xs
xsm
sm
md
lg

หอฯไทยผุดแผนเศรษฐกิจ ฉ.เอกชน 7 สาขา - ชง “มาร์ค” สัปดาห์หน้า-“สุรินทร์” แนะชิงตลาดอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดาผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ถ่ายภาพร่วมกับนายดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทย ,ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน , นายอมรพันธ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หลังรับมอบรางวัลสำเภาทอง ในฐานะที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – หอฯไทยระดมคีย์แมนภาคธุรกิจทั่วประเทศวางผังพัฒนาเศรษฐกิจนำร่อง 7 สาขาหลักเสนอ “มาร์ค” สัปดาห์หน้า ใช้เป็นเข็มทิศประเทศไทย หลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ เริ่มไร้ทิศทางและความต่อเนื่อง “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ปลุกธุรกิจไทยใช้ศักยภาพ “ไข่แดงอาเซียน” รุกชิงแชร์ผู้บริโภค 580 ล้านคน ใน 10 ชาติอาเซียน แทนมุ่งขายในประเทศอย่างเดียว


การเปิดประชุมสัมมนาหอการค้าไทย ครั้งที่ 27 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ วันนี้ (28 พ.ย.) ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่น เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดง-รักเชียงใหม่ 51 ยังคงปักหลักรอดูว่าจะมีรัฐมนตรีเดินทางมาร่วมประชุมด้วยหรือไม่ พร้อมกับเคลื่อนไหวเดินขบวนอยู่ในพื้นที่ไม่ห่างจากสถานที่ประชุมเท่าใดนักในช่วงบ่ายวันเดียวกัน และ พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บังคับการตำรวจภูธรเชียงใหม่เองก็ยอมรับว่า ต้องประเมินกันวันต่อวัน แม้ว่าแกนนำ นปช.จะเดินทางออกจากเชียงใหม่แล้วก็ตาม

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าไทย ได้กล่าวบรรยายถึงทิศทางและเป้าหมายของหอการค้าไทย ต่อตัวแทนหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดอีกหลายจังหวัด ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมกว่า 500 คน ว่า สังคมโลกนับจากนี้จะอยู่คู่กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้าน การยึดติดอยู่กับความคิดเดิมๆ มุมมองเดิมๆ และวิธีการปฏิบัติในแบบเดิมๆ ย่อมทำให้เราก้าวไม่ทันโลก เสมือนหนึ่งเรากำลังก้าวถอยหลัง โลกวันนี้ต่างจาก 10 ปีที่แล้ว และอีก 10 ปีต่อจากนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้แน่ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่พวกเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในด้านการทำธุรกิจ การค้าและการบริการ มีการรวมตัวกันของหลายประเทศ เช่น การรวมตัวของกลุ่มอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA สหภาพยุโรป หรือ EU มีการกำหนดข้อตกลงด้านการค้าเสรีหรือ FTA ขึ้นในหลายประเทศ และในภูมิภาคนี้จะเกิดการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า AEC ในปี 2558 คือ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ดังนั้น หากธุรกิจไทยต้องการประสบความสำเร็จ ก็จะมุ่งทำธุรกิจเฉพาะตลาดคนไทย 60 กว่าล้านคนต่อไปอีกไม่ได้ ต้องคิดไกลไปถึงว่า จะทำอย่างไรจึงจะตอบสนองประชากรอาเซียนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายกฎกติกา หลากหลายวัฒนธรรมกว่า 580 ล้านคนแทน ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ไท มีบทบาทสำคัญที่เป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ ศูนย์กลางด้านคมนาคม การบริการ การท่องเที่ยว แต่ถ้าหากเรายังคิด และทำแบบเดิมๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมเดิม ไม่ตื่นตัว ไม่เตรียมตัว ไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง ก็จะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจจากต่างประเทศที่เหนือกว่าได้ และสุดท้ายอาจถึงขั้นต้องปิดตัวลง

นายดุสิต บอกว่า ที่จริงแล้วประเทศไทยนอกจากจะมีภูมิศาสตร์ที่เหนือกว่าแล้ว ยังมีเครือข่ายองค์กรภาคเอกชนที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะหอการค้าที่มีมากทั้งหอการค้าไทย, หอการค้าจังหวัด, หอการค้าต่างประเทศ, มหาวิทยาลัยของหอการค้า และมีสมาคมที่ทำงานอย่างเข้มแข็งมาตลอดอีกกว่า 100 สมาคม เรามีหอการค้าต่างประเทศที่มีประสบการณ์สูงอีก 20 กว่าแห่ง ซึ่งสามารถผนึกกำลังกันเพื่อความต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายดุสิต ระบุว่า ที่ผ่านมา ไทยมีปัญหาในการพัฒนาประเทศอยู่ คือ แผนพัฒนาประเทศไม่สอดคล้องกับศักยภาพที่แท้จริง, การนำแผนไปสู่การปฏิบัติไม่เกิดการบุรณาการ, ขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติตามแผน ดูจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 10 ฉบับที่ผ่านมาระยะ 50 ปีมานี้ ช่วง 6-7 ฉบับแรกถือว่าสามารถทำให้ไทยพัฒนาได้อย่างเข้มแข็ง แต่ 2-3 ฉบับหลังนี้ กลับขาดความต่อเนื่อง ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง

เนื่องจากการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย รัฐบาลหนึ่งเป็นผู้เขียนแผน เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็จะถูกรื้อใหม่ ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง แต่เป็นไปตามความต้องการของนักการเมืองไทย ดังนั้นหอการค้าไทย จึงมีนโยบายที่จะจัดแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับเอกชนขึ้นมา เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำแผนชาติต่อไป

โดยเบื้องต้นในการประชุมหอการค้าไทยครั้งที่ 27 นี้จะนำร่างแผนเศรษฐกิจที่หอการค้าไทย ได้รวบรวมและจัดทำมาตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา และความคิดความเห็นที่ได้จากเวทีสัมมนาครั้งนี้ มาประมวลสรุปนำร่องใน 7 สาขา คือ ด้านการเกษตร ประมง อาหาร บริการสุขภาพ การค้าชายแดน อัญมณี-เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ ก่อนที่จะนำเสนอต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า

“ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ หอการค้าไทยจะทำแผนพัฒนาธุรกิจ โดยบ่งชี้หน้าที่ของภาคเอกชน และหน้าที่ของภาครัฐเพิ่มเติมในสาขาอื่นๆ จนครบ เพื่อเสนอให้รัฐบาลนำไปใช้ เชื่อว่าด้วยศักยภาพของภาคเอกชนทั้งประเทศ จะสามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศได้อย่างครอบคลุม รัฐบาลต่อๆ ไปสามารถนำไปใช้ได้เลย”

อีกประเด็นหนึ่งที่หอการค้าไทย ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการก็คือ ผลักดันแผนพัฒนา Logistics ที่ปัจจุบันนี้ถือเป็นต้นทุนสินค้าในสัดส่วนที่สูงถึง 19% ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในตลาดโลกลดลง

เลขาฯ อาเซียนปลุกธุรกิจไทยบุกเพื่อนบ้าน

ขณะที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง AEC:โอกาสทองทางเศรษฐกิจของไทย ว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีผู้บริโภครวมกัน 10 ประเทศ 580 กว่าล้านคน กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าขณะนี้มีประเทศนอกอาเซียน เข้ามาทำงานร่วมกันที่จาการ์ตา มากถึง 30 ประเทศ เพื่อผลักดันให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้นให้ได้ภายในปี ค.ศ.2015 โดยเฉพาะ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ยืนยันชัดเจนเมื่อ 15 พ.ย.2552 ที่ผ่านมาว่า อเมริกาจะมาตั้งสำนักงานทำงานร่วมกับอาเซียน ขณะที่อีก 29 ประเทศก็ตั้งทูตอาเซียนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

แนะธุรกิจไทยมองทั้งตลาดอาเซียน

ดร.สุรินทร์ บอกอีกว่า นอกจากนี้ ในปี 2008 อาเซียน 10 ประเทศ ที่มีประชากร 580 กว่าล้านคน มีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถ้าคิดเป็นสัดส่วนแล้วมากกว่าการลงทุนในสาธารณรัีฐประชาชนจีน และอินเดีย ที่แต่ละประเทศมีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน แต่น่าเสียดายที่ในจำนวน 6 หมื่นล้านเหรียญ นั้น เป็นทุนของอาเซียนด้วยกันเองเพียง 1.1 หมื่นล้านเหรียญ เท่านั้น ที่เหลือเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่

จากนี้ไปธุรกิจไทย จะต้องมองตลาดนอกเหนือจาก 60 กว่าล้านคนในประเทศ อย่ามองเฉพาะเชียงใหม่ 2 ล้านกว่าคน อย่ามองเฉพาะสงขลาล้านกว่าคน แต่ต้องดูไปที่ตลาดอาเซียน 580 กว่าล้านคน ที่จะต้องเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ตามพันธกรณีต่างๆ ก่อนที่บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะเข้ามายึดครองทั้งหมดไป

“SMEs อาเซียน ต้องออกไปข้างนอก ต้องข้ามแม่น้ำโขง ต้องข้ามเขตแดน ข้ามสุไหงโก-ลกออกไป ภาคเอกชนต้องกระตุ้นรัฐบาลไทย ให้สนับสนุนแนวทางนี้”

ดร.สุรินทร์ ย้ำว่า ที่จริงแล้ว ไทย เป็นเหมือนไข่แดงของอาเซียน มีพรมแดนติดกับประเทศต่างๆ มากที่สุดในกลุ่มอาเซียน ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้กับภาคธุรกิจในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ขณะปาฐกถาพิเศษเรื่อง AEC:โอกาสทองทางเศรษฐกิจของไทย ในการประชุมสัมมนาหอการค้าไทย ครั้งที่ 27 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันนี้(28 พ.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น