xs
xsm
sm
md
lg

อีสานโพลชี้ปัญหาไทย-กัมพูชา พ่อค้าทั้ง 2 ชาติรับกระทบ แต่ความสัมพันธ์ยังแนบแน่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีแถลงข่าวคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีการนำเสนอผลวิจัยเรื่อง ผลกระทบเศรษฐกิจชายแดน และความรู้สึกต่อกรณีปัญหาไทย-กัมพูชา
ศูนย์ข่าวขอนแก่น- “อีสานโพล” สำรวจผลกระทบเศรษฐกิจชายแดน ต่อปัญหาไทย-กัมพูชา เผยผลสำรวจพ่อค้าไทยบริเวณชายแดน 55.4% ส่วนพ่อค้ากัมพูชา 50.8% ระบุ ส่งผลกระทบปานกลางถึงมาก เผยความรู้สึกต่อชาวไทยและกัมพูชา ยังไม่เปลี่ยนแปลง เหตุความสัมพันธุ์ยังแนบแน่น แต่นักธุรกิจไทยไม่เห็นด้วย กับมาตรการตอบโต้ของรัฐบาลถึง 61.5% เหตุรุนแรงเกินไป

วันนี้ (2 ธ.ค.) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) หรืออีสานโพล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมแถลงข่าว คณะวิทยาการ พบสื่อมวลชน ครั้งที่ 4 โดยมีการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบเศรษฐกิจชายแดน และความรู้สึกของคนในพื้นที่ จากกรณีปัญหาไทย-กัมพูชา” โดย นายประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน เป็นผู้แถลงต่อสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมอาคาร MS.02 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นายประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน เปิดเผยว่า ได้สำรวจข้อมูลเรื่อง ผลกระทบเศรษฐกิจชายแดน และความรู้สึกของคนในพื้นที่ กรณีปัญหาไทย-กัมพูชา โดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ประกอบการธุรกิจบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ในจ.อุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ ทั้งสิ้น 157 กิจการ แยกเป็นธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกมากที่สุด 75.0%, ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม 12.2%, ธุรกิจบริการ 4.5% และธุรกิจอื่น 8.3%

จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา มีผลกระทบต่อธุรกิจมากน้อยเพียงใด ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 55.4% ระบุว่า มีผลระดับปานกลางถึงมาก ไม่กระทบเลย 33.8% และมีผลกระทบน้อย 10.8% สาเหตุที่มีผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำธุรกิจค้าเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และขณะนี้เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนฤดู ข่าวขัดแย้งเกิดขึ้นทำให้ลูกค้า ทั้งคนไทย-กัมพูชา หันไปซื้อสินค้าบริเวณอื่นแทน

ส่วนผลกระทบต่อยอดขาย/รายได้ กลุ่มตัวอย่าง 54.2% ระบุว่า มียอดขายลดลง เพราะความขัดแย้ง ทำให้ลูกค้าเกิดความกังวล ไม่มาซื้อสินค้า มีผู้ประกอบการที่ยอดขายยังไม่เปลี่ยนแปลง 41.4% มียอดขายเพิ่มขึ้น 1.9% ขณะที่ผลกระทบยอดการผลิต พบว่า ผู้ประกอบการยังไม่ลดการผลิตถึง 63.7% เพราะหวังว่าความขัดแย้งจะคลี่คลายสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการ 28.0% ได้ปรับลดการผลิตลงตามสถานการณ์ มีเพียง 0.6% ที่ผลิตเพิ่ม และไม่ตอบคำถาม 7.7%

นายประเสริฐ กล่าวถึงผลสำรวจความรู้สึกของคนในพื้นที่กับปัญหาไทย-กัมพูชา เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดปัญหา โดยความรู้สึกต่อคนกัมพูชาเปลี่ยนไปหรือไม่ พบว่า 90.4% รู้สึกเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะสายสัมพันธ์ระดับประชาชนยังแนบแน่น มีแค่ 9.0% ที่รู้สึกแย่ลง และ 0.6% รู้สึกดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ความรู้สึกต่อรัฐบาลกัมพูชาเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พบว่า 82.1% ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเห็นว่า รัฐบาลกัมพูชาทำไปนั้น ก็เพื่อประเทศของตนเอง มีเพียง 17.9% ที่รู้สึกแย่ลง ที่สำคัญความรู้สึกต่อสมเด็จฮุนเซ็น เปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า 78.2% รู้สึกเหมือนเดิม อีก 21.2% รู้สึกแย่ลง และ 0.6% รู้สึกดีขึ้น

