xs
xsm
sm
md
lg

“ศูนย์ฉุกเฉิน-หน่วยกู้ชีพ” กับภารกิจสำคัญช่วงปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อีกไม่กี่วันแล้วสินะ จะถึงเทศกาลปีใหม่ จะมีวันหยุดยาวหลายวัน พี่น้องชาวไทยที่มีถิ่นฐานอยู่ต่างจังหวัด มักจะเดินทางกลับบ้าน ขณะที่คนกรุงเทพฯจะเดินทางไปพักผ่อนยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แล้วเกือบทุกปีจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางการจราจร และการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ณ สถานที่เกิดเหตุ ส่งต่อถึงมือแพทย์ ถือว่าเป็นนาทีช่วงชิงความเป็น ความตาย

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือศูนย์นเรนทร บอกว่า การช่วยเหลือ การยื้อชีวิตของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ผู้ให้ความช่วยเหลือต้องผ่านการอบรม มีความรู้ รู้จักวิธีการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุเบื้องต้น เพราะอุบัติเหตุไม่ได้เกิดเฉพาะบนท้องถนนเท่านั้น อย่างปีที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ เขาจะต้องรู้ขั้นตอนการช่วยเหลือผู้ที่สำลักควัน บาดแผลที่ถูกไฟลวกด้วย

ศูนย์นเรนทร มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากเดิมเน้นการนำส่งผู้บาดเจ็บไปยังสถานพยาบาลให้รวดเร็ว พัฒนามาสู่การเพิ่มขีดความสามารถของสถานพยาบาล และการจัดทำแผนรองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุ เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้สูงขึ้น และปัจจุบันได้มีการตั้งศูนย์อุบัติเหตุ (Trauma Center) ขึ้นในโรงพยาบาลรัฐบาลหลายแห่ง เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการรักษา ตั้งแต่การปฐมพยาบาลในที่เกิดเหตุ จนถึงการดูแลรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และลดความพิการ

ล่าสุด บอร์ดสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ. อนุมัติให้มีการผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินเพิ่มอีก 20 ตำแหน่งต่อปี เพื่อส่งไปประจำในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปอย่างน้อยแห่งละ 3 คน ภายในปี พ.ศ.2553 ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์สาขานี้อยู่ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศเพียง 130 คนเท่านั้น ถือว่ามีจำนวนน้อยมาก
 
ด้าน นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยขาดแคลนแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน อีกทั้งยังจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ และระบบบริการการแพทย์อุบัติเหตุอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอุบัติเหตุยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

ทั้งนี้ จากประสบการณ์การเตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุ อุบัติภัย เพื่อรักษาชีวิตผู้ประสบเหตุ จำเป็นต้องสร้างฐานความรู้ให้ทุกฝ่าย ตั้งแต่การปฐมพยาบาล การคัดกรองผู้ป่วยเพื่อนำส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม การนำส่งผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และการประสานงานของโรงพยาบาลเครือข่ายเพื่อกระจายผู้ป่วย รวมทั้งการรักษาร่วมกันโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

นพ.เอกกิตติ์ กล่าวต่อว่า ความพร้อมของการบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อนำไปรักษาให้ทันท่วงที มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เรามีหน่วยเวชศาสตร์การบิน รับผู้ป่วยอาการหนัก โดยใช้เครื่องบิน หรือเฮลิคอบเตอร์การแพทย์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังมีห้องอภิบาลหัวใจเคลื่อนที่ โดยรถมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉิน เป็นต้น

ที่มาของมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉิน สืบเนื่องมาจากสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ “รถติด” หากส่งรถพยาบาลอาจถึงคนไข้ช้า และอาจไม่ทันการณ์ เราจะส่งทีมมอเตอร์ไซค์ฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ไปรักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อน จากนั้นจะมีรถพยาบาลพร้อมทีมแพทย์ตามไปคนย้ายผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาล








หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน

แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191 , 123
ตำรวจท่องเที่ยว 1155
ตำรวจทางหลวง 1193
ศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ 1691 , 0-2255-1133-6
สายด่วนอาชญากรรม จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1340
แจ้งเหตุด่วนทางน้ำ ศูนย์ปลอดภัยทางน้ำ 1199
แจ้งเหตุเพลิงไหม้ ศูนย์ดับเพลิงศรีอยุธยา 199
แจ้งเหตุฉุกเฉิน อุบัติภัยสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ 1650
แจ้งเจ็บป่วยฉุกเฉิน ศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข 1669
สายด่วนแจ้งเหตุสาธารณภัย (ปภ.) ตลอด 24 ชั่วโมง 1784
หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล 1554
ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ กทม. ตลอด 24 ชั่วโมง 1555
อุบัติเหตุบนทางด่วน 1543
 

กำลังโหลดความคิดเห็น