เอเอฟพี - อิตาลีแถลงวานนี้ (14) ว่า ได้ร้องงบประมาณช่วยเหลือมูลค่า 100 ล้านยูโร (ประมาณ 4,000 ล้านบาท) จากคณะกรรมาธิการยุโรปอย่างเป็นทางการ โดยเงินก้อนดังกล่าวจะนำมาใช้แก้ปัญหาผู้อพยพจำนวนมากที่หลั่งไหลอพยพมาจากตูนิเซีย หลังการประท้วงของคลื่นมหาชน
ทางการอิตาลีร้องขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป หลังจากมีผู้ลักลอบอพยพเข้าไปยังเกาะลัมเปดูซา ตลอดช่วง 5 วันที่ผ่านมาจำนวน 5,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตูนิเซียแทบทั้งสิ้น
โรแบร์โต มาโรนี รัฐมนตรีมหาดไทยอิตาลี กล่าวว่า อิตาลีได้ร้องของบประมาณช่วยเหลือ หลังการประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งรับหน้าที่ดูแลการไหลทะลักของผู้อพยพ
การไหลบ่าของผู้อพยพชาวตูนิเซียจำนวนมากกลายเป็่นประเด็นร้อนในที่ประชุมสหภาพยุโรป โดยแคตเธอรีน แอชตัน ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของอียูได้หารือกับรัฐบาลรักษาการณ์ของตูนิเซียในกรุงตูนิสวานนี้ ก่อนหน้าการเยือนของ ฟรันโก ฟรัตตินี รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี
เฮอร์มัน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรปกล่าวว่า เขาได้รับทราบความเห็นของ นายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี แห่งอิตาลีแล้ว และได้เตรียมนัดหมายหารือเรื่องดังกล่าวร่วมกับผู้นำจากชาติอียูให้เร็วที่สุด
เมื่อวันอาทิตย์ (12) โรแบร์โต มาโรนี ได้วิพากษ์วิจารณ์การขาดความร่วมมือในประเทศสมาชิกอียู โดยระบุว่า ทางการสหภาพยุโรปไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งนี้เขาเป็นสมาชิกพรรค นอร์ตเธิร์น ลีก ซึ่งมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ
ภูมิภาคแอฟริกาเหนือ “กำลังวุ่นวาย ... เรากำลังจัดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นการฉุกเฉิน ด้วยตัวเราเพียงฝ่ายเดียว การแทรกแซงของสหภาพยุโรปเป็นส่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง” รัฐมนตรีมหาดไทยอิตาลีกล่าว
โฆษกของรัฐมนตรีมาโรนีกล่าวว่า เขาได้ถกปัญหาดังกล่าวกับ เซซิเลีย มาล์มสตอร์ม กรรมาธิการด้านกิจการภายในของอียู เมื่อวันเสาร์ (12) โดยระบุว่า ต้องการให้ ฟรอนเทกซ์ หน่วยงานความมั่นคงทางพรมแดนของสหภาพยุโรป เข้าแทรกแซง เพื่อควบคุมการอพยพออกจากภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ดูแลสถานกักกันผู้อพยพ และพยายามส่งตัวผู้ลักลอบอพยพกลับประเทศ
แม้การปฏิวัติตูนิเซียเมื่อเดือนที่แล้วสามารถขับประธานาธิบดี เบน อาลี ออกจากตำแหน่งได้ ทว่ารัฐบาลชุดใหม่ยังต้องพยายามอย่างหนัก เพื่อจัดการปัญหาการว่างงานและความไม่เสมอภาคที่เป็นปัญหาหมักหมมในสังคม ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการปฏิวัติโดยประชาชนตูนิเซีย