xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนอร์เวย์ต่างรู้สึกเหลือเชื่อ เหตุร้ายเช่นนี้เกิดในปท.พวกเขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บีบีซีนิวส์ – นอร์เวย์ตื่นขึ้นเช้าวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม เพื่อพบกับความสูญเสียชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่ประเทศแห่งนี้เคยประสบมานับจากสงครามโลกครั้งที่ 2
มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะยอมรับได้ว่า โศกนาฏกรรมแบบนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้ได้ การกราดยิงสังหารหมู่และเครื่องระเบิดแบบประดิษฐ์เอง! นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นใดได้ทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ที่นี่ ที่ประเทศนอร์เวย์
ใครเลยจะทำใจได้ว่ามันได้อุบัติขึ้นแล้ว โดยมีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย การก่อการร้ายที่น่าตระหนกที่คนนอร์เวย์จะทำกับคนนอร์เวย์ด้วยกัน และที่น่าโศกสลดที่สุดคือ เป็นชีวิตของเด็กหนุ่มเด็กสาวมากมายที่ต้องสูญเสียไปให้กับเหตุการณ์อันไม่สมด้วยเหตุผลเอาเลย
นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรค่อนข้างน้อย ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ในชาติจึงรู้สึกถึงแรงกระทบจากเรื่องนี้ต่อตนเองกันทั่วหน้า ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่ละคนพากันส่งกำลังใจสู่กันและกัน ทั้งแบบตัวต่อตัวบนท้องถนน และทั้งแบบใจต่อใจบนโลกออนไลน์
นอร์เวย์เป็นประเทศที่เราๆ ท่านๆ สามารถเจอะเจอนักการเมืองระดับสูงสุดของชาติ เดินสบายๆ ไปตามท้องถนนในกรุงออสโล โดยไม่ต้องพึ่งบริการของทีมรักษาความปลอดภัย
การโจมตีครั้งนี้จึงนับเป็นการมุ่งร้ายต่อค่านิยมของชาติอันเป็นสมบัติที่ชาวนอร์เวย์หวงแหนที่สุด ค่านิยมแห่งการเปิดกว้างอย่างสุดๆ ค่านิยมแห่งเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งความรู้สึกเชื่อมั่นในความปลอดภัย ได้ถูกเหตุการณ์ร้ายกาจครั้งนี้สั่นคลอนลงไปถึงแกนกลางทีเดียว
เกาะอูเทอร์ยาเป็นค่ายฤดูร้อนที่พรรคแรงงานจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ซึ่งมีฉันทะทางการเมือง ได้มาเล่นฟุตบอล ได้ร่วมการหารือถกประเด็นต่างๆ ได้พบกับผู้นำของพรรคทั้งรุ่นเก่าก่อนและรุ่นปัจจุบัน ในคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีเจนส์ สโตลเทนเบิร์กเอง ก็ได้ระบุว่าเกาะยูโทยาซึ่งเคยเป็นสวรรค์สำหรับคนหนุ่มสาว ได้กลายเป็นนรกไปแล้ว
**ด้านมืดในนอร์เวย์**
ถ้าจะว่าไป มันเป็นความขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่งที่ชายหัวรุนแรงอุดมการณ์สุดโต่งคนหนึ่ง ซึ่งแสดงออกว่าใฝ่ฝันอยากปกป้องนอร์เวย์จากผู้บุกรุก อีกทั้งจาก “ภัยอันตราย”แห่งสังคมหลากหลายวัฒนธรรม จะหันกลับมทำลายชาติเสียเอง
น่าจะถึงเวลาแล้วที่นอร์เวย์จะต้องมาพิจารณาโฉมหน้าที่ไม่น่ารัก หากได้แฝงและดำรงอยู่ในสังคมของตนอย่างแท้จริง
รายงานของสื่อมวลชนระบุว่า ชายผู้ต้องหาต่อคดีสะเทือนขวัญครั้งนี้ มีท่าทีที่แสดงความเห็นใจต่อพรรคโปรเกรส ปาร์ตี้ (เอฟอาร์พี) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวขวาสุดขั้วของนอร์เวย์ หลายปีมานี้ พรรคเอฟอาร์พีได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ โดยเป็นการดึงฐานเสียงไปจากพรรคแรงงานซึ่งเอียงไปทางซ้ายมากขึ้น และจากพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งลดระดับมาเป็นกลางๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม พรรคเอฟอาร์พียังต้องพิสูจน์ระดับความนิยมที่ตนเองมีอยู่จริงผ่านการชนะเลือกตั้งให้สำเร็จก่อน
แนวโน้มของความรุนแรงในกลุ่มขวาจัดปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของประชาชนอย่างเช่น Document.no อันเป็นเว็บไซต์ซึ่ง อันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก ได้ทิ้งข้อเขียนไว้หลายหลาก ทั้งแนวเหยียดผิว แนวขวาสุดโต่งต่างๆ ตลอดจนการต่อต้านมุสลิม นอกจากนั้น ยังมีความพยายามจะจัดตั้งกลุ่มดาวเทียมนอร์เวย์
เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงภาคส่วนหนึ่งของประชากรนอร์เวย์ที่รู้สึกว่านโยบายคนเข้าเมืองของประเทศนั้นหละหลวมเกินไป คนพวกนี้รู้สึกว่าถูกตัดสิทธิ แม้ว่านอร์เวย์นั้นพยายามจะกระจายความมั่งคั่งของประเทศที่ได้จากการขายน้ำมัน ให้เป็นธรรมมากที่สุดก็ตาม ณ ปัจจุบันนี้ นอร์เวย์อาจถูกบีบให้ต้องลงมือจัดการกับการแอบแฝงของลัทธิชาตินิยมรุนแรงและความรู้สึกต่อต้านการเปิดโอกาสให้ต่างชาติไหลเข้าประเทศได้ไม่ยาก
จะอย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองเรื่องก่อการร้ายในประเทศครั้งนี้แบบอุ่นใจไปเปลาะหนึ่งว่า มันไม่ใช่ผลงานการแพร่ระบาดของลัทธิก่อการร้ายข้ามชาติ อย่างน้อยที่สุดมันช่วยลดเชื้อเพลิงที่ใครจะไปโหมกระพือความรู้สึกต่อต้านคนมุสลิม
แต่กระนั้น คนนอร์เวย์หวั่นว่าเสรีภาพที่พวกเขาถนอมรักษาไว้ อาจถูกกระทบในกาลข้างหน้า
“เราไม่ควรยอมให้ความกลัวทำลายความสามารถของเราในการคิดอย่างกระจ่างและชาญฉลาด” ฮาราล์ด สแตงเฮลล์ เขียนในบทบรรณาธิการการเมืองของหนังสือพิมพ์รายวัน อาฟเทนบลาเดท พร้อมบอกด้วยว่า “มีหลายอย่างที่เราไม่ควรจะยอมนำไปสังเวยบนแท่นบูชายันต์แห่งความกลัว”
ด้านลาร์ส เฮลล์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดักบลาเดท บอกว่า “เราต้องอย่าถูกครอบงำโดยความกลัว เฉกเช่นสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 หากแต่เราต้องมองดูสเปนและอังกฤษ ดูว่าผู้คนของชาติเหล่านั้นฟื้นฟูเสรีภาพของพวกเขาขึ้นมาอย่างไร จากการกระทำของพวกก่อการร้ายอันแสนเหี้ยมในปี 2004 และ 2005”
(ข้อเขียนของ ลิสส์ โกริล อันดา นักหนังสือพิมพ์ในนอร์เวย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น