xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านวังกระแจะพบปุ๋ยปลอมโดยสั่งซื้อจากโครงการ SML ของรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตราด -ชาวบ้านหมู่ 9 ตำบลวังกระแจะ พบปุ๋ยปลอมใส่พืชไม่งอกงาม โดยสั่งซื้อจากกองทุนหมู่บ้านในโครงการ SML ของรัฐบาล

วันนี้ (6 ม.ค. 53 ) ที่ศาลาเอนกประสงค์ หมู่ 9 ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด นายทรงยศ สุทธิวารี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ได้เรียกลูกบ้าน มาประชุมเพื่อชี้แจงกรณีที่พบปุ๋ยปลอม (ปุ๋ยไม่มีธาตุอาหารสำหรับต้นไม้)

นางอำนวย บัวพูล ชาวบ้านหมู่ที่ 9 ต. วังกระแจะ อ. เมือง จ. ตราด กล่าวว่า ทางหมู่บ้านได้รับเงินจากโครงการ SML จำนวน 3 แสนบาท มาตั้งกองทุนปุ๋ยของหมู่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านได้สั่งซื้อปุ๋ยอินทรีย์ยี่ห้อ พลังทิพย์ ราคาลูกละ 370 บาท จากบริษัทปุ๋ยจำนวน 40 ตัน ตนเองได้สั่งปุ๋ยจากผู้ใหญ่บ้านจำนวน 7 ตัน เมื่อนำมาใส่พืชผักผลไม้ เช่น กะเพรา ลองกอง และมังคุด ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพต่ำ พืชผลไม่เจริญงอกงาม

อำเภอได้ส่งปุ๋ยไปตรวจที่ศูนย์วิจัยพืชฯ ที่จ. จันทบุรี พบว่าปุ๋ยไม่มีธาตุอาหารใด ๆ ที่มีประโยชน์ต่อพืช หลังจากนั้นจึงแจ้งให้สารวัตรปุ๋ยทราบและสารวัตรปุ๋ยก็ได้มาเก็บปุ๋ยกลับไป และทางคณะกรรมการได้แจ้งไปยังบริษัทให้นำปุ๋ยมาเปลี่ยน แต่บริษัทก็นำปุ๋ยชนิดเดิมที่ไม่มีธาตุอาหารมาให้อีก จึงต้องการให้บริษัทขายปุ๋ยแสดงความรับผิดชอบ และให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านเพราะปุ๋ยที่ได้มาทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำลง

ด้านนายทรงยศ สุทธิวารี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต. วังกระแจะ อ. เมือง จ. ตราด กล่าวว่า ทางอำเภอได้ให้งบประมาณมาจำนวน 3 แสนบาทจากโครงการ SML ของรัฐบาล ตนจึงสั่งซื้อปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ตรา พลังทิพย์ มาจำหน่ายให้กับชาวบ้าน โดยไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ มิฉะนั้นคงไม่สั่งปุ๋ยจากบรษัทนี้มา ซึ่งจากผลการตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยจากศูนย์วิจัยพืชฯ จ. จันทบุรี ตนเองก็ยอมรับผลดังกล่าวเพราะเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารต่ำจริง

ขณะนี้มีสมาชิกบางส่วนได้มาชำระเงินคืนกองทุนบ้างแล้วประมาณ 2 แสนบาท ส่วนที่เหลือประมาณ 1 แสนบาทหากไม่มีการชำระคืนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งทางชาวบ้านได้เรียกร้องให้ทางบริษัท นำปุ๋ยมาเปลี่ยนแต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยก่อนจึงจะนำไปใช้ ทางบริษัทก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ และเมื่อวานทางอำเภอได้มอบให้ นายณัฐสิษฐ์ ศรีพงษ์ ปลัดอวุโส มาให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านโดยรวมกลุ่มกันก่อน แล้วค่อยเรียกเงินทดแทนคืนในภายหลัง ส่วนในวันนี้จะประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายสมัย วารัตน์ เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยปลอม กล่าวว่า ตนเองซื้อปุ่ยมาจำนวน 1 ตัน และใช้ไปประมาณ 15 กระสอบ แล้ว แต่ไม่ทราบว่าปุ่ยดังกล่าวเป็นปุ๋ยปลอม (ไม่มีธาตุอาหารสำหรับต้นไม้) จนกระทั่งคณะกรรมการนำปุ๋ยไปตรวจ พบว่าปุ๋ยทั้งหมดไม่มีคุณค่าสำหรับการบำรุงต้นไม้และผลไม้เลย เพราะไม่มีส่วนประกอบของปุ๋ยอินทรีย์

เรื่องนี้ต้องการให้กรรมการหมู่บ้านเจรจากับบริษัท ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะซื้อไปในนามของหมู่บ้านก็หลายสิบตัน เป็นเงินนับแสนบาท อยากให้บริษัทที่จำหน่ายปุ๋ยออกมารับผิดชอบ และจะไม่ยอมจ่ายเงินส่วนที่เหลือด้วยจนกว่าจะมีการเจรจากันเสียก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น