xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : ยินดี-ยินร้าย ล้วนเป็นทุกข์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในปีหนึ่งๆของชีวิต ถ้าเราจะสำรวจตรวจสอบตัวเราเอง เราก็จะพบว่า มีความทุกข์หลายเรื่องหลาย ประการ เกิดขึ้นสลับซับซ้อนในชีวิตตลอดเวลา ถ้าเราบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งสิ้นปี แล้วเอามารวมเข้าก็จะได้ทุกข์กองใหญ่ มีเรื่องทุกข์มากมาย แล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดมาอย่างไร มันดับไปอย่างไร เราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะขาดการศึกษาในเรื่องชีวิต..
ชีวิตของคนเรานั้นมันมีส่วนประกอบสองประการ คือร่างกาย และก็จิตใจ เรียกตามภาษาในวัดว่ารูปกับนาม รูปคือร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ยาววา หนาคืบ กว้างศอก เป็นฝ่ายรูปธรรม ในร่างกายของเรานั้นมีใจเป็นผู้ทำหน้าที่ คิด นึก จดจำ ในเรื่องอะไรๆต่างๆ
ความทุกข์ความสุขที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันเกิดที่ใจ ไม่ได้เกิดที่ร่างกาย แม้ร่างกายจะกระทบอะไร ถ้าใจเป็นผู้มีปัญญารู้ทันรู้เท่า ทุกข์นั้นก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่จะต้อง รู้จักและจะต้องรู้วิธีแก้ไข ป้องกันสิ่งเหล่านั้น ไม่ให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา
ส่วนร่างกายนั้นไม่ยากลำบากอะไร เรารักษาสุขภาพกายง่าย คือกินอาหารให้ถูกส่วน กินอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ไม่กินของที่เป็นพิษเข้าไปในร่างกาย เช่น ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสิ่งที่มีพิษมีภัยแก่ร่างกาย หลับนอนพอสมควร ไม่ไปสู่สถานที่ที่มีโรคติดต่อ ทำให้เราเป็นโรคนั้นๆ รู้จักระวังการไปการมา การคบหาสมาคมกับคนอื่น อย่างนี้ร่างกายก็จะสบาย
ดินฟ้าอากาศย่อมเปลี่ยนแปลง ร้อน ฝน หนาว เวลาถึงฤดูหนาว ร่างกายมันอาจจะเย็น เราก็ต้องห่มผ้าให้มันอุ่นไว้ ก็จะไม่เป็นหวัด ไม่เป็นไข้ บ้านช่องของเราอาจจะมีสิ่งที่เป็นพิษรอบๆบ้าน เราก็ต้องระวังรักษาความสะอาดรอบๆบ้าน ให้เรียบร้อย ไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นเบียดเบียนร่างกายของเรา ร่างกายก็จะเป็นปกติ ไม่มีโรค ไม่มีภัย
ทีนี้จิตใจมันเป็นเรื่องที่รับอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่มากระทบ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์คือรูปกระทบ ตา อารมณ์คือเสียงกระทบหู อารมณ์คือกลิ่นกระทบจมูก อารมณ์คือรสกระทบลิ้น อารมณ์ที่กระทบผิวกาย กระทบกายประสาทให้เกิดความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อะไรต่างๆ แล้วมันก็ไปสู่ใจของเรา ใจก็รับสิ่งเหล่านั้นเอามาปรุงแต่ง เกิดความยินดีเพราะชอบใจ เกิดความยินร้ายเพราะไม่ชอบใจ เวลายินดีก็อยากได้ เวลายินร้ายก็ไม่อยากได้ สภาพใจของเราจึงอยู่ด้วยการดึงเข้ามา ผลักออกไปตลอดเวลา สิ่งใดที่เราชอบก็ดึงเข้ามา เอามาคิดมานึกมาติดพันอยู่ในสิ่งนั้น สิ่งใดไม่ชอบก็อยากจะผลักดันออกไป การดึงเข้ามาก็ดี การผลักดันออกไปก็ดี ต้องออกแรง มันก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน
ในทางการปฏิบัติธรรมะ ท่านจึงสอนว่า ระวังไม่ให้เกิดความยินดี แล้วก็ไม่ให้เกิดความยินร้าย ยินดีมันก็เป็นทุกข์เหมือนกันแต่ว่ามันเป็นทุกข์คนละแบบ ยินดีนั้นเป็นทุกข์แบบหนึ่ง ยินร้ายก็เป็นแบบหนึ่ง เช่น เราชอบ ใจอะไรเราก็สบายใจ แต่ความสบายใจนั้นมันจะสูญไป หายไป เมื่อสิ่งที่เราชอบนั้นจากเราไป ไม่อยู่กับเรา เราก็ไม่สบายใจ ความไม่สบายนั้นเกิดจากความยินดี แล้วความยินดีมันหายไป เราก็ไม่สบายใจมันเกิดตามลำดับ แต่ความยินร้ายเกิดทันที เหมือนเราจับไฟร้อนทันที ไหม้ทันที มือพองทันที ส่วนความยินดีนั้นคล้ายกับว่าเรากินของอร่อย