xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานลุยสร้างประตูน้ำปิง กลุ่มเหมืองฝายฯ ไม่เอา - นักวิชาการแนะทำแก้มลิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝายท่าวังตาล
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชลประทานเชียงใหม่ เดินหน้าจัดเวทีทำความเข้าใจชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงพร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่ง มูลค่า 464 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม บอกหากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเกิน 70% จึงจะนำเสนอรัฐบาลตัดสินใจทำโครงการต่อ ยันใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งกักเก็บน้ำและบรรเทาอุทกภัย พร้อมคงสภาพฝายเก่าไว้เพื่อสร้างความมั่นใจ ขณะที่กลุ่มชาวบ้านผู้ใช้น้ำเหมืองฝายย้ำจุดยืนไม่เอาด้วย ด้านนักวิชาการแนะทำแก้มลิงต้นน้ำดีกว่า


นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงพร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่งว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประชุมชี้แจงรายละเอียด ทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นโครงการ จากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ซึ่งเวลานี้ได้ดำเนินการจัดเวทีดังกล่าวไปแล้ว 4 ครั้ง จากทั้งหมด 7 ครั้ง

เบื้องต้นพบว่าประชาชนได้รับทราบข้อมูล และมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการมากขึ้น ทั้งนี้จะมีการสรุปข้อมูลและรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนทั้งหมด หลังจากจัดเวทีครบทั้ง 7 ครั้งแล้ว หากประชาชนมีความเห็นด้วยกับโครงการเกินกว่าร้อยละ 70 จึงจะนำเสนอโครงการดังกล่าวนี้ให้รัฐบาลตัดสินใจอีกครั้งว่าจะดำเนินโครงการต่อไปหรือไม่

สำหรับประเด็นที่กลุ่มชาวบ้านผู้ใช้ประโยชน์จากฝายทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล มีความเห็นห่วงกังวลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ นายสุเทพ กล่าวว่า เท่าที่ทราบมีประเด็นหลักที่เป็นห่วงอยู่ 2 เรื่อง คือ กลัวว่าหากมีการสร้างประตูระบายน้ำแล้ว น้ำจากแม่น้ำปิงจะไม่ถูกผันเข้าสู่ลำเหมือง ที่ส่งไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรเหมือนเดิม และเกรงว่าระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมจะถูกทำให้สูญหายไป

ในประเด็นแรกยืนยันว่า ประตูระบายน้ำดังกล่าวจะทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถผันน้ำจากลำน้ำปิงเข้าสู่พื้นที่การเกษตรได้เหมือนเดิมอย่างแน่นอน ขณะที่ฝายทั้ง 3 แห่งนั้น พร้อมที่จะคงสภาพไว้อย่างเดิมไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะเป็นที่พอใจของชาวบ้านเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น แม้ว่าจะทำให้ประตูระบายน้ำไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพก็ตาม

ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 (เชียงใหม่) ย้ำด้วยว่า หากมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ซึ่งมีจุดก่อสร้างอยู่ที่บริเวณฝายท่าวังตาล สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ในช่วงฤดูน้ำหลาก และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง โดยที่ในช่วงฤดูน้ำหลากนั้นประตูระบายน้ำ สามารถเปิดเพื่อระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่มีน้ำมาก ในขณะที่ฝายที่มีอยู่ไม่สามารถเปิดเพื่อระบายน้ำได้

ขณะเดียวกัน ยังเห็นว่าแม้ฝายจะเป็นตัวช่วยกักเก็บน้ำใช้ในฤดูแล้ง แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นตัวกักตะกอนดินที่ไหลมากับกระแสน้ำด้วย ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ท้องน้ำสูงขึ้นและเป็นสาเหตุให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ได้ในที่สุด

