xs
xsm
sm
md
lg

แฉสัมปทานอัปยศปี 50 โทลล์เวย์ผูกขาดธุรกิจทางด่วน ปชช.ถูกมัดมือชก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มาร์ค” สั่งหาช่องปลดแอกสัญญาทาส “โทลล์เวย์” ผูกขาดธุรกิจทางด่วน ปชช.ที่ใช้เส้นทางประจำไม่มีทางเลือก โดนมัดมือชกจ่ายเพิ่มวันละ 60 บาท เผยตัวเลขผู้ใช้รถวันละ 8 หมื่นคัน ต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายวันละ 4.4 ล้านบาท จี้ ทล.สางเงื่อนงำปี 50 ต่อสัมปทาน 17 ปี แลกเงื่อนไขไม่ฟ้อง


วันนี้ (23 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการปรับขึ้นค่าผ่านทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งทำให้ประชาชนที่ใช้เส้นทางประจำเดือดร้อนเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาการจราจรที่แออัดบนถนนวิภาวดีรังสิตนั้น รัฐบาลกำลังเร่งหาทางออกในการแก้ปัญหาพร้อมเร่งหาช่องทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยวานนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กระทรวงคมนาคมทำหนังสือทักท้วงไปยังบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ซึ่งยอมรับว่าในขณะนี้มีประเด็นว่าบริษัทมีการดำเนินการที่ละเมิดข้อสัญญาหรือไม่ ซึ่งให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการอยู่ หากมีการละเมิดจริง จะปฏิบัติตามกฎหมาย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวยืนยันว่า บริษัทไม่มีสิทธิ์เรียกร้องในการขอต่ออายุสัญญาสัมปทาน รวมทั้งบริษัทต้องยุติการฟ้องร้องรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ซึ่งขณะนี้บริษัทยังคงดำเนินการฟ้องร้องอยู่ จึงอาจเข้าข่ายละเมิดสัญญา

“ถ้ามีการละเมิดสัญญา ต้องมีการดำเนินการต่อไปทางกฎหมาย ก็อยู่ที่ฝ่ายกฎหมายจะพิจารณาแนวทางที่ดีที่สุดที่จะให้ฝ่ายรัฐและประชาชนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด"นายกรัฐมนตรี ระบุ แต่ไม่ได้ตอบคำถามชัดเจนว่าหากเอกชนทำผิดกฎหมายจริงจะมีการรื้อสัญญาทั้งหมดหรือไม่”

โดยช่วงนี้ รัฐบาลจะพยายามหาช่องทางบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้มาก เพราะต้องระมัดระวังว่ารัฐจะเป็นฝ่ายผิดสัญญาและทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

สำหรับบรรยากาศการใช้ทางด่วนโทลล์เวย์ ฝั่งขาเข้าช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการปรับขึ้นราคาในอัตราใหม่ เพิ่มอีก 30 บาท โดยคิดอัตราค่าผ่านทาง ในการใช้เส้นทาง รถ 4 ล้อ อยู่ที่ 60 บาท และ รถ 4 ล้อขึ้นไป อยู่ที่ 90 บาท ซึ่งเป็นช่วงระยะสั้น พบว่ามีปริมาณรถที่เข้าใช้บริการน้อยลงกว่าเมื่อวานที่ผ่านมา โดยเฉพาะเส้นทางลงสู่ถนนลาดพร้าว มีจำนวนลดน้อยลงกว่าเมื่อวาน รวมไปถึงด่านลาดพร้าวขาเข้าที่จะไปลงยังเส้นทางดินแดง เพื่อเชื่อมต่อกับทางด่วน มีจำนวนประชาชน เข้าใช้ในปริมาณที่บางตา

อย่างไรก็ตาม การจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงขาเข้าเมื่อช่วงเช้าวันนี้ กลับมีจำนวนรถหนาแน่น แต่ยังสามารถเคลื่อนตัวได้ โดยเริ่มมี การชะลอตัว และท้ายแถวสะสมอยู่บริเวณถนนวิภาวดี ตัดกับแยกเกษตรศาสตร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนตลอดเส้นทาง เพื่อเป็นการระบายการจราจร