แต่ว่ามันเกิดทุกข์ในภายหลัง ทำให้สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป จิตใจที่เปลี่ยนไปอย่างนั้นมันเป็นทุกข์ ความยินดีก็เป็นทุกข์ได้ ความยินร้ายก็เป็นทุกข์ได้ ทุกข์เกิดเพราะชอบทุกข์เกิดเพราะชัง ทุกข์เกิดเพราะความ ยินดี ทุกข์เกิดเพราะความยินร้าย เราจะต้องระมัดระวังใจ ของเราไม่ให้เกิดความยินดี แล้วก็ไม่ให้เกิดความยินร้าย ด้วยความมีสติรู้ทันรู้เท่าในสิ่งที่มากระทบ คือคอยกำหนด รู้ ถ้าจิตเราคอยกำหนดรู้ ความยินดีมันก็ไม่เกิด ความยินร้ายมันก็ไม่เกิด เพราะใจเรานั้นคิดได้ทีละเรื่องไม่ได้คิดสองเรื่องในเวลาเดียวกัน
เมื่อเรามีสติมีปัญญากำกับ ใจมันก็มีสติปัญญาอยู่ เรื่องอื่นก็ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าใจเราไม่มีสติปัญญาก็จะเกิดความยินดียินร้ายกระทบกระเทือนจิตใจ เหมือนนกมาเกาะต้นไม้ จับบ่อยๆ กิ่งไม้เสียหาย ใบไม้หล่นหมดเหลือ แต่กิ่งแต่ก้าน ให้ไปดูที่ต้นไม้ที่นกจับมากๆ ต้นไม้นั้นก็จะไม่มีใบ เพราะความกระเทือนของนกที่มาจับ เวลาลงจับมันก็กระเทือน เวลาบินไปมันก็ต้องกระเทือน เพราะเวลาบินมันต้องออกแรง ออกแรงเพื่อตีจากสิ่งนั้น ต้นไม้ก็กระเทือนเหมือนกัน ใจเรานี้ก็เหมือนกัน เวลายินดีก็กระทบกระเทือนใจ เวลายินร้ายมันก็กระทบกระเทือนใจเหมือนกัน มันกระทบกระเทือนทั้งสองครั้งสองฝ่ายสองเรื่อง
แต่ทางที่ถูกต้องคือว่าระวังไม่ให้เกิดยินดีและยินร้ายเมื่อไม่เกิดยินดียินร้ายจิตใจก็อยู่ในสภาพสบาย ไม่มีปัญหาอะไร เราก็อยู่รอดปลอดภัยจากสิ่งเหล่านั้น
คำว่าอยู่รอด หมายความว่ารอดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจในชีวิตประจำวัน ชีวิตที่อยู่ไม่รอดคือชีวิตที่มีแต่ปัญหา มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนประจำอยู่ตลอดเวลา เพราะสิ่งภายนอกมากระทบ มันทำให้เรากระเทือนใจ ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ฝ่ายสุขฝ่ายทุกข์ ฝ่ายเสื่อมฝ่ายเจริญ มันกระเทือนใจเราทั้งนั้น ทำให้เรามีปัญหาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องฝึกให้เป็นคนมีสติรู้ทันรู้เท่าในสิ่งเหล่านั้น แล้วก็ต้องมีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเป็นเครื่องเตือนจิตใจไว้ให้รู้ว่า อะไรๆนั้น ความจริงเป็นอย่างไร เนื้อแท้ของสิ่งทั้งหลายนั้นมันเป็น อย่างไร
เนื้อแท้ของสิ่งทั้งหลายนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารู้ว่า มันมีความไม่เที่ยง มีความเป็นทุกข์ มีความเป็นอนัตตา ไม่เที่ยงหมายความว่าเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาไม่คง ที่ มีการไหลการเวียนการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สรรพสิ่ง ทั้งหลายในโลกนี้มันไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อะไรที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา มันก็มีความเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ เราจะไปจับฉวยเอาตอนใดตอนหนึ่ง ว่าเป็นตัวเราก็ไม่ได้ ว่าเป็นของเราก็ไม่ได้ เพราะการไปจับไปฉวยมันก็เป็นทุกข์มันเดือดร้อนใจ
ทางที่ถูกคือไม่ไปจับเอาไว้ แต่ว่าให้ดูสิ่งนั้นด้วยปัญญา หมายความว่าดูให้เห็นว่ามันเป็นอย่างไร มันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันเป็นอนัตตาอย่างไร เราต้องดูต้องพิจารณาไว้บ่อยๆ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเราก็คุมจิตได้ ไม่ต้องเศร้าโศก ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องร้องไห้

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม
วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕)


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 โดยพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
กำลังโหลดความคิดเห็น