xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิเก็บข้อมูลรื้อฝายน้ำปิง-ดันฟ้องศาลปกครองล้มโครงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวสันต์ พานิช รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม และคณะ สำรวจฝาย 3 แห่งที่กั้นแม่น้ำปิง
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่– กรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบและเก็บข้อมูลโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง พร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่ง หลังกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายเชียงใหม่-ลำพูน ร้องเรียนและเคยมีความเห็นให้ยกเลิกโครงการไปแล้วครั้งหนึ่ง เผยเตรียมเรียกร้องข้อมูลทุกฝ่าย พิจารณาละเอียดแล้วสรุปรายงานให้ความเห็น ขณะที่รองประธานฝายเก่า หวังอาศัยช่องยื่นฟ้องศาลปกครองล้มโครงการ ด้านกลุ่มผู้ใช้น้ำลำพูนโวยกรมชลประทานไม่เคยให้ข้อมูลโครงการ ยันไม่เอาประตูระบายน้ำ หวั่นพื้นที่ท้ายน้ำเผชิญน้ำแล้ง-น้ำท่วมหนักกว่าเดิม

คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยนายวสันต์ พานิช รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่สำรวจสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล ซึ่งกั้นน้ำในลำน้ำแม่ปิง พร้อมรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริง จากกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ที่ใช้ประโยชน์น้ำจากฝายดังกล่าว เพื่อการเพาะปลูกพื้นที่รวมกันหลายหมื่นไร่

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายดังกล่าวทำหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงพร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่งของกรมชลประทาน เนื่องจากเกรงว่าหากมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำจริง จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นการทำลายวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมในการบริหารจัดการน้ำ

ขณะเดียวกัน ไม่เชื่อว่าประตูระบายน้ำดังกล่าวสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง และฝายก็ไม่ได้เป็นต้นเหตุของน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ตามที่กรมชลประทานระบุด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าการให้ข้อมูลโครงการที่ผ่านมาไม่มีความโปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นายวสันต์ พานิช รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้เคยรับการร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการนี้มาแล้ว ในครั้งนั้นโครงการนี้มีแผนจะรื้อฝายก่อนแล้วค่อยสร้างประตูระบายน้ำ ซึ่งได้เคยมีการให้ความเห็นว่าควรยกเลิกโครงการนี้ ขณะที่โครงการดังกล่าวในเวลานี้จะก่อสร้างประตูระบายน้ำก่อนแล้วค่อยรื้อฝาย

จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำในครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ และทำให้ทราบว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีประชาคมโครงการนี้ไปแล้ว 7 ครั้ง โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมชลประทาน ที่เป็นเจ้าของโครงการ แล้วมีความพยายามจะอ้างว่าเวทีดังกล่าวเป็นการประชาพิจารณ์ ซึ่งตามข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านเห็นว่า การจัดเวทีดังกล่าวไม่น่าจะถือว่าเป็นการประชาพิจารณ์ เพราะมีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวมากกว่า

สำหรับความเป็นได้ในการนำกรณีนี้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง นายวสันต์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ให้สิทธิกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการยื่นฟ้องแทนชาวบ้านได้ ในกรณีที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีความเห็นต่อกรณีที่พิจารณาไปแล้ว แต่ผู้บริหารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉยไม่ปฏิบัติตาม

ในส่วนของกรณีโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง พร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่งของกรมชลประทาน คงจะต้องมีการเรียกข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อสรุปเป็นรายงานผลการตรวจสอบเสียก่อนที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป

รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นด้วยว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายที่ชาวบ้านใช้กันอยู่นั้น ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมที่ควรค่าแก่การรักษาให้คงอยู่ ซึ่งหากมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ก็อาจจะเท่ากับเป็นการทำลายภูมิปัญญาท้องถิ่นดังกล่าว ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานลงไป รวมทั้งยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าเมื่อรื้อฝายออกไปแล้วจะทำให้น้ำเข้าเหมืองเหมือนเดิมหรือไม่ ทั้งนี้เคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ในกรณีของการก่อสร้างเขื่อนแม่สรวย ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งปรากฏว่าไม่สามารถใช้งานได้จริง และยังเป็นการทำลายระบบเหมืองฝายของชาวบ้านลงไปด้วย

นายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ กล่าวว่า ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝาย ทั้งฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายอีก 8 แห่ง ที่อยู่ทางตอนใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น ในอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด เป็นต้น ยังคงยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะไม่เชื่อว่าประตูระบายน้ำจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ได้จริง และยืนยันว่าฝายที่มีอยู่ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากมีการรื้อฝายและก่อสร้างประตูระบายน้ำ เห็นว่า จะส่งผลกระทบทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายทั้งหมดไม่สามารถใช้ประโยชน์น้ำได้เหมือนเดิม กลุ่มที่อยู่ท้ายน้ำต้องประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมหนักหน่วงยิ่งขึ้น และที่สำคัญอีกประการหนึ่งจะเป็นการทำลายวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิม อย่างเช่นพิธีกรรมเลี้ยงผีฝาย ที่เคยทำเป็นประจำทุกปีก็คงจะต้องสูญสลายไป

นอกจากนี้ รองประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ กล่าวถึงการจัดเวทีประชาคมโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงพร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่ง ที่มีการจัดไปแล้วรวมทั้งสิ้น 7 ครั้งว่า เวทีดังกล่าวเป็นการจัดเวทีเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ มากกว่าที่จะเป็นเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างที่ได้พยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะยังมีผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงที่ไม่ทราบข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับโครงการนี้อีกเป็นจำนวนมาก เวทีดังกล่าวจึงเป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวเท่านั้น และแต่ละครั้งก็มีผู้เข้าร่วมไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งแต่ละคนล้วนไม่ได้เป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายที่มีส่วนได้เสียโดยตรงเลย

รองประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ กล่าวด้วยว่า การร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถือเป็นความหวังของกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝาย ในการพยายามยับยั้งโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำลงให้ได้ พร้อมกับรักษามรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษได้สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ส่วนของการฟ้องศาลปกครอง หากเป็นไปได้คงต้องอาศัยช่องทาง ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเช่นกัน เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย

นายฉลองชัย ปันเจริญ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านอุโมงค์ ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ตนเองและชาวบ้านในพื้นที่เพิ่งทราบว่ากรมชลประทานมีโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิงพร้อมรื้อฝายพญาคำ ฝายท่าวังตาลและฝายหนองผึ้ง เมื่อไม่ถึงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ทั้งๆ ที่โครงการดังกล่าวมีความพยายามผลักดันมานานนับปีแล้ว เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยประชาสัมพันธ์หรือลงพื้นที่ให้ข้อมูลใดๆ เลย ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเพราะชาวบ้านในพื้นที่นับพันหลังคาเรือน ต่างต้องอาศัยน้ำจากฝายดังกล่าวในการเพาะปลูก ทั้งทำนา ทำไร่และทำสวน

ส่วนความคิดเห็นต่อโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง พร้อมรื้อฝายเก่า 3 แห่ง นายฉลองชัย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะไม่เชื่อว่าจะสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ และไม่คิดว่าฝายที่มีอยู่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากฝายป็นสิ่งที่มีอยู่เดิมมานานนับร้อยปีแล้ว โดยที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากมีการสร้างประตูระบายน้ำจริง จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากกว่า โดยเฉพาะกับกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ท้ายประตูระบายน้ำ เพราะในหน้าแล้งอาจจะต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากมีการกั้นน้ำเอาไว้ทางตอนบน ขณะที่หน้าน้ำอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะจะต้องมีการระบายน้ำออกมามาก

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากการลงพื้นที่ของคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ และกลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายเชียงใหม่-ลำพูน ได้มีความเห็นและตกลงร่วมกันที่จะทำการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการนี้จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดจะจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2551 กระจายให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และมีการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม รวมทั้งกรมชลประทานที่เป็นเจ้าของโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น