xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกคนข่าว..เพื่อพ่อของแผ่นดิน กษัตริย์นักกีฬาไทย-ผู้สร้างพัทยา.!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องโดย สุรัตน์ บัณฑิตย์
1ธันวาคม 2552/ศูนย์ข่าวศรีราชา


กษัตริย์นักกีฬาไทย.....แชมเปี้ยนนักกีฬาไทย และแชมเปี้ยนเหรียญทองเรือใบซีเกมส์ครั้งที่ 4 ประเภทโอเค .. พ่อของแผ่นดินซึ่งประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดิน เทิดทูนจงรักภักดียิ่งชีวิต พร้อมยอมพลีชีวิต...หากใครมาทำร้าย ทำลายสถาบันสูงสุดนี้..

ครานั้น...ประชาชนร่วมหมื่นร้อง “ไชโย!”ก้องหาดพัทยา เมื่อในหลวงกับเจ้าฟ้าหญิงทรงทำคะแนนเท่ากัน

“เหรียญทอง” ทั้ง2พระองค์!

นี่คือพาดหัวข่าว...นสพ.เดลินิวส์ ยุคสี่พระยา ฉบับพิเศษ...เมื่อปี 2510 ซึ่งผู้เขียนเรื่องนี้กับบางภาพที่ฉายไว้ ได้เป็นหนึ่งในผู้ทำข่าวร่วมกับเพื่อนทีมข่าวกีฬาซีเกมส์ ซึ่งได้สร้างความปิติยินดี...ให้กับประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดิน...ที่รอฟังข่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว..“ในหลวง”และพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ซึ่งทรงเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองหรือซีเกมส์ครั้งที่ 4 ณ สนามแข่งขันเรือใบ อ่าวพัทยา อำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี ในฐานะนักกีฬาเรือใบ ประเภท โอเค ของประเทศไทย โดยมีบรรดานักนักกีฬาทั้งหลายซึ่งแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ รวมไปถึง กีฬาแล่นใบ..เรือใบต่างชาติ อย่างใจจดใจจ่อต่อผลการแข่งขัน

เมื่อผลการแข่งขัน เล่นเรือใบหน้าอ่าวพัทยา 3วัน เริ่มตั้งแต่วันที่11,12,13 ธันวาคมปี 2510 วันละ 2 เที่ยว ปรากฏออกมาว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ ทรงครองเหรียญทอง ทั้ง 2พระองค์ ได้สร้างความปิติยินดีแก่ประชาชนคนไทยตามที่ปรากฏเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง.....

ณ ห้วงเวลานั้น ประชาชนชาวไทยรวมทั้งชาวต่างชาติ นับหมื่นคน รวมไปถึงนักกีฬาแหลมทองที่เสร็จสิ้นการแข่งกันแล้วต่างพากันมาเชียร์เพื่อนร่วมชาติและมาท่องเที่ยวที่ชายหาดอ่าวพัทยา รวมไปถึงบรรดาทูตานุทูตจากประเทศที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน

...พลันที่เรือใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเรือใบของเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ฯ แล่นเข้าสู่ชายหาด บรรดาชาวต่างชาติ –พสกนิกรไทย ที่ยืนออกันแน่น ณ ริมชายหาดพัทยา บริเวณอ่าววงเดือน สโมสรเรือใบพัทยา ก็พร้อมใจกันส่งเสียงถวายพระพรชัยดังกระหึ่มก้องชายหาดพัทยาอยู่เป็นระยะๆ...

ระหว่างที่รอคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ซึ่งมีผู้แทนจากสหพันธ์เรือใบนานาชาติและผู้แทนชาติที่เข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งมาเลเซีย พม่า ซี่งมีตัวแทนไทยเป็นประธานที่ประชุมพิจารณาผลการแข่งขัน

ครานั้น ...กระแสลมแรงประมาณ 14-15 น็อตต่อชั่วโมง ประกอบกับลมชายฝั่งพัดพาเข้าสู่ชายหาดพัทยาจนหนาวยะเยือก ในเดือนธันวาคม 2510 นั้น มิได้ทำให้พสกนิกรไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หวั่นไหวไปกับกระแสลมหนาวนั้นทั้งสิ้น

วันนั้น .... มีแต่เสียงร้องแสดงความยินดีปรีดา ก้องหาดพัทยา จากประชาชนชาวไทย เมื่อทราบผลตัดสินที่ประกาศออกมา ราวครึ่งชั่วโมงต่อมา...ว่า

“ เหรียญทอง”ทั้ง 2พระองค์..

การแข่งขันเรือใบครั้งนั้น คณะกรรมการใช้เวลาประชุมอยู่เป็นเวลาราวครึ่งชั่วโมง จึงตัดสิน ผลชนะอันดับที่ 1คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์(มีคะแนนลบ 6 เท่ากัน) ที่ 2 เหรียญเงินได้แก่ นายลาซารี แห่งประเทศมาเลเซีย ที่ 3 ได้แก่นายยันขิ่น แห่งประเทศพม่า…

ทั้งนี้ตลอดทุกวันที่มีการแข่งขันเริ่มแต่วันที่ 11ธันวาคม ,12ธันวาคมปี2510และวันที่ 3 คือ13 ธันวาคม 2510 นั้น มีประชาชนชาวไทยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศไปเฝ้าชมการแข่งขันกว่า 5,000 - 6,000คน แทบทุกวัน…เพื่อเฝ้าชมพระบารมี

สำหรับวันที่ 13 ธันวาคม2510 ซึ่งเป็นวันตัดสินผลแพ้ชนะนั้นมีประชาชาชนนับหมื่นคน มารอเฝ้าผลการแข่งขันกันอย่างใจจดใจจ่อ..

ผู้เขียนพร้อมด้วยช่างภาพ คือ นายสุรินทร์ พนมเชิง และนายทวีโฉมเฉลา ผู้สื่อข่าวกีฬาอีกคนหนึ่ง ที่อยู่ในทีมข่าวกีฬาพิเศษเฉพาะกิจซีเกมส์หรือกีฬาแหลมทองครั้งนั้น...และมีพ.ต.ท.วันชัย วิสุทธินันท์ อยู่ในทีมข่าวนั้นด้วย ได้ปักหลักอยู่ที่พัทยารายงานข่าวการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค เป็นการเฉพาะ...

ทีมข่าวเฉพาะกิจทีมนี้ ได้ส่งข่าวผลการแข่งขันแต่ละวัน ผ่าน...นายพินิจ พงษ์สวัสดิ์และบรรณาธิการข่าวกีฬาโดยตรงคือนายขจร พราวศรี...ซึ่งเป็นบรรณาธิการข่าวกีฬา..และส่งข่าวผ่านไปกับทีมข่าวเฉพาะกิจกีฬาแหลมทอง

ภาพประทับใจระหว่างการแข่งขันกีฬาเรือใบครั้งนั้น เป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... ซึ่งทรงเรือใบอยู่จำนวนมากด้วยกัน

ที่...นายสุรินทร์ พนมเชิง ช่างภาพฝีมือดีของ เดลินิวส์ สมัยนั้น รวมทั้งที่ผู้เขียนถ่ายภาพเอาไว้....ได้ถูกนำไปตีพิมพ์ใน นสพ.ดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อย ล้วนเป็นภาพทึ่ล้วนตรึงตราตรึงใจมิรู้ลืม...

เพราะเหตุการณ์วันนั้น.. พัทยา..ได้เปลี่ยนจากหมู่บ้านประมงทะเลเล็กๆ เป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อก้องโลก...ในเวลาต่อมา...

พัทยา แม้เริ่มเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเมืองชายหาดสวย ทรายสะอาด น้ำทะเลไสสีคราม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เริ่มจะตั้งไข่ช่วงปี 2507จนถึงปี2509 แต่มาโด่งดังเอาปี 2510...ปีที่มีการแข่งขันเรือใบ ซีเกมส์หรือกีฬาแหลมทองนี่แหละ...

นั่นเนื่องเพราะ ข่าวสารทั้งหลาย ระหว่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร่วมแข่งขัน และพระราชทานสัมภาษณ์พิเศษ ณ พระตำหนักพัทยาใต้ ได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ...

และ...นี่เองจึงกลายเป็นที่มาของคำว่า SEA- SAND –SUN ในเวลาต่อๆมา... เพราะ... พัทยา พัทยา..อ่าวพัทยา...ถูกใช้เป็นสนามแข่งขันเรือใบกีฬาประเภทโอเค.ในกีฬาแหลมทอง....มาแล้ว...

และ“ในหลวง” พ่อของแผ่นดิน -ของประชาชนคนไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กษัตริย์นักกีฬาไทยและพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ..ทรงได้รับเหรียญทอง ทั้ง 2 พระองค์..

ต่อมา ผู้เขียนพร้อมด้วยเพื่อนผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศทุกสำนัก ...ได้รับพระราชทานให้เข้าเฝ้า..เป็นการส่วนพระองค์...

ในวันนั้น..ผู้สื่อข่าวทุกคนพร้อมช่างภาพ... ได้รับพระเมตตา ได้รับพระราชทานเลี้ยง...เป็นการส่วนพระองค์...

และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาให้สัมภาษณ์ ณ พระตำหนักพัทยาใต้ ทรงตรัสถึงการแข่งขันกีฬาเรือใบประเภทโอเค. เป็นการให้สัมภาษณ์พร้อมกัน...ซึ่งมีนักข่าวจากสื่อฉบับต่างๆรวมทั้งทีวี.ที่มาทำข่าวประมาณ 13 คนด้วยกัน (ตามภาพถ่ายหมู่ที่ช่างภาพสำนักพระราชวังถ่ายไว้ให้ พร้อมทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ) ..ซึ่งในจำนวน 13คนนั้นมีสุภาพสตรี 1 ท่านคือนางสาว จิรภา อ่อนเรือง.

ที่จริงแล้ว ก่อนการแข่งขันเรือใบซีเกมส์จะเริ่มขึ้น.... ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเข้าร่วมการแข่งขัน ในฐานะนักกีฬาเรือใบในนามประเทศไทยนั้น..

เมื่อ 19 เมษายน2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรือใบประเภทโอเค ยาว13 ฟุต ชื่อ VEGA หรือ “เวคา” ออกจากทะเลหน้าพระราชวังไกลกังวล อ่าวหัวหินแล่นใบข้ามอ่าวมายังฐานทัพเรือสัตหีบ เสด็จขึ้นฝั่ง ณ ชายหาดอ่าวเตยงามรวมระยะทางกว่า 60 ไมล์ทะเล ประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลากว่า17 ชั่วโมง ที่พระองค์ท่านทรงแล่นเรือใบ ฝ่าคลื่นลมของทะเลอ่าวไทย ท่ามกลางสภาวะอากาศแปรปรวน มีทั้งฝน มีทั้งกระแสลมที่แรงระหว่างที่ทรงแล่นใบข้าวอ่าวมุ่งมายังฐานทัพเรือสัตหีบ...

ที่สุด...เมื่อเรือใบพระที่นั่งที่ทรงแล่นใบข้ามอ่าวไทยจากอ่าวหัวหินมาขึ้นฝั่ง ณ ชายหาดอ่าวเตยงาม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ก็เป็นเวลาใกล้พลบค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์จากชุดนักกีฬาแล่นใบ เป็นชุดจอมทัพไทยและ เสด็จขึ้นจากเรือใบโอเค พร้อมทรงปักธง “ราชนาวิกโยธิน” ที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วย ซึ่งทรงปักธงเหนือยอดก้อนหินที่ชายหาดของอ่าวเตยงาม ท่ามกลาง ดนตรีบรรเลงเพลงมาร์ช “ราชนาวิกโยธิน”…

สำหรับข่าวภาพชิ้นนี้เป็นฝีมือของช่างภาพฝีมือเยี่ยม“เดลินิวส์” อีกคนหนึ่งในนั้น คือ นายสุคนธ์ ชัยอารีย์

ทั้งนี้ ...ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำเนินมาแข่งขันเรือใบ ทรงซ้อมเรือใบ ซึ่งทรงต่อเรือออกมาใหม่ๆและนำมาทดสอบที่จังหวัดชลบุรี ไม่ว่าจะเป็นที่อ่างเก็บน้ำบางพระ อ.ศรีราชา หรือที่อ่าวพัทยา ณ วารูน่าคลับหรือสโมสรเรือใบราชวรุณ หรือที่อ่าวดงตาลสัตหีบ จ.ชลบุรี

ผู้เขียนได้ติดตามทำข่าวและถ่ายภาพด้วยตัวเองมาเป็นลำดับ…ทำให้มีภาพตราตรึงไม่รู้เลือนว่า “ในหลวง”ทรงเป็นกษัตริย์นักกีฬาไทย ทรงพระขันติ สงบนิ่ง ท่ามกลางแสงแดดที่แผดจัดร้อนอบอ้าวในท้องทะเล

ท่ามกลางกระแสลมที่พัดผันผวน ผู้เขียนที่ได้ติดตามทำข่าวของพระองค์ท่าน พบว่า ก่อนจะทรงลงเรือใบ ไปสู่สนามการแข่งขันนั้น พระองค์จะมีวิทยุทรานซิสเตอร์ใช้ถ่านไฟฉายวิทยุ(ยี่ห้อธานินทร์)ที่ทรงนำลงไปฟังในเรือของพระองค์ ระหว่างการแล่นใบด้วย

แล้วอีกปีหนึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแล่นเรือใบข้ามอ่าวทะเลพัทยาไปสู่พระราชวังไกลกังวลหัวหิน เป็นเรือใบข้ามอ่าวไทยจากตะวันออกสู่ภาคใต้..เป็นการบุกเบิกเส้นทางลัด

ซึ่งผู้เขียน ได้ลงเรือตำรวจน้ำพร้อมด้วยผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่ง ติดตามการทรงเรือใบข้าวอ่าวด้วยใจจดใจจ่อ ระหว่างเรือตำรวจน้ำลอยลำตามเสด็จการทรงเรือใบ

วันนั้น เรือใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแล่นใบถึงทะเลหน้าอ่าวพระราชวังไกลกังวลหัวหิน ก่อนค่ำ เพราะลมดี แม้อากาศจะเป็นใจแต่ก็ร้อนอบอ้าวเหลือเกิน ...

นักข่าวทุกคนที่ติดตามทำข่าวเสด็จทรงเรือใบข้ามอ่าวจากพัทยาไปหัวหินก็เสร็จภารกิจ

ผู้เขียนนำข่าวภาพกลับมาจากหัวหินและลงเรือตำรวจน้ำ..มาลอยเท้งเต้งอยู่ใกล้เกาะสีชัง เพราะเรือเข็มทิศเสียต้องเที่ยวตระเวนถามไถ่เรือประมงที่จับปลาในน่านน้ำอยู่หลายลำจึงล่องเข้ามายังกองบังคับการตำรวจน้ำได้..

ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้ติดตาม ข่าวการแข่งขันเรือใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข่าวที่พระองค์ท่านทรงต่อเรือใบรุ่นต่างๆออกมานั้น..ผู้เขียนได้เข้าเฝ้าสัมภาษณ์พระองค์ท่านถึง 2ครั้งด้วยกัน ด้วยความปราณีของ มจ.ภีศเดช รัชนี เป็นสำคัญ...

โดยครั้งแรกเป็นการสัมภาษณ์หมู่ซึ่งมีนักข่าวข่าวช่างภาพรวม 13คนที่พระตำหนักพัทยาใต้ ส่วนครั้งล่าสุดเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในครั้งต่อมา..

ปี 2512 ..พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯทรงเข้าร่วมการแข่งขัน นักกีฬาแล่นใบ จากสโมสรเรือใบต่างๆของประเทศไทย ณ ทะเลหน้าพระราชวังไกลกังวล อ่าวหัวหิน ผลการแข่งขันปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชนะเลิศ กีฬาเรือใบประเภทโอเค อีกครั้ง เป็นแชมเปี้ยนประจำปี

ครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ทรงเป็นผู้มอบรางวัล...

และเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทับอยู่ชายหาดหน้าพระราชวังไกลกังวล ในชุดกีฬาแข่งขันเรือใบ หลังรับรางวัล พร้อมถือถ้วยรางวัลอยู่…

ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวได้ติดตามถ่ายภาพอยู่ห่างๆ จนกระทั่ง มจ.ภีศเดช รัชนี ท่านทรงปราณีผู้เขียน เพราะทางหนังสือพิมพ์อยากจะทราบว่า พระองค์ -พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านจะเสด็จฯไปป้องกันแชมป์(นักกีฬาแหลมทอง เหรียญทอง) ที่จะมีการแข่งขันครั้งหน้าหรือไม่ ในฐานะ แชมเปี้ยนเหรียญทองกีฬาซีเกมส์

จึง...ได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งชนะการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค.สำหรับการแข่งขันที่สนามเรือใบอ่าวหัวหินหน้าพระราชวังไกลกังวล...

พลันที่ มจ.ภีศเดช รัชนี กราบบังคมทูลว่า....

“ผู้สื่อข่าวจะขอสัมภาษณ์...”

ผู้เขียนใจหายวาบ เรียกสติแทบไม่ทัน ตัวสั่นเทา...ท่ามกลางลมชายฝั่งพัดเข้าสู่ชายหาดหน้าพระราชวังไกลกังวล ผู้เขียนอยู่ในชุดเสื้อวอร์มของ นสพ.เดลินิวส์ สีบานเย็น..

เมื่อเหลียวมองช่างภาพคู่ใจ นายสุรินทร์ พนมเชิง ก็อยู่ห่างออกไปไกลราว 40 เมตร ขณะนั้นไม่มีนักข่าว-ผู้สื่อข่าวสำนักไหน คนไหนยืนอยู่บริเวณนั้น เพราะทุกคนต่างพากันตีรถออกจากพระราชวังไกลกังวล เพื่อวิ่งเข้าตัวหัวหิน ไปฝากฟิล์มข่าวและส่งข่าว ที่สำนักงานโทรศัพท์ ในตัวเมืองหัวหิน...

“จะถามอะไรฉัน...”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำเนินเข้ามาใกล้และทรงตรัสถาม...

ผู้เขียนทรุดตัวลงก้มลงกราบแทบพระบาท ที่พื้นทรายชายหาดหน้าพระราชวังไกลกังวล ขณะนั้นน้ำทะเลเริ่มขึ้นเล็กน้อยแล้ว...โดยมี มจ.ภีศเดช รัชนี อยู่ไม่ห่างไกลนัก

“ข้าพระพุทธเจ้าขอถามว่า พระองค์ท่านจะเสด็จฯไปป้องกันแชมป์ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งหน้าหรือไม่..”

“แล้วแต่กรรมการ...”

นั่นก็คือประโยคที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัส...

และอีกหลายประโยคที่ได้สัมภาษณ์พระองค์ท่าน ณ ชายหาดทราย หน้าพระราชวังไกลกังวล

วันนั้นปีนั้น ครั้งนั้น นับเป็นความทรงจำที่ไม่เคยลบออกไปจากความทรงจำไม่รู้ลืมเลือน กระทั่งวันนี้ เหตุการณ์ผ่านมา 40ปีกว่าแล้ว..