ในทางกลับกันผลสำรวจความรู้สึกต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย เปลี่ยนแปลงหรือไม่ พบว่า 46.8% รู้สึกแย่ลง กลุ่มตัวอย่างบางส่วนมีความรู้สึกจากการที่ไม่ชื่นชอบรัฐบาลนี้เป็นทุนเดิม เมื่อเกิดเหตุการณ์ยิ่งทำให้รู้สึกแย่ลง อีก 46.2% ไม่เปลี่ยนแปลง มีแค่ 7.0% รู้สึกดีขึ้น เพราะเห็นว่านายกรัฐมนตรีมีมาตรการที่สมควรตอบโต้กลับไป และทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

ส่วนความรู้สึกต่อนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนแปลงหรือไม่ พบว่า 46.2% ไม่เปลี่ยนแปลง โดยรู้สึกเห็นใจที่ต้องถูกกล่าวหา อีก 34.0% รู้สึกแย่ลง เป็นการทรยศชาติบ้านเมือง และ 19.8% รู้สึกดีขึ้น เพราะมีส่วนช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ผลสำรวจสุดท้าย มาตรการหรือท่าทีของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชาในปัจจุบัน มีความเหมาะสมหรือไม่ พบว่า 61.5% เห็นว่า ไม่เหมาะสม เพราะรุนแรงเกินไป กลุ่มตัวอย่างบางส่วนเห็นว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านไม่รู้จบ ควรเจรจา อีก 27.7% เห็นว่าเหมาะสม เพราะตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ไม่ควรยอมเกินไป รักษาผลประโยชน์ประเทศ และ 10.8% เห็นว่า ไม่เหมาะ เพราะเบาเกินไป ควรจัดการมาตรการขั้นเด็ดขาด

พ่อค้ากัมพูชายังเป็นมิตรแม้เกิดปัญหาไทย-กัมพูชา

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ได้สำรวจเรื่อง ความรู้สึกของคนกัมพูชา ต่อกรณีปัญหาไทย-กัมพูชา โดยสำรวจความรู้สึกของนักธุรกิจกัมพูชาที่ประกอบธุรกิจบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวน 185 ตัวอย่าง เป็นธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งมากที่สุด 82.7% ส่วนใหญ่ขายเสื้อผ้า ผ้าห่ม ของชำ กระเป๋า ไม้ดอกไม้ประดับ VCD ธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่ม 4.9% ธุรกิจบริการ 3.8% และธุรกิจอื่น 8.6% โดยปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา มีผลต่อธุรกิจเพียงใด ผลสำรวจระบุว่า 50.8% มีผลระดับปานกลางถึงมาก ไม่กระทบเลย 29.0% และมีผลน้อย 20.2%

ส่วนผลสำรวจในแง่ความรู้สึก กับปัญหาไทย-กัมพูชา ในประเด็นความรู้สึกต่อคนไทย เปลี่ยนแปลงหรือไม่ กว่า 93.6% รู้สึกเหมือนเดิม เพราะรู้สึกเห็นใจทั้ง 2 ฝ่าย ไม่คิดว่ามีความบาดหมางร้ายแรง มีแค่ 3.2% ที่รู้สึกแย่ลง และอีก 3.2% รู้สึกดีขึ้น ส่วนความรู้สึกต่อรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงหรือไม่ 81.2% ไม่เปลี่ยนแปลง อีก 17.7% รู้สึกแย่ลง และ 1.1% รู้สึกดีขึ้น

ความรู้สึกต่อสมเด็จฮุนเซน เปลี่ยนแปลงหรือไม่ พบว่า 89.2% ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะยอมรับนโยบาย อีก 7.6% รู้สึกดีขึ้น และ 3.2% แย่ลง ส่วนความรู้สึกต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พบว่า 73.4% ไม่เปลี่ยนแปลง 25.0% แย่ลง และ 1.6% รู้สึกดีขึ้น

ส่วนคำถามท่าทีของรัฐบาลไทย เกี่ยวกับปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา ในปัจจุบัน เหมาะสมหรือไม่ พบว่า 54.7% เห็นว่า ไม่เหมาะสม เพราะรุนแรงเกินไป บางส่วนของผู้ประกอบการเห็นว่า ลูกค้าจะเกิดความหวาดระแวงตามมา ไทย-กัมพูชาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน น่าจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่าแก้ไข อีก 40.3% เห็นว่าเหมาะสม และ 5.0% เห็นว่าท่าทีรัฐบาลไทย เบาเกินไป
 นายประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กำลังโหลดความคิดเห็น