xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไร่อ้อยบุรีรัมย์บุกร้องสภาทนายความ - ถูกหลอกซื้อปุ๋ยปลอมสูญกว่า 10 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่บุรีรัมย์ถูกหลอกซื้อปุ๋ยเคมีปลอม บุกร้องสภาทนายความ จ.บุรีรัมย์ให้ช่วยเหลือ วันนี้ (12 ก.พ.)
บุรีรัมย์ - เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่บุรีรัมย์ ถูกหลอกซื้อปุ๋ยเคมีปลอมอ้างมีคุณภาพสูง แต่กลับทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงกว่า 3-4 เท่าตัว บุกร้องสภาทนายความจ.บุรีรัมย์ให้ช่วยเหลือเผยมีเกษตรกรตกเป็นเหยื่อไม่น้อยกว่า 150 ราย สูญเงินกว่า 10 ล้าน เผยส่งให้สำนักวิจัยฯ กรมวิชาการเกษตรตรวจพบคุณภาพต่ำกว่าปุ๋ยทั่วไปถึง 4 เท่า


วันนี้ ( 12 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ต.คูเมือง และ ต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กว่า 10 คน ได้นำปุ๋ยเคมียี่ห้อ “แมวไทยคู่ดาว” จำนวน 2 กระสอบ บุกร้องสภาทนายความจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ช่วยเหลือฟ้องร้องเรียกเงินคืนจาก “ห.จ.ก.เคมีคอม อินเตอร์เทรด” ซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยตรา “แมวไทยคู่ดาว” หลังจากมีเซลแมนหรือพนักงานขายนำปุ๋ยดังกล่าวมาเสนอขายกระสอบละ 850 บาท โดยอ้างมีคุณภาพดีกว่าปุ๋ยเคมียี่ห้ออื่น เกษตรกรจึงหลงเชื่อได้ซื้อไว้คนละ 50 – 150 กระสอบ คิดเป็นเงินรายละ 50,000 – 120,000 บาท

แต่เมื่อนำปุ๋ยไปใส่ไร่อ้อยกลับไม่ได้ผลตามที่เซลโฆษณาอวดอ้าง จากที่เคยได้ผลิตไร่ละ 15 – 20 ตัน ลดลงเหลือเพียงไร่ละ 4-5 ตันเท่านั้น จึงได้ไปติดตามทวงถามกลับได้รับคำตอบจากพนักงานขาย ว่า ปุ๋ยได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม มีโรงงานผลิตที่ชัดเจน แต่สาเหตุที่ไม่ได้ผลอาจเป็นเพราะดินมีคุณภาพต่ำ พร้อมขู่ฟ้องกลับหากกล่าวหาว่าปุ๋ยของบริษัทไม่มีคุณภาพ

จากนั้น เกษตรกรจึงได้ส่งปุ๋ยที่เหลือไปตรวจที่สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ปรากฏว่าปุ๋ยยี่ห้อดังกล่าวมีคุณภาพต่ำกว่าปุ๋ยทั่วไปถึง 3-4 เท่า จึงรู้ว่าถูกหลอกขายปุ๋ยปลอมให้ จึงพากันเข้าร้องขอความเป็นธรรมกับสภาทนายความให้ฟ้องเอาผิด และเตรียมเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานขายและบริษัทดังกล่าวด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรตกเป็นเหยื่อถูกหลอกซื้อปุ๋ยปลอมไม่น้อยกว่า 150 ราย สูญเงินกว่า 10 ล้านบาท

ด้านนายภิญโญ โพธินา อายุ 52 ปี อยู่เลขที่ 67 หมุ่ 4 ต.คูเมือง อ.คูเมือง กล่าวว่า ปกติจะซื้อปุ๋ยจากโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ แต่เมื่อเดือนมี.ค. 2552 ได้มีนายสมบูรณ์ ที่รัก ซึ่งเป็นพนักงานขายมานำเสนอปุ๋ยตรา “แมวไทยคู่ดาว” ในราคากระสอบละ 850 บาท ซึ่งไม่เคยใช้มาก่อน แต่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ของโรงงานน้ำตาลมาบอกให้ลองใช้

จากนั้นเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต่างซื้อไว้คนละ 50 -150 กระสอบ คิดเป็นเงินคนละ 50,000 – 120,000 บาท โดยจ่ายเงินสดวันลงปุ๋ย 50 เปอร์เซ็นต์ก่อนแล้วจ่ายงวดที่ 2 ภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นประมาณเดือนพ.ค.2552 ได้นำปุ๋ยไปใส่อ้อยที่ปลูกไว้ตามปกติ แต่ปรากฏว่าอ้อยไม่เขียวขึ้น กลับมีใบเหลืองจึงโทรศัพท์ทักท้วงพนักงานขาย แต่ได้รับคำตอบว่าเป็นปุ๋ยมีคุณภาพ สาเหตุมีปัญหาเพราะดินมีคุณภาพต่ำเกินไป เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เชื่อเพราะอ้อยไม่มีการเจริญเติบโตขึ้นเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แต่จำเป็นต้องใส่อีกเพราะซื้อมาแล้ว

จากนั้นได้นำปุ๋ยที่เหลือส่งให้ สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯไปตรวจสอบ ผลปรากกว่า ปุ๋ยดังกล่าวมีคุณภาพต่ำกว่าปุ๋ยทั่วไป 3-4 เท่า จึงรู้ว่าถูกหลอกขายปุ๋ยปลอมให้ ไม่มีที่พึ่งจึงเข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความให้ทำการฟ้องร้องเรียกเงินคืน เพราะมีเกษตรกรในอำเภอคูเมือง หลงเชื่อซื้อไปใส่ไร่อ้อยเป็นจำนวนมาก คาดว่ามีเกษตรกรตกเป็นเหยื่อไม่น้อยกว่า 150 ราย สูญเงินไปไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

ด้าน นางอรอนงค์ โปรทา อายุ 34 ปี อยู่เลขที่ 200 หมู่ 8 ต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง กล่วว่าตนปลูกอ้อยทั้งหมด 40 ไร่ ทุกปีจะได้ผลผลิตอ้อยไร่ละ 15 – 20 ตัน แต่เมื่อนำปุ๋ยยี่ห้อดังกล่าวไปใส่ กลับได้ผลผลิตลดลงเหลือเพียงไร่ละ 4 – 5 ตัน ซึ่งปีนี้นอกจากจะไม่มีเงินไปชำระหนี้สินแล้ว ยังต้องขาดทุนจากการทำไร่อ้อยมีหนี้เพิ่มขึ้นอีก

“จึงอยากจะเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการเอาผิดและเรียกเงินที่จ่ายไปคืนให้หมดด้วย” นางอรอนงค์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น