าเฉพาะในกรุงออสโลสัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ และมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ในเขตชนบทบางแห่งของสวีเดน
แนวคิดต่อต้านผู้อพยพและชาตินิยมขวาจัดเกิดขึ้นในเดนมาร์กเมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 และกำลังแผ่อิทธิพลไกลขึ้นเรื่อยๆจนยากที่จะหยุดยั้ง
“แต่ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia) ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย บางครั้งกลับลดลงด้วยซ้ำ ดังนั้นประเด็นนี้น่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่า” Ulf Bjereld นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโกเทนเบิร์กของสวีเดน ระบุ
พรรค นอร์วีเจียน โปรเกรส ปาร์ตี กลายเป็นพรรคอันดับ 2 ซึ่งได้รับคะแนนเสียง 23 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่ง ไบรวิก เองก็เคยเป็นสมาชิกพรรคนี้อยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะลาออก เนื่องจากไม่พอใจที่พรรคยึดทางสายกลางเกินไป
ด้านพรรค สวีดิช เดโมแครต ปาร์ตี ซึ่งมีสโลแกนว่า “ทำสวีเดนให้เป็นของชาวสวีเดน” ก็ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองไปถึงเพื่อนบ้านอย่างฟินแลนด์ ซึ่งพรรค “ทรู ฟินน์ส” ได้คะแนนโหวตมาถึง 19 เปอร์เซ็นต์ในอีก 7 เดือนให้หลัง
นักวิชาการบางคนระบุว่า แนวคิดขวาจัดในกลุ่มประเทศนอร์ดิกได้หยั่งรากลึกในระบบการเมือง จนไม่สามารถใช้คำว่า “สุดโต่ง” ได้อีกต่อไป
“แนวคิดเหล่านี้เริ่มฝังรากลึก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลักไปแล้ว” อันเดอร์ส เฮลล์สโตรม ผู้เชี่ยวชาญด้านขบวนการชาตินิยมและประชานิยมชาวสวีเดน เผย
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสแกนดิเนเวีย ซีริล กูเลต์ ระบุว่า กลุ่มขวาสุดโต่งยังคง “กระจัดกระจาย และไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน”
“ในนอร์เวย์ก็มีคนบางกลุ่มที่ติดต่อกันผ่านสังคมออนไลน์ เป็นพวกสกินเฮดที่คอยโจมตีชาวต่างชาติ เหมือนที่เกิดในประเทศสแกนดิเนเวียอื่นๆ”