xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาบุรีรัมย์ปลูกข้าวโพดพืชใช้น้ำน้อย - วางขายริมถนนสร้างรายได้สู้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวนาเกือบทั้งหมู่บ้าน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์  พากันปลูกข้าวโพดพืชที่ใช้น้ำน้อย นำผลผลิตวางขายตามเพิงริมถนนสร้างรายได้เสริมในหน้าแล้ง วันนี้ ( 1 ก.พ.)
บุรีรัมย์ - ชาวนาเกือบทั้งหมู่บ้านอ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ปลูกข้าวโพดพืชที่ใช้น้ำน้อย นำผลผลิตวางขายตามเพิงริมถนนสร้างรายได้เสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวและลดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ช่วงหน้าแล้ง มีรายได้งามกว่าวันละ 1,000 บาทต่อราย ขณะเกษตรสหกรณ์แจ้งเตือนผู้ปลูกข้าวนาปรังระวังวิกฤติขาดแคลนน้ำ

วันนี้ (1 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน บ.หนองหว้า ต.หนองขมาร อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 30 ครัวเรือน ได้ใช้พื้นที่ทุ่งนาหลังเก็บเกี่ยวข้าว ปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะภัยแล้ง เป็นอาชีพเสริมประสบผลสำเร็จ นำมาต้มและขายสดวางจำหน่ายตามเพิงริมถนนสายบุรีรัมย์ –พุทไธสง ซึ่งเป็นถนนสายหลักผ่านหมู่บ้าน ทั้งขายปลีกและส่งให้ประชาชนที่ขับรถสัญจรผ่านไปมา ทำให้มีรายได้เฉลี่ยวันละกว่า 1,000 บาท สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวโดยไม่ขัดสน จากปกติทุกปีหลังเก็บเกี่ยวจะพากันอพยพเคลื่อนย้ายออกไปหาทำงานรับจ้างยังนอกพื้นที่และต่างจังหวัดกันเป็นจำนวนมาก

นางยวน พวงศิริ อายุ 50 ปี ชาวบ้านบ้านหนองหว้า กล่าวว่า ในปีหนึ่งจะมีรายได้เฉลี่ยจากการขายข้าวโพดปีละ ประมาณ 80,000 – 100,000 บาท ปลูกบนพื้นที่ 4 ไร่ ส่วนเกษตรกรรายอื่นก็มีกำไรไม่แตกต่างกันแล้วแต่จะปลูกได้ตามมากน้อย โดยชาวบ้านจะใช้น้ำบาดาลในการเพาะปลูก ส่วนหน้าฝนก็ทำนาตามปกติ

ด้านนายศานติ นึกชอบ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด กล่าวว่า ในปี้นี้เกษตรกรได้พาปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า หรือ ประมาณ 60,000 – 100,000 ไร่ ใน 16 อำเภอ ซึ่งอำเภอที่ปลูกมาก มี อ.ปะคำ โนนดินแดง สตึก และ อ.หนองกี่ จากปีที่ผ่านมามีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพียง 30,000 ไร่

สาเหตุที่เกษตรกรหันมาปลูกนาปรังเพิ่มขึ้นเนื่องจากข้าวมีราคาสูง ประกอบกับรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ จึงได้แจ้งเตือนเกษตรกรไม่ควรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังมากจนเกินไป เกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งขาดแคลนน้ำทำให้ผลผลิตเสียหายประสบปัญหาขาดทุนได้ ซึ่งในช่วงนี้เกษตรกรควรปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง มากกว่า เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งดังกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น