ศูนย์ข่าวศรีราชา-ชลประทานแจง สถานการณ์น้ำภาคตะวันออกไร้ปัญหา หลังพบปริมาณน้ำดิบอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ขณะที่กลางปี 53 รัฐหนุนงบไทยเข้มแข็ง 4.4 พันล้านบาท เพื่อผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มรองรับได้อีก 20 ปี
นายบุญสม ยุติธรรมภิญโญ นายช่างชลประทานอาวุโส กรมชลประทานจังหวัดชล บุรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของพื้นที่ภาคตะวันออก ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ที่โรงแรมเดอะกรีนพาร์ค รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าจากการติดตามสถานการณ์ของปริมาณน้ำฝน และการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาบ่งชี้จะมีปรากฏการณ์เอลนินโญเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก จนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 2-3 องศา ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้พื้นที่บริเวณเอเซียเกิดปัญหาภัยแล้ง จนหลายฝ่ายวิตกกันว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคตนั้น
จากกรณีดังกล่าวทางกรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เตรียมความพร้อมในการประสานงานแก้ไขไว้แล้ว โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับทาง บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรือ อีสวอเตอร์ ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมากักเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระจำนวน 20 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จึงทำให้ขณะนี้ปริมาณน้ำดิบจากทั้ง 7 อ่างกักเก็บ ที่ส่งจ่ายในพื้นที่ชาย ฝั่งทะเลจากชลบุรี-สัตหีบ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 107 ลบ.ม. หรือ 57 % ของปริมาณมวลรวมทั้งหมด
เมื่อเทียบกับปี 52 จะพบว่าน้ำในปีนี้มีมากกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำดิบเพียง 97 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีน้ำดิบที่ทางอีสวอเตอร์ได้ไปดำเนินการจัดซื้อบ่อดินของภาคเอกชนมาเสริมซึ่งจะได้น้ำเพิ่มเติมขึ้นอีก 8 ล้าน ลบ.ม.จึงมั่นใจได้ว่าในปี 2553 นี้ไม่มีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน
นายบุญสม กล่าวต่อไปว่าขณะที่ปัญหาน้ำดิบในพื้นที่ของเมืองพัทยานั้น พบว่าปริมาณน้ำดิบจาก 5 อ่างกักเก็บน้ำในปัจจุบัน ได้แก่ อ่างห้วยสะพาน หนองกลางดง ห้วยขุนจิต มาบประชัน และชากนอก มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 57 % ซึ่งถือว่าเพียงพอ เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนก็จะถึงฤดูฝน ซึ่งแม้ว่าจะมีปัญ หาอยู่บ้าง แต่ก็สามารถผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างหนองค้อ หรือจากพื้นที่จังหวัดระยอง ได้แก่ หนองปลาไหล หรือดอกกราย มาเสริมได้อีก เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดระยองนี้มีปริมาณน้ำดิบมากถึง 80 % และขณะนี้ทางอีสวอร์เตอร์ก็ยังจัดวางระบบท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำปะแสร์ ในจังหวัดจันทบุรี มาเสริมที่อ่างคลองใหญ่ ที่ต่อเชื่อมมายังอ่างบางพระ ที่เติมน้ำดิบได้อีกกว่า 75 ล้าน ลบ.ม.ด้วย จึงถือว่าในปี 53 นี้ มีการวางแผนในเรื่องของการผันน้ำที่ดีและคงไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
ในปี 2553 กรมชลประทาน ยังจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการไทยแข้มแข็งจากภาครัฐบาลอีกจำนวน 4.4 พันล้านบาท เพื่อมาดำเนินการวางระบบการผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก มากักเก็บยังอ่างเก็บน้ำบางพระในปริมาณ 75 - 80 ล้าน ลบ.ม.
ปัจจุบันได้มีการดำเนินการว่าจ้างผู้รับเหมาแล้ว รวมทั้งการจัดซื้อที่ดินเพื่อวางแนวท่อ ขณะที่การก่อสร้างโครงการนั้นจะเริ่มดำเนิน การในช่วงกลางปีนี้ และจะแล้วเสร็จในปี 2556 ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะสามารถรองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ของจังหวัดชลบุรีได้ถึง 20 ปีทีเดียว
ด้านนายธานี ทองสม ผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคเมืองพัทยา กล่าวว่าปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาคจัดซื้อน้ำดิบจากในส่วนของกรมชลประทานอยู่ในปริมาณ 63 % และจากอีสวอร์เตอร์อยู่ในปริมาณ 24 % ที่เหลือเป็นประปาสัตหีบ 13 % ซึ่งถือว่าเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม สำหรับปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่เมืองพัทยา อยู่ที่ 1.4 แสน ลบ.ม./วัน ขณะที่กำลังผลิตของการประปานั้นอยู่ที่ 1.44 แสน ลบ.ม./วัน จึงทำให้สถานการณ์ตึงไปบ้าง และอาจทำให้บางพื้นที่ประสบภาวะของการขาดแคลนในบางช่วง เมื่อประสบปัญหาในเรื่องของระบบ
นายธานี กล่าวต่อไปว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ทางการประปาได้เร่งรัดโครงการในการจัดวางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองกลางดงมายังอ่างเก็บน้ำมาบประชันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ระบบอีก 500 ลบ.ม./ชม. ซึ่งก็จะสามารถบรรเทาปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ระยะยาวนั้นได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท เพื่อเพิ่มระบบกำลังผลิตที่อ่างเก็บน้ำหนองกลางดงให้เป็น 3 พัน ลบ.ม./ ชม.
การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 55 % และจัดสรรงบประมาณอีก 400 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตจาก 1.5 พัน ลบ.ม./ชม. เป็น 2 พัน ลบ.ม./ชม. ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 54 โดยเมื่อทั้ง 2 โครง การสามารถเปิดเดินระบบได้ ก็จะสามารถจ่ายน้ำเข้าสู่พื้นที่เมืองพัทยาได้เฉลี่ยสูงถึงวันละ 3 แสนกว่า ลบ.ม.ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน