สสว. เด้งรับแนวนโยบายรัฐบาล ผุดโครงการสร้างเครือข่าย SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ลุยระดมความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศเพื่อหาแนวทางการพัฒนาและสร้างความพร้อมก่อนลุยตลาดอาเซียน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจต่อเนื่องของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจสูง รวมทั้งมีความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การออกแบบก่อสร้าง การพัฒนาและเตรียมสถานที่ ผู้ผลิตและผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนผู้ให้เช่าอุปกรณ์เครื่องจักร ส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น งานรับเหมาก่อสร้าง งานติดตั้ง งานตกแต่ง งานไม้ งานซ่อมแซม จนถึงส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ กลุ่มพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โครงการก่อสร้างของภาครัฐ
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมก่อสร้างยังเป็นธุรกิจที่มีพันธกรณีในเวทีการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากอยู่ภายใต้ข้อตกลงขององค์การค้าโลก (WTO) ข้อตกลงอาเซียน (ASEAN) และข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ สสว.จึงได้จัดทำโครงการเสริมสร้างเครือข่าย SMEs Consortium สู่ตลาดอาเซียน (กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจต่อเนื่อง) ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพ ให้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย โดยร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว
“ในระยะแรก สสว.จะดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจต่อเนื่อง การพัฒนาเครือข่าย การพัฒนาผู้ประกอบการ และพัฒนาทักษะของช่างต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทยมีความเข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการกลุ่มกลางน้ำและปลายน้ำไปสู่การแข่งขันในระดับสากล รวมถึงจะสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ (Les) กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อสร้างเครือข่ายกับบริษัทการค้า บริษัทรับออกแบบ และบริษัทก่อสร้างในต่างประเทศ ในระยะต่อไป” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการฯ และรับทราบสภาพปัญหา ความต้องการ และสถานการณ์ของอุตสาหกรรมก่อสร้าง สสว.จึงได้กำหนดให้มีการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจต่อเนื่อง ขึ้น จำนวน 8 ครั้ง โดยครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา สุราษฏร์ธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี และนครราชสีมา ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจต่อเนื่องต่อไป
สำหรับการเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการเสริมสร้างเครือข่าย SMEs Consortium สู่ตลาดอาเซียนฯ ยังมีความสอดรับกับแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างโดยตรง อาทิ โครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) โครงการบำรุงรักษาทางหลวงสายหลัก (กรมทางหลวง) โครงการถนนไร้ฝุ่น (กรมทางหลวงชนบท) โครงการปรับปรุงเพิ่มเติมสถานีขนส่งผู้โดยสารประจำจังหวัดทั่วประเทศ (กรมการขนส่งทางบก) โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานภูมิภาค (กรมการขนส่งทางอากาศ) โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (Mega Project) ต่าง ๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) โครงการปรับปรุงสถานีรถไฟทั่วประเทศ (การรถไฟแห่งประเทศไทย) โครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่มีความปลอดภัยต่อการเดินรถ (การรถไฟแห่งประเทศไทย) เป็นต้น
“โครงการทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ได้มุ่งเน้นการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างงาน การกระจายรายได้ และการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมก่อสร้างนับจากปีนี้เป็นต้นไป จะเกิดภาวะการฟื้นตัว เนื่องจากการขยายตัวของตลาดภายในประเทศตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และการขยายตัวของตลาดใหม่ คือตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
การดำเนินโครงการเสริมสร้างเครือข่าย SMEs Consortium สู่ตลาดอาเซียน สสว.จัดทำขึ้นตามแนวคิดของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย สามารถเข้าถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และต้องได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยภายใต้แนวคิดดังกล่าวยังมีโครงการใหญ่อีก 3 โครงการ ที่ สสว.กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาต้นแบบธุรกิจ SMEs และเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN SME Partnership Roadmap) เพื่อยกระดับคลัสเตอร์หัตถกรรมสู่สากล 2. โครงการยุทธการฝูงห่าน SMEs (SMEs Flying Geese) และ 3. โครงการเงินทุนสนับสนุน SMEs สู่ตลาดอาเซียน (SMEs Capacity Building: Win for ASEAN Market)