ศูนย์ข่าวศรีราชา-เมืองพัทยาลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลในเขตเมืองพัทยารวม 11 หน่วยให้บริการ ตามนโยบายรัฐในเรื่องของการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนำร่องที่แรกของประเทศ ระบุสามารถแจ้งเหตุทันที 1669 หรือ 1337 ตลอด 24 ชั่วโมง
วันนี้ (22 ธ.ค.52) ที่ห้องประชุมศาลาว่าการเมืองพัทยา นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และตัวแทนหน่วยงานบริการรวม 11 แห่งในพื้นที่เมืองพัทยา และ อ.บางละมุง ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมจัดบริการระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินในเขตเมืองพัทยา โดยมีตัวแทนชุมชนต่างๆ ของเมืองพัทยาเข้าร่วมในพิธี
โดยหน่วยงานบริการที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 11 แห่ง ประกอบด้วย เมืองพัทยา, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี, โรงพยาบาลกรุงเทพ-พัทยา, โรงพยาบาลพัทยาเมโมเรียล, มูลนิธิสว่างบริบูรณ์ธรรมสถาน, สำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย จ.ชลบุรี, กองบังคับการตำรวจน้ำ กองกำกับการ 5, สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา, สถานีตำรวจภูธรบาละมุง และสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 6 สาขาพัทยา
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว มุ่งเน้นการเข้าช่วยเหลืออย่างปลอดภัย ด้วยระบบการลำเลียง หรือขนย้ายผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินจากจุดเกิดเหตุ ไปยังโรงพยาบาล ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และขยายความครอบคลุมการให้บริการแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน พร้อมประสานความร่วมมือจากภาคีที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน ให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือภายในเครือข่ายของตัวเองได้
“โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณปี 2553 ในภาพรวมทั้งประเทศจำนวน 400,250,000 บาท เพื่ออุดหนุน หรือชดเชยการปฏิบัติการ จำนวน 329,450,000 บาท และงบเพื่อพัฒนาระบบ และสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 60,800,000 บาท อีกทั้งงบเพื่อชดเชยหรืออุดหนุนการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำ และการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยาน จำนวน 10,000,000 บาท ซึ่งเมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวใหญ่จึงนำร่องโครงการก่อนพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ซึ่งในพิธีการครั้งนี้ถือว่าจัดได้อย่างยิ่งใหญ่เพราะหลายหน่วยงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” นพ.ชาตรี กล่าว
ด้าน นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า หลังจากที่มีการทำข้อตกลงแล้ว เมืองพัทยาจะร่วมกำหนดความต้องการหน่วยบริการให้สามารถครอบคลุมบริการที่ไม่น้อยกว่า 1 หน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินต่อจำนวนประชาชนไม่น้อยกว่า 3,000 คนที่พักอาศัยอยู่ได้อย่างชัดเจน และสามารถให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของทีมกู้ชีพกู้ภัยให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพ นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านงบประมาณอีกด้วย
ขณะที่ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนในพื้นที่เมืองพัทยา และ อ.บางละมุง สามารถขอความช่วยเหลือ เมื่อพบเหตุการณ์ หรือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ได้ที่หมายเลข 1669 หรือ 1337 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โดยต้องบอกสถานที่ที่เป็นจุดเด่น อาการเบื้องต้น และผู้ที่จะสามารถติดต่อกลับได้ โดยทางศูนย์สั่งการ รับแจ้งเหตุโรงพยาบาลชลบุรี จะส่งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินตามอาการที่แจ้ง ออกให้บริการดูแลปฐมพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ และนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด