สสว. คัดสุดยอด SMEs ทั่วประเทศจาก 500 รายเหลือ 117 ราย กลุ่มอาหารและสมุนไพร ทะลุเข้ารอบสูงสุด ตามด้วยแฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์ เตรียมเสริมแกร่งสร้างแบรนด์ และเสริมโอกาสทางการตลาด ก่อนคัดเหลือสุดยอด SMEs จำนวน 25 ราย เพื่อเป็นหัวหอกเปิดตลาดสู่อาเซียน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ สสว. ได้ร่วมกับเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาตราสินค้าไทยในสาขาเป้าหมาย (Thailand’s Brands to ASEAN) ภายใต้โครงการยุทธการฝูงห่าน (SMEs Flying Geese) ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยการคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านการบ่มเพาะจากศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจทั่วประเทศ นำมาเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตราสินค้า มาตรฐานผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายตลาดสู่อาเซียน
ทั้งนี้ จากผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเบื้องต้น 500 ราย ขณะนี้ได้คัดเลือกจนเหลือ 117 รายให้เป็น Best Practices ระดับภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว โดยพิจารณาจาก 1.การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด เช่น การจัดทำแผนการตลาด การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า การสร้างภาพลักษณ์และตราสินค้า ฯลฯ 2.การจัดการกระบวนการ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ มีระบบการวางแผนและควบคุมการดำเนินงาน มีระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ฯลฯ และ 3.การมีธรรมาภิบาล เช่น ดำเนินธุรกิจด้วยความยุติธรรม สนับสนุนการใช้วัตถุดิบและการจ้างงานในชุมชน มีการป้องการการดำเนินงานที่จะมีผลกระทบกับชุมชน เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการจำนวน 117 รายนี้ พบว่าเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มอาหาร ยาและสมุนไพร มากที่สุดจำนวน 54 ราย รองลงมาคือกลุ่มแฟชั่น เครื่องประดับ จำนวน 28 ราย กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ หัตถกรรมและของตกแต่ง จำนวน 16 ราย กลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จำนวน 12 ราย และกลุ่มสิ่งพิมพ์และพิมพ์สกรีน จำนวน 7 ราย ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบนี้จะเป็นกลุ่มที่รอการพัฒนาศักยภาพในระยะต่อไป
นายยุทธศักดิ์ เผยต่อว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกในรอบนี้ สสว. จะสนับสนุนงบประมาณรายละ 50,000 บาท ให้ศูนย์บ่มเพาะในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ศูนย์ iSMEs ฯลฯ เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพและแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของ SMEs ในแต่ละรายไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานสินค้า บรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ หรือเรื่องเงินทุน จะประสานกับสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยจะใช้เวลาในการพัฒนาศักยภาพในช่วงระหว่างเดือน ต.ค.2552-เม.ย.2553
ทั้งนี้ ในระหว่างการพัฒนาศักยภาพ หากผู้ประกอบการที่สินค้ามีความพร้อมจะออกสู่ตลาด สสว. จะสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อทดลองตลาด โดยร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำสินค้าและบริการของ SMEs ไปบรรจุไว้ใน Mail Order Catalog และ Premium Catalog เพื่อขายผ่านช่องทางของไปรษณีย์ไทย ซึ่งจะเชื่อมโยงสู่ระบบ E-Commerce และการจัดจำหน่ายสู่ตลาดอาเซียนต่อไปในอนาคต รวมทั้งการออกร้านจำหน่ายในงานแสดงสินค้า SMEs เป็นต้น
สำหรับระยะต่อไป จะคัดเลือก SMEs ที่มีศักยภาพให้ 25 Best Practice ระดับประเทศ โดยจะมีการมอบรางวัลต่อไป ซึ่งเชื่อว่า การคัดเลือกดังกล่าว ที่ผลักดันให้ SMEs สาขาเป้าหมาย พัฒนาจนเกิดเป็น Best Practices กลายเป็นต้นแบบและแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในการพัฒนาตนเอง ขณะเดียวกันจะช่วยให้ SMEs ที่เคยดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จและได้รับความนิยม แต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ให้กลับมาได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น SMEs ทั้ง 25 รายจะทำหน้าที่เป็นหัวหอกของ SMEs ไทยในการเปิดตลาดสู่อาเซียนต่อไป