นายกิตติพร ฉวีสุข หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรมบริหาร โครงการก่อสร้าง 2 สำนักงานชลประทานที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้ทำการลงนามสัญญากับเอกชนไปแล้ว ด้วยค่าจ้างก่อสร้างวงเงินประมาณ 464 ล้านบาท อย่างไรก็ตามได้มีการชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน เพื่อทำความเข้าใจ และชี้แจงรายละเอียดข้อมูลของโครงการให้กับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการ ซึ่งได้ดำเนินการจัดเวทีไปแล้ว 4 ครั้ง จากทั้งหมด 7 ครั้ง หากชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการจึงจะมีการนำเสนอโครงการ เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติให้มีการดำเนินการก่อสร้างต่อไป

ส่วนการรื้อฝายเก่าทั้ง 3 แห่งออกไป นายกิตติพร กล่าวว่า ในกรณีที่หากมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำจริง ในเบื้องต้นคงจะมีการรื้อเพียงฝายท่าวังตาลแห่งเดียวเท่านั้น เพราะอยู่ในจุดที่ตั้งของประตูระบายน้ำ ส่วนฝายอีก 2 แห่ง ได้แก่ ฝายพญาคำ และฝายหนองผึ้ง จะยังคงสภาพไว้อย่างเดิม จนกว่าจะเป็นที่พอใจของกลุ่มชาวบ้านที่ใช้น้ำเหมืองฝาย ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านว่า ประตูระบายน้ำสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในการกักเก็บและผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม เหมือนกับฝายที่เคยใช้ประโยชน์อยู่เดิม รวมทั้งสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมไปได้พร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม การรื้อฝายออกเพียงแห่งเดียวในกรณีดังกล่าวนั้น จะทำให้ประตูระบายน้ำที่สร้างขึ้นยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เพราะการรื้อฝายออกไปเพียงแห่งเดียวจะทำให้สามารถของการระบายน้ำในลำน้ำแม่ปิง ช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่เพิ่มขึ้นจาก 440 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีไปอีกประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น ขณะที่ในกรณีที่มีการรื้อฝายออกไปพร้อมกันทั้ง 3 แห่ง จะทำให้ความสามารถในการระบายน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานฝายพญาคำ แสดงความเห็นว่า กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายอีก 8 แห่ง ที่อยู่ทางตอนใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น ในอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด เป็นต้น ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะไม่เชื่อว่าประตูระบายน้ำดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง ในทางตรงกันข้ามกลับจะส่งผลกระทบ ทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายทั้งหมดไม่สามารถใช้ประโยชน์น้ำได้เหมือนเดิม

ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะกับฝายท่าวังตาล ที่สนับสนุนให้มีการเดินหน้าโครงการนี้ ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายอื่นๆ ไม่เห็นด้วยเพราะหวั่นจะได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ รองประธานฝายพญาคำ กล่าวว่า ที่ผ่านมามักจะมีการกล่าวอ้างเสมอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ว่า ได้มีการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่โครงการแล้วพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง ขณะเดียวกันไม่แน่ใจว่า โครงการนี้มีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม จากโครงการดังกล่าวแล้วหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และอยากเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการนี้ โดยยืนยันว่าฝายที่มีอยู่ไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ อย่างที่มีความพยายามจะทำให้คนทั่วไปรู้สึกเช่นนั้น

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ สุขวนาชัยกุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า โดยส่วนตัวมองว่าการสร้างประตูระบายน้ำตามโครงการดังกล่าวโดยอ้างว่าเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น ไม่น่าจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธี

ทั้งนี้ ตามหลักวิชาการแล้ว การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ จะต้องทำโดยการมีมาตรการชะลออัตราการไหลสูงสุดของน้ำ ที่จะเข้ามาถึงตัวเมืองเชียงใหม่ให้เหลือน้อยที่สุดในช่วงน้ำหลาก ซึ่งสามารถทำได้โดยการสร้างเขื่อนหรือทำแก้มลิงในพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อดักชะลอน้ำจากลำน้ำสาขาใหญ่ๆ ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปิง

ปัจจุบันทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิงมีเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ที่ช่วยชะลอน้ำอยู่แล้ว แต่ทางฝั่งขวายังไม่มีโครงสร้างใดๆ ที่ช่วยชะลอน้ำจากลำน้ำแม่แตงหรือลำน้ำแม่ริม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ เห็นได้ชัดจากกรณีเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ในปี 2548 ที่อัตราการไหลสูงสุดของน้ำในแม่น้ำปิง 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีนั้น เป็นน้ำที่มาจากลำน้ำแม่แตงถึงกว่า 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

ดังนั้น เห็นว่าการก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำแม่แตง น่าจะเป็นวิธีการที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเชื่อว่าทางกรมชลประทานก็น่าจะได้มีการศึกษาเรื่องนี้ไว้พอสมควร อย่างไรก็ตาม ยอมรับการสร้างเขื่อนนั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย กล่าวคือแม้จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ แต่จะมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจะเลือกอย่างไหน หรืออาจจะเลือกที่จะยอมรับสภาพโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนก็ได้ เพราะโอกาสที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงจะมากถึง 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในแต่ละปีมีเพียง 2% เท่านั้น

อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า การสร้างประตูระบายน้ำอาจจะมีประโยชน์อยู่บ้างในแง่ของการช่วยให้ระบายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ไม่เกิดประโยชน์กับพื้นที่ท้ายน้ำหรือไม่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่เลย เพราะกว่าที่น้ำจะไหลมาถึงประตูระบายน้ำ ในเขตตัวเมืองก็ถูกน้ำท่วมหมดแล้ว

ส่วนสร้างประตูระบายน้ำและรื้อฝายเก่า 3 แห่งออกไปนั้น จะส่งผลเสียต่อพื้นที่รับน้ำที่อยู่ทางใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เพราะจะไม่มีฝายที่ช่วยชะลอน้ำอีกต่อไป และมีการระบายน้ำออกจากพื้นที่เชียงใหม่เร็วยิ่งขึ้นด้วย ทำให้พื้นที่ดังกล่าวจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ระบุว่า ปัญหาสำคัญของแม่น้ำปิงในเวลานี้ คือ ปัญหาลำน้ำคับแคบที่เกิดจากการรุกล้ำ ทำให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้น้อย ทั้งนี้แม้ว่าทางภาครัฐจะมีโครงการขุดขยายความกว้างของลำน้ำแม่ปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ให้ได้ 90 เมตร ตลอดแนวก็ตาม แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นไปได้ยาก และการที่สามารถทำการขุดขยายความกว้างของลำน้ำได้เพียงบางจุดเท่านั้น ก็ไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่าในแง่ของการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำแต่อย่างใด เพราะจะทำให้ลำน้ำเกิดลักษณะที่เป็นคอขวด

อนึ่ง โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงพร้อมรื้อย้ายฝายเก่า 3 แห่ง นั้น เป็นโครงการของกรมชลประทาน มีมูลค่าโครงการประมาณ 500 ล้านบาท โดยการดำเนินการตามโครงการจะประกอบด้วย 1.การสร้างประตูระบายน้ำชนิดบานเหล็กโค้ง ขนาดบานระบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร สูง 6.50 เมตร จำนวน 6 บาน พร้อมระบบควบคุมน้ำอัตโนมัติ 2.บันไดปลาโจน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 270 เมตร 3.อาคารท่อส่งน้ำปากคลองขนาด 2 คูณ 2 เมตร จำนวน 3 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ฝายทั้ง 3 แห่ง และ 4.การรื้อฝายท่าศาลา (ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล

ตามรายละเอียดโครงการที่มีการนำเสนอชี้แจง ระบุว่า ประตูระบายน้ำดังกล่าวนี้จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของท่าศาลา (ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล จำนวน 10,000 ไร่ 5,200 ไร่ และ 8,100 ไร่ ตามลำดับด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น