ผู้ใช้เส้นทางแสนคันโดนมัดมือชก ฟันเละวันละ 4.4 ล้านบาท


นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานคณะกรรมการ ดอนเมืองโทลล์เวย์ กล่าวถึงผลกระทบการปรับค่าทางยกระดับ โดยยอมรับว่าหลังเริ่มใช้ค่าผ่านทางใหม่เป็นวันแรกเมื่อวานนี้ พบว่าปริมาณจราจรลดลงประมาณ 31% หรือประมาณ 24,000 คัน จากเดิมมีผู้ใช้บริการวันละประมาณ 80,000 คัน ขณะที่บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือประมาณ 400,000 บาท จากเดิมมีรายได้วันละประมาณ 4,000,000 บาท แต่คาดว่าในระยะต่อไป ปริมาณจราจรกระเตื้องขึ้น เพราะผู้ใช้บริการจะกลับมาใช้บริการเพราะสะดวก ไม่เจอปัญหาจราจรแออัด

ส่วนกรณีการฟ้องร้องของบริษัท วอเตอร์ บาวน์ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้จ่ายค่าเสียหาย 29 ล้านยูโรนั้น เป็นการฟ้องร้องในฐานะนักลงทุนจากเยอรมนีที่มาลงทุนในไทย ไม่ได้เป็นการฟ้องร้องในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทแต่อย่างใด เพราะไทยมีข้อตกลงกับเยอรมนี

“กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีนักลงทุนจากฝรั่งเศสถือหุ้นในบริษัท แต่ไม่ได้ว่ามีนักลงทุนจากฝรั่งเศสถือหุ้นในบริษัท แต่ไม่ได้ฟ้องร้องใดๆ เพราะไทยไม่มีข้อตกลงคุ้มครองนักลงทุนจากฝรั่งเศสอีกทั้งวอเตอร์บาวด์ไม่มีหุ้นเหลืออยู่ในบริษัทแล้วจากเดิมถือหุ้นอยู่ 10%”

ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่าบริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับการฟ้องร้องของบริษัท วอเตอร์บาวด์ ประเด็นนี้จึงไม่น่าเกี่ยวข้องกับเงื้อนไขการขยายอายุสัญญาสัมปทาน

ชี้ ปชช.ตกเป็นทาส สัญญาอัปยศ

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การขึ้นค่าผ่านทางของโทลล์เวย์ ในขณะนี้ ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะไม่สอดคล้องกับภาวะรายได้ และค่าครองชีพของประชาชน แม้บริษัทจะอ้างต้องทำตามสัญญาสัมปทานก็ตาม แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ การอ้างมติของ ครม.ก่อนหน้านี้ โดยบอกว่าเป็นไปตามสัญญาสัมปทานนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล ย่อมเป็นสัญญาทางปกครอง ที่ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย และเป็นสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายปกครอง

ดังนั้น ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองในสัญญาที่เป็นธรรม โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ใช้ทางด่วน กรมทางหลวงกำลังดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในการอนุมัติให้ขึ้นค่าทางด่วนโดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนผู้บริโภค ถือเป็นการกระทำที่ละเลยการคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 61

กรณีที่เกิดขึ้น เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค สถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจทางปกครอง สั่งการให้กรมทางหลวงยุติการอนุมัติให้ขึ้นราคา ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการฟ้องร้อง ครม. ที่ดำเนินการโดยไม่รักษาผลประโยชน์สาธารณะ

ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อปี 2550 ดอนเมืองโทลล์เวย์ เคยขอขยายเวลาสัมปทานออกไปอีก 17 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าตามข้อ 6 ว่าจะต้องยุติการดำเนินการฟ้องร้องคดีกับรัฐก่อน แต่ปรากฏว่าขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ถูกผู้ถือหุ้นของบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ คือ วอเตอร์บาวน์ ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี ฟ้องร้องโดยอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และรัฐบาลทำผิดสัญญาจากการให้ปรับลดค่าผ่านทางเลือก 20 บาท ตลอดสาย สร้างทางแข่งขัน เรียกค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งจนถึงขณะนี้เรื่องยังไม่ยุติ และหากจะขึ้นค่าผ่านทางจะต้องให้เรื่องการฟ้องยุติเสียก่อน

ดังนั้นจึงต้องกลับไปพิจารณาว่า บริษัท วอเตอร์บาวน์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของบริษัททางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์หรือไม่ หากเป็นส่วนหนึ่งก็ถือว่า ทางด่วนโทลล์เวย์กระทำผิดเงื่อนไขในสัญญาการขยายอายสัมปทาน รัฐบาลสามารถที่จะหาช่องทางดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อยกเลิกกาต่อสัญญาได้ เพราะถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามสัญญาหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น