ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เผยผลสำรวจโครงการสร้างประตูระบายน้ำพร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่ง ในแม่น้ำปิงแก้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ พบมีผู้ที่เห็นด้วยกว่า 72% แม้ส่วนใหญ่จะระบุว่าสาเหตุหลักของน้ำท่วม มาจากการบุกรุกพื้นที่ริมตลิ่งตลอดลำน้ำ ด้านชลประทานยอมรับประตูระบายน้ำช่วยแก้น้ำแล้งเป็นหลัก แต่ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายยันค้านถึงที่สุด เตรียมปรึกษาสภาทนายความยื่นฟ้องศาลปกครอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงพร อ่อนหวาน รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปิดเผยรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาน้ำท่วม และโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงว่า จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 2,896 ราย แบ่งเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ 1,854 ราย อำเภอสารภี 646 ราย และการจัดเสวนาของโครงการฯ 396 ราย
ผลปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วย 2,107 ราย คิดเป็น 72.8% ของจำนวนผู้ที่ตอบแบบสอบถาม ไม่เห็นด้วย 658 ราย คิดเป็น 22.7% และไม่แสดงความคิดเห็น 131 ราย คิดเป็น 4.5%
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำดังกล่าว ในการสำรวจความเห็นครั้งเดียวกันนี้ ปรากฏว่ามี 1,452 ราย หรือ 50.1% ที่ทราบว่าโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่ส่วนที่เหลือ 1,374 ราย หรือ 47.5% ไม่ทราบ และ 70 ราย ไม่ระบุว่าทราบหรือไม่
ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เห็นว่าสาเหตุอันดับหนึ่งเป็นเพราะแม่น้ำปิงมีความคับแคบเนื่องจากถูกบุกรุก 1,936 ความเห็น รองลงมาเป็นเพราะพายุที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก 1,856 ความเห็น พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย 1,626 ความเห็น และมีฝายหินทิ้งกีดขวางการระบายน้ำในแม่น้ำปิง 802 ความเห็น
รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวยืนยันว่า การดำเนินการทั้งหมดทุกขั้นตอนในการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงในครั้งนี้ ยึดอยู่หลักวิชาการ ไม่มีการเอนเอียงเข้าข้างทางชลประทานที่เป็นผู้ว่าจ้างแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันระบุด้วยว่า การที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำนั้น ไม่ได้หมายความว่าฝายเก่าทั้ง 3 แห่ง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งผู้ที่ตอบแบบสอบถามก็ได้แสดงความเห็นไว้ในแบบสอบถามแล้ว
ส่วนในกรณีที่ทางผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่งจะใช้ผลสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ นำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงพร กล่าวว่า หากจะมีการนำผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในครั้งนี้ไปใช้เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะมีการดำเนินการตามหลักวิชาการทุกประการ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นตัวตัดสินชี้ขาดว่าจะดำเนินโครงการหรือไม่ เนื่องจากในการตัดสินใจโครงการนั้น จำเป็นจะต้องมีการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ อย่างรอบด้านและรอบคอบ ไม่ใช่ยึดเพียงผลสำรวจความคิดเห็นเท่านั้น
ด้าน นายกิตติพร ฉวีสุข หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรมบริหาร โครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวถึงโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงพร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่งว่า โครงการนี้ได้ทำการลงนามสัญญากับเอกชนไปแล้ว แต่มีการชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน เพื่อทำความเข้าใจ และชี้แจงรายละเอียดข้อมูลของโครงการให้กับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการ
ทั้งนี้ ยอมรับว่าประตูระบายน้ำตามโครงการนี้มีประโยชน์ในการใช้งาน เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำแล้งเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันก็มีส่วนที่จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ไปพร้อมกันด้วย เพราะจะทำให้การบริหารจัดการน้ำในลำน้ำแม่ปิงสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น ทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน
ขณะที่นายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ กล่าวว่า ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายยังคงยืนยันไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมรื้อฝายเก่าทิ้ง เพราะไม่เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ทั้งนี้หากยังคงมีความพยายามผลักดันโครงการต่อไปก็มีความเป็นไปได้ที่ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำจะยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยเวลานี้ได้เตรียมที่จะขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากทางสภาทนายความแล้ว
อนึ่ง โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงพร้อมรื้อย้ายฝายเก่า 3 แห่ง นั้น เป็นโครงการของกรมชลประทาน มีมูลค่าโครงการประมาณ 500 ล้านบาท โดยการดำเนินการตามโครงการจะประกอบด้วย 1.การสร้างประตูระบายน้ำชนิดบานเหล็กโค้ง ขนาดบานระบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร สูง 6.50 เมตร จำนวน 6 บาน พร้อมระบบควบคุมน้ำอัตโนมัติ 2.บันไดปลาโจน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 270 เมตร 3.อาคารท่อส่งน้ำปากคลองขนาด 2 คูณ 2 เมตร จำนวน 3 แห่ง เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ฝายทั้ง 3 แห่ง และ 4.การรื้อฝายท่าศาลา (ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล
ตามรายละเอียดโครงการที่มีการนำเสนอชี้แจง ระบุว่า ประตูระบายน้ำดังกล่าวนี้จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของท่าศาลา (ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล จำนวน 10,000 ไร่ 5,200 ไร่ และ 8,100 ไร่ ตามลำดับด้วย