xs
xsm
sm
md
lg

สวทช. จับมือเอกชน พัฒนาต้นกระดาษสู่เส้นใยผ้า-พืชพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน (ซ้าย) ผอ.สวทช. และ นางศิริวรรณ ดําเนินชาญวนิชย์ (ขวา) ประธานกรรมการบริษัท แอ๊ดวานซ์อาเชี่ยน จำกัด ลงนามในในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 53
สวทช. จับมือภาคเอกชนเซ็นสัญญาร่วมวิจัยต้นกระดาษ ด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอมาร์กเกอร์ หวังย่นเวลาปรับปรุงพันธุ์ เล็งศึกษาเส้นใยยูคาลิปตัสพัฒนาเป็นเครื่องนุ่งห่ม พร้อมต่อยอดสู่ภาคพลังงาน มุ่งสร้างเศรษฐกิจบนฐานความรู้ ยกระดับความเป็นอยู่เกษตรกรไทย หวังกระตุ้นภาคธุรกิจลงทุนวิจัยพัฒนา เสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท แอ๊ดวานซ์อาเชี่ยน จำกัด ลงนามร่วมกันในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 8 ก.พ.53 ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดและมีศักยภาพพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มุ่งสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองและเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีธุรกิจบนฐานความรู้ ซึ่งหากภาคเอกชนสนใจและลงทุนด้านวิจัยและพัฒนากันอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวหน้าและแข่งขันได้ในตลาดโลก

"ที่ผ่านมา สวทช. มีกลุ่มวิจัยด้านการเกษตรและอาหารอยู่แล้ว โดยมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น"

"แต่สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการร่วมกันวิจัยในเรื่องที่ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง คือยูคาลิปตัส ซึ่งทางบริษัทมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับต้นยูคาลิปตัสอยู่แล้ว และศูนย์วิจัยของ สวทช. ก็มีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนทำวิจัยได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น เทคโนโลยีดีเอ็นเอมาร์กเกอร์ (DNA marker) ช่วยในการพัฒนาสายพันธุ์ยูคาลิปตัสให้มีลักษณะตรงตามความต้องการในเวลารวดเร็วขึ้น" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว

ในเบื้องต้น บริษัท แอ๊ดวานซ์อาเชี่ยน จำกัด มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์ต้นยูคาลิปตัสเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมกระดาษเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับศูนย์วิจัยของ สวทช. อยู่บ้างแล้ว เช่น การพัฒนาพันธุ์ยูคาลิปตัส การตรวจวิเคราะห์คุณภาพเนื้อไม้ เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็สนใจที่จะศึกษาการนำเส้นใยต้นยูคาลิปตัสมาใช้ประโยชน์ด้านเครื่องนุ่งห่มด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยพบว่ามีการนำเส้นใยยูคาลิปตัสมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

"ในประเทศฟิลิปปินส์มีการนำเส้นใยสับปะรดมาทำเครื่องนุ่งห่ม แต่ยังไม่เคยมีข้อมูลว่ามีที่ไหนนำเอาเส้นใยยูคาลิปตัสมาทำเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทางบริษัทมีความสนใจและมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะนำเส้นใยยูคาลิปตัสมาใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของเส้นใยยูคาลิปตัสด้วย รวมถึงการศึกษาการใช้ประโยชน์จากลิกนิน การนำเนื้อไม้ไปใช้เป็นพลังงานชีวมวล" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน

ผอ.สวทช. บอกอีกว่า ในการร่วมกันวิจัยกับภาคเอกชน เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ ก็มักจะพบปัญหาใหม่ให้เราวิจัยและพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นการนำโจทย์จากภาคเอกชนเข้ามาวิจัยเพื่อแก้ปัญหา หรือวิจัยพัฒนาเพื่อให้เอกชนนำไปใช้ประโยชน์ได้ และนอกจากยูคาลิปตัสแล้วยังมีมันสำปะหลังที่มีความสนใจวิจัยและพัฒนาร่วมกันเพื่อใช้เป็นพืชพลังงาน

"ประโยชน์ที่ได้จากความร่วมมือในครั้งนี้ ที่เห็นได้ชัดคือภาคเอกชนมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากการวิจัยและพัฒนา เกษตรกรได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชพันธุ์ดี มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาให้ประเทศก้าวหน้าขึ้นได้ ซึ่งหากภาคเอกชนเห็นคุณค่าของการวิจัยและพัฒนา และหันมาลงทุนด้านนี้มากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เห็นได้ว่านักวิจัยสามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของภาคเอกชน ก็จะส่งผลให้งบวิจัยของประเทศเพิ่มขึ้นได้ และเมื่อทั้งภาครัฐและเอกชนลงทุนวิจัยและพัฒนามากขึ้น ประเทศชาติก็ยิ่งเจริญก้าวหน้า" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท แอ๊ดวานซ์อาเชี่ยน จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มชัยโยเอเอ (Shaiyo-aa)  ซึ่งมุ่งเน้นธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างครบวงจร และมีแผนจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการพัฒนาพันธุ์พืช และห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการใช้พันธุ์พืช ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยได้มีการลงนามในสัญญาเช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์เพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยดังกล่าวในวันเดียวกันด้วย.
สวทช. และ บริษัท แอ๊ดวานซ์อาเชี่ยน จำกัด จะร่วมมือกันวิจัยและพัฒนายูคาลิปตัสเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมกระดาษ เครื่องนุ่งห่ม และพลังงานชีวมวล
ข้าวไรซ์เบอร์รี ผลงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ สวทช. ได้รับการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยบริษัท แอ๊ดวานซ์อาเชี่ยน จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น