“เดลินิวส์” พาดหัวข่าวหน้ากีฬาเรื่องนี้ในวันรุ่งขึ้น

จากวันนั้น หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานสัมภาษณ์แล้วพอตกเย็น...ก่อนใกล้ค่ำ มีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกมาผ่านทางข้าราชบริพาร..ณ วันนั้น..

“ผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าว..ใครพาแฟนมา ใครพาภรรยามา วันนี้ฉันเลี้ยง...ให้พามาทานอาหารที่ตำหนักพระราชวังไกลกังวล...ค่ำคืนวันนี้...”..

แน่นอน สำหรับปีนั้น...ไม่มีใครในหมู่นักข่าวช่างภาพและข้าราชบริพารจะ ลืมได้ลง...

สำหรับนักข่าว ช่างภาพที่ติดตามทำข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกีฬาเรือใบ...ทรงได้ชัยชนะทุกครั้ง..เรือใบทรงล่มแต่ทรงกู้ในเวลาที่กำหนด

และเช่นเดียวกัน หลายสิบปีที่ผ่านมา คนไทยทุกครอบครัว ต่างก็รอพระกระแสพระราชดำรัส...ทุกวันที่ 4 ธันวาคม...ก่อนจะถึงวันที่ 5 ธันวาคม...ว่า..พ่อของเราของแผ่นดินพูดว่าอย่างไร

ทุกคนรออยู่ว่า....พ่อของเรา พ่อของแผ่นดินกับแม่ของแผ่นดินของประชาชนชาวไทย จะพูดอะไรในปีนี้...

ซึ่ง ปีนี้....พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อของแผ่นดินของประชาชนชาวไทยทั้งชาติ ...ทรงพระเจริญพระชนม์มายุ 82 พรรษา..

ก่อนหน้านั้นทุกๆปี...พระองค์ท่านพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถฯ ทรงเสด็จ ณ ถิ่นกันดารทั่วไทย ไม่เว้น แม้แต่ไปเยี่ยมชาวไทยภูเขาและหรือที่ซึ่งมีอันตรายที่ภาคใต้ ทั้งทรงพระราชกรณียกิจในหลายเรื่องที่ทำให้ประชาชนชาวไทย ลืมตาอ้าปากได้ โดยไม่ต้องเป็นหนี้ผู้ใด...

“ในหลวง-ราชินี” ต่างทรงเหนื่อยยากลำบากพระวรกาย ทรงทำทุกอย่างให้ประชาชนคนไทยกินดีอยู่ดี....

ปีนี้ครบ 82 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...

ในฐานะที่พระองค์ท่าน คือกษัตริย์นักกีฬาไทย ที่ทั่วโลกต่างพากันยกย่อง..

นี่...เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเขียนที่ได้ติดตามข่าวมาตั้งแต่ปี2509 จนบัดนี้ก็ย่างเข้า43 ปี...(ปี 2552..ย่างเข้า 43 ปีเต็มๆ)

และ เป็นบันทึกของประวัติศาสตร์ของเมืองพัทยา เมืองท่องเที่ยวทำรายได้เป็นปีละหลายหมื่นล้านบาท...ขณะนี้

พัทยา เป็นพัทยา ได้ทุกวันนี้ เพราะ “ในหลวง”โดยแท้

เพราะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและภาพของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯและภาพของนักกีฬาแข่งเรือใบต่างชาติ ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองแพร่ไปทั่วโลก...

พัทยา...พัทยา..ชายหาดพัทยา..จึงมีชื่อเสียงมาตราบเท่าทุกวันนี้

และแน่นอนอีกเช่นกันว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศไทย...กว่า60ล้านคน ..ไม่ต้องการให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะหนึ่ง มาทำการออกข่าวทำร้าย และทำลายสถาบันฯอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเขา..

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะฯ
ข้าพระพุทธเจ้าฯ
นายสุรัตน์ บัณฑิตย์
อดีตผู้สื่อข่าวเดลินิวส์(ปี2510) ปัจจุบัน เป็นผู้สื่อข่าวภูมิภาค นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการ






กำลังโหลดความคิดเห็น