ตาก- ทหารไทยเชิญผู้นำชาวกะเหรี่ยง UNHCR-TBBC ตั้งวงหารือช่วยผู้ลี้ภัยกลับพม่า เผยทุกฝ่ายเห็นด้วยไม่ได้บังคับผู้ลี้ภัย แต่ยังระแวงระเบิด อาหาร และยา ขณะที่เจ้าหน้าที่ยูเอ็นปฏิเสธให้การรับรองการส่งกลับ อ้างแค่สังเกตการณ์เท่านั้น
พ.อ.นพดล วัชรจิตบวร ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 ได้ประชุมร่วมกันระหว่างทหาร ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), ผู้แทนองค์กรช่วยเหลือชาวพม่า (TBBC), ผู้นำชนชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า ที่ได้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามายังชายแดนไทย เมื่อช่วงกลางปี 2552 ที่บ้านหนองบัว ต.แม่อูสุ อ.ท่าสองยาง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง อีกประมาณ 1,500-1,600 คน เดินทางกลับพม่าอย่างปลอดภัย หลังจากก่อนหน้านี้ได้เดินทางกลับไปแล้วกว่า 1,300 คน
ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 กล่าวกับที่ประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยจากการสู้รบกลับไปภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย และมีความสะดวก โดยใช้หลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ UNHCR และองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ผู้นำชุมชนทุกฝ่ายเข้าร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันทุกฝ่ายเรื่องการส่งกลับผู้อพยพ
การประชุมครั้งนี้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยที่ทีผ่านมาทางเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ลี้ภัยที่กลับไปด้วยความสมัครใจ 18 ครั้ง และได้ทำการตรวจสอบแล้ว ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่กลับไปแล้ว ยังคงอยู่ในภูมิลำเนาของตนเองโดยไม่มีปัญหาอะไร
นายโยชิมิ ไซตะ หัวหน้าภาคสนาม UNHCR กล่าวว่า ขอให้ที่ประชุม และสื่อมวลชนอย่าเข้าใจผิดว่าทาง UNHCR ให้การรับรองผู้หนีภัยจากการสู้รบที่ประสงค์จะเดินทางกลับไปฝั่งพม่าอย่างเป็นทางการ เพราะ UNHCR จะให้การรับรองการส่งกลับได้ต่อเมื่อทาง UNHCR สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฝั่งพม่าได้โดยทางรัฐบาลพม่าต้องรับทราบด้วย และต้องดูแลผู้ลี้ภัยในเรื่องที่อยู่อาศัย และอาหาร อย่างน้อย 6 เดือน
ส่วนการตัดสินใจกลับของผู้ลี้ภัยนั้นเป็นการตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ไทย กับผู้ลี้ภัย UNHCR ไม่ห้าม และให้ความเคารพในการตัดสินใจของผู้ลี้ภัย ฉะนั้นการประชุมครั้งนี้ ทาง UNHCR ไม่ได้ถือว่า เป็นข้อตกลง หรือไม่ใช่ข้อตกลงใดๆ เพียงแต่การสังเกตการณ์ และไปรับทราบว่า การเดินทางกลับไปของผู้ลี้ภัย ไม่ได้ถูกบังคับเท่านั้น
“ทาง UNHCR ได้ร้องขอจากเจ้าหน้าที่ไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์.เข้าถึงผู้ลี้ภัย ก่อนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อสอบถามว่าผู้ลี้ภัยถูกบังคับหรือขู่ให้เดินทางกลับหรือไม่” นายโยชิมิ ไซตะ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากการประชุม ทางเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครอง-ฝ่ายความมั่นคงไทย พร้อมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน NGO และแกนนำผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง ได้เดินทางไปดูพื้นที่รองรับผู้อพยพชั่วคราว บ้านหนองบัว และทำการประชุมเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการเดินทางกลับ ซึ่งทางแกนนำในพื้นที่พร้อมที่จะทำความเข้าใจ และดำเนินการกับผู้อพยพที่ต้องการเดินทางกลับถิ่นที่อยู่ของตัวเอง เพื่อประกอบอาชีพ ตั้งถิ่นฐานบนประเทศของตัวเองอย่างมั่นคงปลอดภัย